คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2794/2563
โอโช ฟู้ด เซอร์วิส คอร์ป. โจทก์
นายดำรงพล เพ็ญประพัฒน์ จำเลย
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 54 วรรคสอง, 56, 80
เดิมเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ด เป็นของบริษัท ค. ได้รับการจดทะเบียนตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ต่อมาจำเลยได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดมาจากบริษัทดังกล่าว แต่มิได้จดทะเบียนต่อ
นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถือว่า ไม่มีการโอนสิทธิในเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดให้แก่จำเลย และถือว่า บริษัท ค. ยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วนั้นตลอดมา จนกระทั่งครบอายุการจดทะเบียนในปี ๒๕๕๙ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการต่ออายุการจดทะเบียน
จึงถือว่า เครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๘๐ ประกอบมาตรา ๕๖ และมาตรา ๕๔ วรรคสอง แม้เครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดจะยังคงมีใช้อยู่โดยมิได้ปล่อยปละละเลยดังข้ออุทธรณ์ของจำเลย แต่ก็คงถือว่ามีฐานะเป็นเพียงเครื่องหมายบริการที่ไม่จดทะเบียนเท่านั้น จำเลยย่อมไม่สามารถอ้างสิทธินำเอาวันที่เครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดซึ่งได้รับจดทะเบียนในปี ๒๕๔๙ มานับติดต่อรวมกันเข้ากับระยะเวลาที่เครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของจำเลยได้รับการจดทะเบียนเมื่อปี ๒๕๖๑ ได้
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดดีกว่าจำเลยสำหรับบริการที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ด และห้ามมิให้จำเลย
ใช้เครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดอีกต่อไป หากจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษา
แทนการแสดงเจตนาของจำเลยกับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะยุติการละเมิดสิทธิโจทก์และยุติการกระทำใด ๆ
ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิ
ในเครื่องหมายบริการภาษาญี่ปุ่นคำว่า , ภาษาไทยคำว่า “เกี๊ยวซ่าโนะ โอโช”
และคำอักษรโรมันว่า “GYOZA OHSHO” ดีกว่าจำเลยสำหรับบริการที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้
ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ คำขอเลขที่ ๑๐๔๔๖๒๒ ทะเบียนเลขที่ ๑๘๑๑๐๑๔๗๘, เครื่องหมายบริการ คำขอเลขที่ ๑๐๔๔๖๒๓ ทะเบียนเลขที่ ๑๘๑๑๐๑๔๘๑, เครื่องหมายบริการ คำขอเลขที่ ๑๐๔๔๖๒๔ ทะเบียนเลขที่ ๑๘๑๑๐๑๔๘๓, เครื่องหมายบริการ
คำขอเลขที่ ๑๖๐๑๐๕๑๑๗ ทะเบียนเลขที่ ๑๘๑๑๑๓๔๔๓, เครื่องหมายบริการ
คำขอเลขที่ ๑๖๐๑๐๕๑๑๘ ทะเบียนเลขที่ ๑๘๑๑๑๓๔๔๔, เครื่องหมายบริการ คำขอเลขที่ ๑๖๐๑๐๕๑๑๙ ทะเบียนเลขที่ ๑๘๑๑๑๓๔๔๕ และเครื่องหมายบริการ คำขอเลขที่ ๑๖๐๑๐๕๑๒๐ ทะเบียนเลขที่ ๑๘๑๑๑๓๔๔๖ คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมาย .
บริการทั้งเจ็ดของจำเลยในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๑ สำหรับเครื่องหมายบริการ
, , และในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ สำหรับเครื่องหมายบริการ
, , , คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของจำเลยภายในกำหนดเวลา
ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เอกสารหมาย ล.๙ เป็นเพียงรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทคอสโม ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งแม้ประธานฯ จะมีข้อแถลงเสนอว่า “... ทรัพย์สินเครื่องหมายการค้าทั้งหมดที่บริษัทคอสโม ฟู้ดส์ จำกัด เป็นผู้ถือครองสิทธิอยู่นั้น มอบให้นายดำรงพล (จำเลย) กรรมการผู้จัดการ ถือครองต่อไปเพื่อสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อในอนาคต” โดย “ที่ประชุม ... มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ... โอนสิทธิเครื่องหมายการค้าทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นตามที่ประธานฯ เสนอทุกประการ” ก็ตาม แต่ก็ได้ความจากจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า การโอนเครื่องหมายการค้า (เครื่องหมายบริการ) ดังกล่าวไม่มีการจดทะเบียน ซึ่งหมายความว่า มิได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ย่อมเป็นการไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๘๐ ประกอบมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ทั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงพาณิชย์ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ด้วย ถือว่า ไม่มีการโอนสิทธิในเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดให้แก่จำเลย และถือว่า บริษัทคอสโม ฟู้ดส์ จำกัด ยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วนั้นตลอดมา จนกระทั่งครบอายุการจดทะเบียนในปี ๒๕๕๙ เมื่อไม่ปรากฏว่า บริษัทคอสโม ฟู้ดส์ จำกัด ได้ยื่นคำขอต่ออายุการจดทะเบียน กรณีต้องถือว่า เครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดที่ได้รับการจดทะเบียนนั้นได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๘๐ ประกอบมาตรา ๕๖ และมาตรา ๕๔ วรรคสอง ดังที่เอกสารหมาย จ.๘๕ ถึง จ.๙๐ ระบุ “สถานะ”
ไว้ว่า “เพิกถอน ... / ... / (ปี) ๒๕๕๙ เพิกถอนการจดทะเบียนตามมาตรา ๕๖” จึงต้องถือว่า ไม่มีเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของบริษัทคอสโม ฟู้ดส์ จำกัด อยู่ในทะเบียนอีกต่อไป แม้เครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดจะยังคงมีใช้อยู่โดยมิได้ปล่อยปละละเลยดังข้ออุทธรณ์ของจำเลย แต่ก็คงถือว่ามีฐานะเป็นเพียงเครื่องหมายบริการที่ไม่จดทะเบียนเท่านั้น จำเลยย่อมไม่สามารถอ้างสิทธินำเอาวันที่เครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของบริษัทคอสโม ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งได้รับการจดทะเบียนในปี ๒๕๔๙ มานับติดต่อรวมกันเข้ากับระยะเวลาที่เครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของจำเลยได้รับการจดทะเบียนเมื่อปี ๒๕๖๑ ได้ ประกอบกับทะเบียนเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของบริษัทคอสโม ฟู้ดส์ จำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับทะเบียนเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของจำเลยแล้ว เป็นคนละหมายเลขทะเบียนกัน ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของจำเลยในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ จึงเป็นเวลาเพียง
๑๐ เดือน และ ๖ เดือน นับจากวันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียน ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้าปีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๘๐ ประกอบมาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง หาได้เกินกำหนดเวลาดังที่จำเลยอุทธรณ์มาไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ข้อที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดไปจดทะเบียนในปี ๒๕๖๑ เป็นการจดทะเบียนใหม่นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดดีกว่าจำเลย อันเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ด
ของจำเลยตามคำฟ้อง ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนำรูปลักษณะรวมทั้งเสียงเรียกขานเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของจำเลยมาเปรียบเทียบ
กับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์แล้ว
ต่างประกอบด้วยสาระสำคัญอย่างเดียวกัน คือ ต่างประกอบด้วยตัวอักษรญี่ปุ่นและ/หรือตัวอักษรโรมันที่อ่านหรือมีเสียงเรียกขานว่า “เกี๊ยวซ่าโนะ โอโช” “โอโช” หรือ “เกี๊ยวซ่า โอโช” เหมือน ๆ กัน
และใช้กับสินค้าและ/หรือบริการอาหารและ/หรือเครื่องดื่มที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน อันเป็นข้อเท็จจริง
ที่จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นทั้งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็มีความเห็นไปในทางเดียวกับโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของจำเลยเพราะเรียกขานคล้ายกันและมีรายการ (รายการสินค้าและ/หรือบริการ)
ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกัน ตามหนังสือแจ้งคำสั่ง ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ อันมีความหมายว่า เครื่องหมายของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องหมายของโจทก์แล้วมีสาระสำคัญอย่างเดียวกันนั่นเอง ส่วนข้อที่จำเลยต่อสู้คดีไว้ในคำให้การ ในทางนำสืบและในอุทธรณ์ว่ามีความแตกต่างกันนั้น เป็นเพียง
คำกล่าวอ้างเลื่อนลอยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ดังนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จากทางนำสืบของคู่ความ พยานหลักฐานเจือสมไปทางโจทก์ด้วยพยานหลักฐานที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ส่วนจำเลยไม่อาจพิสูจน์สิทธิในชื่อ “เกี๊ยวซ่าโนะ โอโช” ได้ดีเท่าโจทก์ กับการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิ
ในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการภาษาญี่ปุ่นคำว่า “ ” ภาษาไทยคำว่า “เกี๊ยวซ่าโนะ โอโช” และอักษรโรมันว่า “GYOZA OHSHO” ดีกว่าจำเลยสำหรับบริการที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ กับให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการทั้งเจ็ดของจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.
(วราคมน์ เลี้ยงพันธุ์ – ธารทิพย์ จงจักรพันธ์ – กรกันยา สุวรรณพานิช)
สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ
นิภา ชัยเจริญ - ตรวจ
หมายเหตุ คดีถึงที่สุด