คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2800/2563  

บริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด                  โจทก์

คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน กับพวก             จำเลย

 

ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246

พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 มาตรา 15, 17, 49, 57, 59, 61

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539
มาตรา 39

        พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการตามมาตรา ๔๙ หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการในการขอให้ทบทวนตาม...มาตรา ๕๗ ... มาตรา ๕๙ ให้อุทธรณ์
คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น” เมื่อปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.๑๔ หรือ ล.๘ เป็นคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของจำเลยที่ ๑ ตาม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๙ ส่วนเอกสารหมาย ล.๗ เป็นคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ในการขอให้ทบทวน ตาม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๕๗ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๖ และวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ตามลำดับ ถือว่าโจทก์ทราบคำวินิจฉัยชั้นที่สุดและคำวินิจฉัยดังกล่าวตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ จึงล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของจำเลยที่ ๑ ตามสำเนาประกาศ เอกสารหมาย จ.๑๔ หรือ ล.๘ และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ที่ต่ออายุการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ตามสำเนาประกาศ เอกสารหมาย ล.๗ ปัญหาเรื่อง กำหนดระยะเวลาดังกล่าว มิใช่เรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. หากแต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหา
ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๙ ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๑๔๒ (๕)

         ส่วนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย จ.๘ หรือ ล.๓๗ นั้น ปรากฏที่มุมบน
ขวาบนของเอกสารหมาย จ.๘ ว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยคำขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ จึงเป็น
การฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและ
การอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๑ แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้
เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่คืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้แก่โจทก์ ตามสำเนาหนังสือกรมการค้าต่างประเทศ เอกสารหมาย จ.๘ หรือ ล.๓๗

         พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
ยอมให้มีการคำนวณหามูลค่าปกติโดยใช้ข้อมูลราคาจากประเทศแหล่งกำเนิดได้ตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง (๒) และมาตรา ๑๗ ประกอบกับพยานจำเลยทั้งสามเบิกความประกอบบันทึก
ถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า การขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดไม่สามารถใช้ข้อมูลราคาที่เป็นอยู่ในประเทศผู้ส่งออกเป็นเกณฑ์ในการหามูลค่าปกติตาม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ ได้ เนื่องจากเป็นการคืนให้เฉพาะธุรกรรมที่มีการส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยและไม่มีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดหรือส่วนเหลื่อม
การทุ่มตลาดต่ำกว่าอากรที่ได้ชำระไปแล้ว การหามูลค่าปกติเพื่อนำมาพิสูจน์ส่วนเหลื่อม
การทุ่มตลาด จึงต้องใช้ข้อมูลราคาของยูเครนประกอบการพิจารณา ข้อต่อสู้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่คืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

_____________________________

        โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของจำเลยที่ ๑ ที่ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้
การทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน พิกัดอัตราศุลกากร ประเภทที่ ๗๒๐๘, ๗๒๑๑.๑๓, ๗๒๑๑.๑๔ และ ๗๒๑๑.๑๙ ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี ดินแดนไต้หวัน สาธารณรัฐเวเนซูเอลา สาธารณรัฐอาร์เจนตินา ประเทศยูเครน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐสโลวัก และประเทศโรมาเนีย และเพิกถอนคำวินิจฉัย
ชั้นที่สุดของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่คืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้แก่โจทก์ กรณีที่โจทก์นำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากยูเครน ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท ๗๒๒๖.๙๙.๙๐ ซึ่งอยู่นอกเหนือพิกัดอัตราศุลกากร
ที่ถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด กับขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามคืนอากรตอบโต้
การทุ่มตลาดพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์

         จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้
ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการทำอู่เรือ สร้าง ซ่อมเรือเดินสมุทร เรือกลไฟ และบรรดาเรือทุกชนิด และเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ ๑ จัดตั้งขึ้น
ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๒ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ และมีจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการ จำเลยที่ ๓ เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ
ด้านกฎหมายว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ เมื่อปี ๒๕๔๕ บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ในฐานะอุตสาหกรรมภายใน ยื่นคำขอให้จำเลยที่ ๓ ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วน และไม่เป็นม้วนที่มีแหล่งกำเนิดจากญี่ปุ่น สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี ดินแดนไต้หวัน สาธารณรัฐเวเนซูเอลา สาธารณรัฐอาร์เจนตินา ยูเครน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐสโลวัก และโรมาเนีย (ต่อไปจะเรียกว่า สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีแหล่งกำเนิดจากยูเครน ฯลฯ) จำเลยที่ ๓ จึงออกประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย ตามสำเนาประกาศจำเลยที่ ๓ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ต่อมาจำเลยที่ ๑ มีคำวินิจฉัยเบื้องต้นว่า ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีแหล่งกำเนิดจากยูเครน ฯลฯ ได้ส่งสินค้าเข้ามาทุ่มตลาดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างสำคัญ จึงกำหนดให้ใช้มาตรการชั่วคราวตอบโต้การทุ่มตลาด ตามสำเนาประกาศจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑
มีคำวินิจฉัยชั้นที่สุดว่า มีการทุ่มตลาดและมีความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๙ (๑) และให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีแหล่งกำเนิดจากยูเครน ฯลฯ เป็นระยะเวลา ๕ ปี นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากยูเครน ซึ่งผลิตจาก (ก) IRON & STEEL เก็บในอัตราร้อยละ ๓๐.๔๕ ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. (ข) ผู้ผลิตรายอื่น เก็บในอัตราร้อยละ ๖๗.๖๙ ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. ตามสำเนาประกาศจำเลยที่ ๑ (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๓ ออกประกาศแสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาผลการไต่สวนชั้นที่สุด ตามสำเนาประกาศจำเลยที่ ๓ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ ก่อนครบกำหนดเวลา
การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอให้ทบทวนเพื่อเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไปอีก ๕ ปี จำเลยที่ ๑ วินิจฉัยว่า คำขอดังกล่าวมีมูลเพียงพอที่จะพิจารณาทบทวนความจำเป็นในการต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และเห็นสมควรให้ทบทวนขอบเขตของสินค้าที่อาจเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไป จึงให้จำเลยที่ ๓ เปิดการทบทวนเรื่องดังกล่าว ตามสำเนาประกาศจำเลยที่ ๓ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ มีมติให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีแหล่งกำเนิดจากยูเครน ฯลฯ ต่อไปอีก ๕ ปี นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากยูเครน ซึ่งผลิตจาก (ก) Ilyich Iron เก็บในอัตราร้อยละ ๓๐.๔๕ ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. (ข) ผู้ผลิตรายอื่น เก็บในอัตราร้อยละ ๖๗.๖๙ ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. ตามสำเนาประกาศจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๓
ออกประกาศแสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐาน
ในการพิจารณาทบทวนความจำเป็นในการต่ออายุการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ตามสำเนาประกาศจำเลยที่ ๓ ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๑ มีมติให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีแหล่งกำเนิด
จากยูเครน ฯลฯ ในอัตราร้อยละ ๐ ของราคา ซี.ไอ.เอฟ. กรณีนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อส่งออกภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายว่าด้วยศุลกากร สำหรับใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ และกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างงานเหล็ก ตามสำเนาประกาศจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ เมื่อปี ๒๕๕๒
โจทก์สั่งซื้อสินค้าแผ่นเหล็กสำหรับต่อเรือ (mild steel ship plates - ABS GR A) พิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๒๒๖.๙๙.๙๐ รวม ๔ รายการ จากบริษัทเอเซีย เอ็นเตอร์ไพร์ จำกัด สาธารณรัฐสิงคโปร์ และนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามสำเนาใบขนสินค้าขาเข้า พร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำเนา Commercial Invoice และอื่น ๆ ต่อมากรมศุลกากรแจ้งว่าโจทก์ชำระค่าภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ๓ รายการ เนื่องจากเป็นสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีแหล่งกำเนิดจากยูเครน ฯลฯ ที่ต้องเสียอากรตอบโต้การทุ่มตลาด โดยโจทก์ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ๓๑,๔๐๕ บาท และภาษีอากรซึ่งเป็นอากรตอบโต้การทุ่มตลาด ๔๔๘,๖๐๕ บาท ตามสำเนาแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๓ ก่อนหน้านี้ กรมศุลกากรเคยแจ้งให้โจทก์จัดทำใบขนสินค้าเพื่อชำระค่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาด เนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่จะต้องชำระค่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดมาแล้วหลายครั้ง ตามหนังสือฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ ๑ ที่ กค ๐๕๐๔(๓.๑)/๔๖๘ ลงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ และอื่น ๆ รวม ๑๑ ฉบับ โจทก์ชำระค่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาด ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินเพิ่มค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวม ๕๐๔,๙๗๖.๗๑ บาท
ตามสำเนาใบเสร็จรับเงิน ต่อมาโจทก์นำส่งแบบคำขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต่อจำเลยที่ ๒
เพื่อขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาด ตามสำเนาหนังสือโจทก์ ที่ กห ๕๗๐๐/๕๖ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๓ แจ้งโจทก์ว่า การยื่นแบบคำขอและเอกสารประกอบคำขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาด
ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๙ จำเป็นต้องมีหลักฐานข้อมูลที่แสดงว่า ไม่มีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด หรือส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดลดลงต่ำกว่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่ใช้บังคับซึ่งกรณีนี้หมายถึง (๑) ข้อมูลรายการขายภายในยูเครนของบริษัทผู้ส่งออก (Sales on domestic market - Transaction) (๒) ข้อมูลรายการ
ขายส่งออกมายังราชอาณาจักรไทย ซึ่งทอนเป็นระดับราคาขาย ณ หน้าโรงงานประเทศผู้ส่งออก (Export to Thailand - Transaction) (๓) ข้อมูลแสดงการคำนวณการเปลี่ยนแปลงของส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด (Dumping margin) และให้โจทก์ส่งข้อมูลและหลักฐานประกอบคำขอภายในวันที่
๓๐ เมษายน ๒๕๕๗ ตามสำเนาหนังสือจำเลยที่ ๓ ที่ พณ ๐๓๑๐/๓๖๗ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ โจทก์ขอขยายระยะเวลาการจัดส่งเอกสารประกอบคำขอหลายครั้ง ตามสำเนาหนังสือโจทก์
ที่ กห ๕๗๐๐/๒๐๙ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗, ที่ กห ๕๗๐๐/๓๕๑ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗, ที่ กห ๕๗๐๐/๔๗๑ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗ และที่ กห ๕๗๐๐/๖๑๙ ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ต่อมาโจทก์แจ้งจำเลยที่ ๓ ว่า สถานการณ์ในยูเครนยังไม่มีความปลอดภัย และขอให้จำเลยที่ ๓
ใช้วิธีการและกลไกของกระทรวงพาณิชย์ในการขอราคาเทียบเคียงอันจะเป็นผลเพื่อนำมาบรรเทาอัตราภาษีที่เรียกเก็บ ตามสำเนาหนังสือโจทก์ ที่ กห ๕๗๐๐/๑๘๘ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๘ ต่อมา
เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ จำเลยที่ ๑ มีมติว่า คำขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดของโจทก์
ไม่มีข้อมูลและหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๙ ได้ว่า ไม่มีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด หรือส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดลดลงต่ำกว่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่ใช้บังคับ จึงเห็นสมควรไม่คืนอากร ตามสำเนาระเบียบวาระการประชุมจำเลยที่ ๑ ครั้งที่ ๔/๒๕๕๘ จำเลยที่ ๓ แจ้งมติดังกล่าวให้โจทก์ทราบ
และแจ้งด้วยว่าหากโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยดังกล่าว ให้อุทธรณ์ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง ตามสำเนาหนังสือจำเลยที่ ๓ ที่ พณ ๐๓๐๙/๒๑๐๘ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘

         มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่
เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการ
ตามมาตรา ๔๙ หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการในการขอให้ทบทวนตาม...มาตรา ๕๗ ... มาตรา ๕๙ ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น” เมื่อปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.๑๔ หรือ ล.๘ เป็นคำวินิจฉัยชั้นที่สุด
ของจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๙ ส่วนเอกสารหมาย ล.๗ เป็นคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ในการขอให้ทบทวน ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๗ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๖ และวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ตามลำดับ ถือว่าโจทก์ทราบคำวินิจฉัยชั้นที่สุดและคำวินิจฉัยดังกล่าวตั้งแต่วันที่ประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ จึงล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของจำเลยที่ ๑ ตามสำเนาประกาศจำเลยที่ ๑ (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖ และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ที่ต่ออายุการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ตามสำเนาประกาศจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ปัญหาเรื่องกำหนดระยะเวลาดังกล่าว มิใช่เรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากแต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความ
ฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๙ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๑๔๒ (๕) ส่วนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย จ.๘ หรือ ล.๓๗ นั้น ปรากฏที่มุมบนขวาบนของเอกสารหมาย จ.๘ ว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยคำขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ (๒๐/๕/๕๘) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่
๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ
การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๑ แล้ว
โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่คืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้แก่โจทก์ ตามสำเนาหนังสือจำเลยที่ ๓ ที่ พณ ๐๓๐๙/๒๑๐๘ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

         มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมาว่า คำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑
ที่ไม่คืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้นำเข้าอาจขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในขณะหนึ่งขณะใดได้ ถ้าผู้นั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดหรือส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดลดลงต่ำกว่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่ใช้บังคับ” โจทก์จึงมีหน้าที่พิสูจน์ให้จำเลยที่ ๑ เห็นว่าไม่มีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด หรือส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดลดลง
ต่ำกว่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่ใช้บังคับ แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานข้อมูลที่แสดงว่าการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีแหล่งกำเนิดจากยูเครน ฯลฯ ของโจทก์ในช่วงเวลาที่มีการเรียกเก็บอากรตอบโต้
การทุ่มตลาดตามประกาศจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ไม่มีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด
หรือส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดลดลงต่ำกว่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่ใช้บังคับ ทั้งที่จำเลยที่ ๑ ได้ให้โอกาสโดยการขยายระยะเวลาการส่งหลักฐานข้อมูลถึงหนึ่งปี การที่จำเลยที่ ๑ มีคำวินิจฉัยไม่คืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์นำเข้าสินค้าโดยส่งออกจากประเทศอื่นซึ่งมิใช่ประเทศแหล่งกำเนิด จำเลยที่ ๑ สามารถใช้ข้อมูลราคาที่เป็นอยู่ในประเทศผู้ส่งออกเป็นเกณฑ์ในการหามูลค่าปกติตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้า
จากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ และหาส่วนเหลื่อมราคาตามพระราชบัญญัติการตอบโต้
การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ ถึงมาตรา ๑๘
ได้แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กลับอ้างว่าโจทก์ไม่มีข้อมูลและหลักฐานเพียงพอนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ ยอมให้มีการคำนวณหามูลค่าปกติโดยใช้ข้อมูลราคาจากประเทศแหล่งกำเนิดได้ตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง (๒) และมาตรา ๑๗ ประกอบกับจำเลยทั้งสามมีนางสาวปิยชาติ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กองปกป้อง
และตอบโต้ทางการค้า จำเลยที่ ๓ พยานจำเลยทั้งสามเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า การขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดไม่สามารถใช้ข้อมูลราคาที่เป็นอยู่ในประเทศ
ผู้ส่งออกเป็นเกณฑ์ในการหามูลค่าปกติตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน
ซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ ได้ เนื่องจากเป็นการคืนให้เฉพาะธุรกรรมที่มี
การส่งออกมายังราชอาณาจักรไทยและไม่มีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดหรือส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดต่ำกว่าอากรที่ได้ชำระไปแล้ว การหามูลค่าปกติเพื่อนำมาพิสูจน์ส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด จึงต้องใช้ข้อมูลราคาของยูเครนประกอบการพิจารณา ข้อต่อสู้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น คำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่คืนอากร
ตอบโต้การทุ่มตลาดให้แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล
อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

(สุรพล  คงลาภ – ตุล  เมฆยงค์ – คมน์ทนงชัย  ฉายไพโรจน์)

 

สุธรรม  สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ

นิภา  ชัยเจริญ - ตรวจ