คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1037/2563
บริษัทไฮโดรไทย จำกัด โจทก์
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กับพวก จำเลย
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 61, 62
ศาลฎีกาวินิจฉัยแต่เพียงว่า จำเลยร่วมฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอน
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ายังคงมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๑
และมาตรา ๖๒ บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ เมื่อกรณีปรากฏว่ามีเหตุตาม
มาตรา ๖๑ (๒) (๔) และมาตรา ๖๒ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมมีอำนาจออกคำสั่ง
เพิกถอนเครื่องหมายการค้าพิพาทได้
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ ๘๘/๒๕๖๐ เรื่อง เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ ๕๒๙๘๗๐ สั่ง ณ วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐
จำเลยทั้งแปดให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ยารา อินเตอร์เนชั่นแนล เอเอสเอ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ และจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท และจำเลยร่วม จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ จำเลยทั้งแปด และจำเลยร่วมไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ เป็นกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จำเลยร่วมเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของราชอาณาจักรนอร์เวย์ จำเลยร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ อันได้แก่ (๑) เครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ ๑ รายการสินค้า ปุ๋ยเคมี เรซินเทียมและเรซินสังเคราะห์ พลาสติกที่อยู่ในรูปเม็ดเล็ก ๆ ผง ชนิดเหลว และแป้งเหลว ปุ๋ยธรรมชาติที่ใช้ในอุตสาหกรรมและกสิกรรม ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๓๑๗๗๓ (คำขอเลขที่ ๒๕๕๑๕๐) และสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้า (๒) เครื่องหมายการค้า
ซึ่งจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ ๑ รายการสินค้า ปุ๋ยสำหรับใช้ในการเกษตร และอื่น ๆ ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๑๕๖๗๖ (คำขอเลขที่ ๒๔๓๖๗๒) (๓) เครื่องหมายการค้า ซึ่งจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ ๑๓ รายการสินค้า สารระเบิดที่มีแอมโมเนียมไนเตรท และอื่น ๆ ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๑๘๑๖๗ (คำขอเลขที่ ๒๔๓๖๗๕) (๔) เครื่องหมายการค้า ซึ่งจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ ๑ รายการสินค้า สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย และอื่น ๆ ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๒๔๙๓๖๑ (คำขอเลขที่ ๕๖๑๕๗๒) และ
(๕) เครื่องหมายบริการ ซึ่งจดทะเบียนเพื่อใช้กับบริการในจำพวกที่ ๔๔ รายการบริการ บริการให้เช่าอุปกรณ์ในการทำฟาร์ม และอื่น ๆ ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเครื่องหมายบริการเลขที่ บ๓๒๖๐๓ (คำขอเลขที่ ๕๖๑๕๗๓) เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๖ โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ ๑ รายการสินค้า ปุ๋ยเคมี ตามสำเนา
คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ ๕๒๙๘๗๐ และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับ
จดทะเบียนให้แก่โจทก์ตามสำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๑๙๙๔๕๕ และสำเนาทะเบียนการค้า โจทก์ยังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ ๕ รายการสินค้า ยากำจัดแมลงศัตรูพืช และอื่น ๆ
ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๒๓๒๙๗๘ และโจทก์
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า เพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ ๑ รายการสินค้า ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนพืช และในจำพวกที่ ๕ รายการสินค้า ยากำจัดแมลงศัตรูพืช และอื่น ๆ ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๒๙๕๖๖๒ และ ค๓๐๒๖๗๖ นอกจากนี้
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอีกหลายคำขอ ได้แก่ เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ ๗๔๒๔๖๗ และ ๗๔๒๔๖๘ เครื่องหมายการค้าคำว่า ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ ๗๔๒๔๖๙ และ ๗๔๒๔๗๐ เครื่องหมายการค้า ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ ๗๔๓๒๘๗ และ ๗๔๓๒๘๘ เครื่องหมายการค้า ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ ๗๔๘๕๑๓ ถึง ๗๔๘๕๑๕ เครื่องหมายการค้าคำว่า ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ ๗๔๘๖๒๒ และ ๗๔๘๖๒๓ เครื่องหมายการค้า ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ ๗๕๓๖๒๐ และ ๗๕๓๖๒๑ และเครื่องหมายการค้าคำว่า ตามสำเนาข้อมูลเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ ๗๕๓๖๒๒ และ ๗๕๓๖๒๓ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๓ จำเลยร่วมฟ้องโจทก์กับพวกรวม ๓ คน ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อให้พิพากษาว่า จำเลยร่วมเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าโจทก์กับพวกในเครื่องหมายการค้ารูปเรือใบไวกิ้ง คำว่า “VIKING SHIP” คำว่า “เรือใบไวกิ้ง” คำว่า “ไวกิ้ง” และเครื่องหมายอื่นใดที่มีสาระสำคัญอยู่ที่รูปหรือคำดังกล่าว ขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และให้โจทก์ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ขอให้โจทก์ยุติการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “เรือใบไวกิ้ง” และเครื่องหมายการค้า
รูปเรือใบไวกิ้งกับสินค้าของโจทก์ และขอให้โจทก์ลงประกาศโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์รายวัน ตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ทป.๒๙/๒๕๕๓ ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ จำเลยร่วมยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ค๑๙๙๔๕๕ ของโจทก์ ตามสำเนา
คำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน โจทก์คัดค้านการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ตามสำเนาหนังสือชี้แจงการถูกร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน เมื่อปี ๒๕๕๙ ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยร่วมฟ้องโจทก์กับพวกรวม ๓ คน ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศกลางดังกล่าวข้างต้นว่า จำเลยร่วมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๒๓๒๙๗๘, ค๒๙๕๖๖๒ และ ค๓๐๒๖๗๖ และเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๗๔๒๔๖๙, ๗๔๒๔๗๐, ๗๔๓๒๘๗, ๗๔๓๒๘๘, ๗๔๘๕๑๓ ถึง ๗๔๘๕๑๕, ๗๔๘๖๒๒, ๗๔๘๖๒๓ และ ๗๕๓๖๒๐ ถึง ๗๕๓๖๒๓ ดีกว่าโจทก์ ส่วนเครื่องหมายการค้า
ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๑๙๙๔๕๕ (เครื่องหมายพิพาทในคดีนี้) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๖ จำเลยร่วมฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๓
จึงพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว แม้จำเลยร่วมจะมีสิทธิดีกว่าก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๖๙/๒๕๕๙ ต่อมาโจทก์ขอให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๗๔๒๔๗๐, ๗๔๓๒๘๗, ๗๔๓๒๘๘, ๗๔๘๕๑๓ ถึง ๗๔๘๕๑๕, ๗๔๘๖๒๒, ๗๔๘๖๒๓ และ ๗๕๓๖๒๐ ถึง ๗๕๓๖๒๓ และเพิกถอน
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๒๓๒๙๗๘, ค๒๙๕๖๖๒
ค๓๐๒๖๗๖ และ ค๓๑๗๒๑๓ (คำขอเลขที่ ๗๔๒๔๖๙) แล้ว ตามสำเนาหนังสือเรื่องขอเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๙ รวม ๑๒ ฉบับ และสำเนาคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน รวม ๔ ฉบับ นอกจากนี้ โจทก์ได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์ไม่เกี่ยวข้องในทางธุรกิจกับจำเลยร่วมตามสำเนาประกาศ ในส่วนของคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายพิพาท คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้ (ก) จำเลยร่วมเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๑ (๒) และ (๔) กับเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๒ (๒) (ข) เครื่องหมายการค้า ของโจทก์มีภาคส่วนคำว่า ไวกิ้ง เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย และเป็นคำที่เขียนขึ้นตามการเรียกขานคำในภาษาอังกฤษคำว่า VIKING ซึ่งเป็นคำ ๆ เดียวกันกับคำที่เป็นสาระสำคัญ
ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมคำว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีภาคส่วน
รูปเรือวางอยู่ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นโปร่ง และด้านล่างมีคำว่า ตราเรือ ประกอบอยู่ด้วย
ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจะมีภาคส่วนคำว่า SHIP ประกอบอยู่ด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณา
ถึงการเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า ตราเรือไวกิ้ง หรือ ไวกิ้ง ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมอาจเรียกขานได้ว่า ไวกิ้งชิพหรือ ไวกิ้ง นับว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่าย
มีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าในจำพวกที่ ๑ เช่นเดียวกัน และรายการสินค้าปุ๋ยมีลักษณะอย่างเดียวกัน ในขณะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ของโจทก์เมื่อปี ๒๕๔๖ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๓๑๗๗๓ ที่จดทะเบียนไว้เมื่อปี ๒๕๓๖ ของจำเลยร่วม จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า กรณีจึงมีเหตุ
เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามมาตรา ๖๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ (ค) เมื่อพิจารณาลักษณะการประดิษฐ์รูปเรือไวกิ้ง และการใช้คำในการเรียกขานว่า ไวกิ้ง มีลักษณะที่คล้ายกันมากจนเกือบจะเป็นเครื่องหมายเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วม น่าเชื่อได้ว่าความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายนั้นเกิดจากโจทก์เคยนำปุ๋ยภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเข้ามาจำหน่าย
ในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ ย่อมถือได้ว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในวงการค้าเดียวกัน ซึ่งเป็นการยากที่บุคคลที่อยู่ต่างสถานที่กันหรืออยู่กันคนละประเทศจะคิดหรือออกรูปแบบเครื่องหมายการค้าที่พิพาทได้คล้ายกันเช่นนี้ได้ หากไม่เคยเห็นหรือไม่เคยรู้จัก หรือไม่ทราบว่านอร์สค์หรือจำเลยร่วม
ได้ใช้เครื่องหมายที่พิพาทนี้มาก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายที่พิพาทนี้เป็นของตนเอง อันเป็นเจตนาไม่สุจริตในการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าจากเครื่องหมายการค้าที่พิพาทนี้ไปใช้
ในลักษณะเช่นเดียวกันกับจำเลยร่วม จนทำให้สาธารณชนไม่สามารถแยกแยะความเป็นเจ้าของสินค้าออกจากกัน และอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าโจทก์ย่อมต้องรู้จักและเคยเห็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมมาก่อนที่โจทก์จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย จึงถือว่าโจทก์มีเจตนาไม่สุจริตลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วม
แล้วนำมายื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของตนเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าโดยมิชอบ
และเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ในขณะที่จดทะเบียนเมื่อปี ๒๕๔๖ เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘ (๙) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ และเป็นเครื่องหมาย
ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ตามมาตรา ๖๒
แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ กรณีจึงมีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามมาตรา ๖๑ (๒) และมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ ๗๒/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค๑๙๙๔๕๕ (คำขอเลขที่ ๕๒๙๘๗๐) ตามคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ ๘๘/๒๕๖๐ เรื่อง เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ ๕๒๙๘๗๐
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
ที่ ๘๘/๒๕๖๐ เรื่อง เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ ๕๒๙๘๗๐ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานว่า ตราเรือไวกิ้ง หรือ เรือไวกิ้ง
หรือ ไวกิ้ง เครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมอาจเรียกขานว่า ไวกิ้งชิพ หรือ ไวกิ้ง เสียงเรียกขาน
จึงคล้ายกันมาก แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีรูปเรือวางอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นโปร่ง
แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับคำว่า เรือไวกิ้ง ที่อยู่ด้านล่าง แสดงว่า โจทก์ต้องการสื่อว่ารูปเรือที่อยู่ด้านบนคือเรือไวกิ้ง และสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าคือคำว่า เรือไวกิ้ง ซึ่งเป็นคำแปล
ของตัวอักษรโรมัน VIKING SHIP อันเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วม ลักษณะโดยรวม
ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยร่วมในเรื่องคำและเสียงเรียกขานจึงคล้ายกัน ประกอบกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ ๑ รายการสินค้า ปุ๋ยเคมี ส่วนของจำเลยร่วมจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ ๑ รายการสินค้าปุ๋ยเคมี เรซินเทียมและเรซินสังเคราะห์ พลาสติกที่อยู่ในรูปเม็ดเล็ก ๆ ผง ชนิดเหลว และแป้งเหลว ปุ๋ยธรรมชาติที่ใช้ในอุตสาหกรรมและกสิกรรม สินค้าของโจทก์และจำเลยร่วมจึงเป็นสินค้าในจำพวกเดียวกันและมีลักษณะอย่างเดียวกัน การที่สินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกันและมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน สาธารณชนที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปที่ใช้ปุ๋ยในการเพาะปลูกพืช อาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้า
ของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงถือว่าในขณะที่โจทก์จดทะเบียน เครื่องหมายการค้า
ของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
จึงมีเหตุให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ตามมาตรา ๖๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การใช้สิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต นั้น นายยุคเลศร์ รองกรรมการผู้จัดการโจทก์ เบิกความประกอบสำเนาหนังสือชี้แจงการถูกร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน สรุปได้ว่า โจทก์มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับนอร์สค์ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ ในลักษณะซื้อสินค้าแบบเทกอง (bulk) แล้วนำมาใส่บรรจุภัณฑ์ ไม่ใช่ตัวแทนจำหน่ายสินค้า โจทก์เพิ่งมาเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยร่วม
เมื่อปี ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทเมื่อปี ๒๕๔๖ โจทก์ได้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาทโดยเทียบเคียงจากเรือใบหลาย ๆ แบบ และได้กระทำหลังจากนอร์สค์ ไม่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปเรือโบราณกับสินค้าปุ๋ยตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ กับละทิ้งเครื่องหมายโดยไม่ได้ต่ออายุ
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์
จึงกระทำไปโดยสุจริตและไม่กระทบต่อสิทธิของจำเลยร่วม ส่วนฝ่ายจำเลยมีนายเมดิ กรรมการผู้จัดการบริษัทสาขาของจำเลยร่วมในประเทศไทย เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นสรุปได้ว่า จำเลยร่วมเคยเป็นแผนกชื่อ ไฮโดรอกรี (Hydro Agri) ของนอร์สค์ โจทก์เคยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าปุ๋ยแต่เพียงผู้เดียวให้กับนอร์สค์ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ถึงปี ๒๕๔๗ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๗ จำเลยร่วมแยกตัวจากนอร์สค์ โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าปุ๋ยแต่เพียงผู้เดียวให้กับจำเลยร่วมตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๒ ในปี ๒๕๓๕ จำเลยร่วมและนายประวิทย์ กรรมการ
ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทปุ๋ยไวกิ้ง จำกัด และสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเชิงผสมเมื่อประมาณปี ๒๕๓๘ นอกจากนี้นายประวิทย์เคยเดินทางไปราชอาณาจักรนอร์เวย์หลายครั้ง และมี
นายนันทน ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยร่วม เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นสรุปได้ว่า จำเลยร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปเรือไวกิ้งแบบโบราณในราชอาณาจักรนอร์เวย์ตั้งแต่วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๕๖ และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า VIKING SHIP
ที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๓๒ จำเลยร่วมใช้คำว่า VIKING SHIP มาอย่างน้อย
ตั้งแต่ปี ๒๔๙๙ ตามสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจากสำนักงานสิทธิบัตร
และเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา จำเลยร่วมได้ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีสาระสำคัญอยู่ที่รูปเรือใบไวกิ้ง คำว่า VIKING SHIP เรือใบไวกิ้ง และ ไวกิ้ง ก่อนที่โจทก์จะได้รับ
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทย เห็นว่า พยานฝ่ายจำเลยทั้งสองปากเบิกความสอดคล้องกับพยานเอกสารจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือส่วนโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับความเป็นมา
ของเครื่องหมายการค้าพิพาทที่จะสนับสนุนว่าโจทก์เป็นผู้ออกแบบเครื่องหมายการค้าพิพาทขึ้นเอง ประกอบกับศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๖๙/๒๕๕๙ ซึ่งโจทก์และจำเลยร่วมเป็นคู่ความว่า โจทก์เคยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของนอร์สค์ และจำเลยร่วม แล้วนำเครื่องหมายการค้า
รูปเรือใบไวกิ้งแบบโบราณ และคำว่าตราเรือไวกิ้ง เรือใบไวกิ้ง เรือไวกิ้ง และไวกิ้ง ไปขอจดทะเบียนกับสินค้าในจำพวกที่ ๑ และ ๕ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลที่รับฟังได้ว่า ก่อนที่โจทก์
จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทโจทก์ทราบอยู่แล้วว่านอร์สค์ หรือจำเลยร่วม เคยใช้เครื่องหมายการค้ารูปเรือไวกิ้ง และคำว่า เรือไวกิ้ง กับสินค้าปุ๋ย การที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท ซึ่งประกอบด้วยรูปเรือไวกิ้ง กับคำว่า เรือไวกิ้ง เพื่อใช้กับสินค้าปุ๋ย แสดงให้เห็นถึงเจตนา
ของโจทก์ว่า กระทำไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจจากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น ดังนั้น
การใช้สิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าพิพาทเนื่องจากขัดต่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๖๙/๒๕๕๙ นั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าววินิจฉัยแต่เพียงว่าจำเลยร่วมฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ายังคงมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๑ และมาตรา ๖๒ โดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ เมื่อกรณีปรากฏว่ามีเหตุตามมาตรา ๖๑ (๒) (๔)
และมาตรา ๖๒ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๑ และมาตรา ๖๒ ดังนั้น คำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ ๘๘/๒๕๖๐ เรื่อง เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
คำขอเลขที่ ๕๒๙๘๗๐ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.
(สุรพล คงลาภ – ตุล เมฆยงค์ – ปรานี เสฐจินตนิน)
ธนวรรณ นราวิริยะกุล - ย่อ
นิภา ชัยเจริญ - ตรวจ
หมายเหตุ คดีถึงที่สุด