คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 98/2563
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
บริษัทสาคร วัฒนา (ทั่งจือฮะ) จำกัด กับพวก จำเลย
ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9), 195 วรรคสอง
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26, 39
เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยและพิพากษา
ให้ยกฟ้อง จําเลยทั้งสามจะมีสิทธิอุทธรณ์คําพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ต่อเมื่อมีคําวินิจฉัยดังกล่าวมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของจําเลยทั้งสามซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษายกฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า เนื่องจากจําเลยที่ ๑ เป็นบุคคลที่ได้รับหนังสือสําคัญให้ใช้เครื่องหมายรับรอง
ฮาลาลที่ลงนามโดยประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งคําวินิจฉัยดังกล่าวหาได้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของจําเลยทั้งสามแต่ประการใด จําเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์
คําพิพากษาดังกล่าว อุทธรณ์ของจําเลยทั้งสามไม่ว่าจะวินิจฉัยทางใด ก็ไม่ได้ทําให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของจําเลยทั้งสามไม่เป็นสาระแห่งคดีอันควรแก่การวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
แต่ไม่ได้มีคําวินิจฉัยในเรื่องของกลางที่โจทก์ขอริบ เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษก็มีอํานาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๒๕, ๒๗, ๕๙ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔, ๑๐๘, ๑๑๐, ๑๑๔, ๑๑๕, ๑๑๗
และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๑ กับริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ผู้เสียหายมิใช่เจ้าของเครื่องหมายรับรองฮาลาล จึงทำให้การสอบสวน
ไม่ชอบและเป็นเหตุให้ฟ้องคดีไม่ชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญามาตรา ๑๒๐ นั้น เห็นว่า ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยและพิพากษาให้ยกฟ้อง จำเลยทั้งสามจะมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ต่อเมื่อคำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโดยเหตุผลที่ได้วินิจฉัยเอาไว้ในคำพิพากษาว่า เนื่องจากจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลที่ได้รับหนังสือสำคัญให้ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลที่ลงนามโดยประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวหาได้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยทั้งสามแต่ประการใดไม่ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใด ก็ไม่ได้ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นสาระแห่งคดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๙ ประกอบประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๕, ๑๕
และประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โดยไม่ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลางที่โจทก์ขอให้ริบนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยบทบังคับที่ให้ศาล
ต้องมีคำวินิจฉัยในส่วนดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๖ (๙) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๙ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ส่วนของกลางให้คืนแก่เจ้าของ.
(วราคมน์ เลี้ยงพันธุ์ - จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา - กรกันยา สุวรรณพานิช)
ฐิติ สุเสารัจ - ย่อ
วิวัฒน์ วงศกิตติรักษ์ - ตรวจ
หมายเหตุ คดีถึงที่สุด