คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 3306/2566 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรม

                                                                      ขนาดย่อม                               โจทก์

                                                                      บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา

                                                                      จำกัด                                      ผู้ร้อง

                                                                      เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์          ผู้คัดค้าน

                                                                      บริษัทลีโอ สมาร์ทพีค จำกัด กับพวก  จำเลย

พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง, ๙๑/๑, 148/1

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย
เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
ข้อ 15, ๑๘

            เดิมตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า
1 ฉบับ ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ข้อ 15 ให้เพิ่มมาตรา 148/1
แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยกำหนดว่า ในกรณีที่บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล หรือประกาศหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหนังสือพิมพ์รายวัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจโฆษณา
ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะอื่นใดแทนตามที่อธิบดีกรมบังคับคดีประกาศกำหนดก็ได้
และข้อ 18 กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2560 เป็นต้นมา หลังจากนั้นมี
พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 มาตรา 17 ให้ยกเลิกความในมาตรา 148/1
แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 21/2560 ดังกล่าว และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมีข้อความอย่างเดียวกันกับมาตรา 148/1
ที่เพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว โดย พ.ร.บ. ล้มละลาย
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 แต่มีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 20 ให้บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้บังคับตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2560 เป็นต้นมา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในเว็บไซต์กรมบังคับคดีอันเป็น
สื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะแทนการโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันได้ ทั้งนี้ การโฆษณา
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและในสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะแทนการโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันนั้น จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 28 เช่นเดียวกัน  ซึ่งกำหนดว่า ในคำโฆษณานั้นให้แสดงการขอให้ล้มละลาย วันที่ศาลมีคำสั่ง ชื่อ ตำบลที่อยู่
และอาชีพของลูกหนี้ กับให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้
ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย ชื่อของลูกหนี้ในคำโฆษณาจึงมีความสำคัญและต้องครบถ้วนถูกต้องตามที่ปรากฏในคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบ
และยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในกำหนดเวลาของกฎหมาย 

         คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 และยังคงอยู่
ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงต้องบังคับตามมาตรา 148/1
แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 21/2560 อันเป็นกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561
ใช้บังคับตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดระบุชื่อจำเลยที่ ๒ ว่า “นายปัณณพงศ์หรือสิทธิชัย อิสระวงศ์วุฒิหรือรัศมีวิริยะนนท์” ผู้คัดค้านต้องโฆษณาชื่อของจำเลยที่ 2 ทั้งในราชกิจจานุเบกษาและในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดีให้ครบถ้วนถูกต้องตามชื่อที่ระบุในคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ
ได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะตรวจสอบทางช่องทางใดก็ตาม การที่ผู้คัดค้านระบุเฉพาะชื่อ “นายปัณณพงศ์  อิสระวงศ์วุฒิ” อันเป็นชื่อตัวและชื่อสกุลใหม่ของจำเลยที่ 2 ในฐานข้อมูลเว็บไซต์ของกรมบังคับคดีซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้นั้น จึงเป็นการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะโดยระบุชื่อไม่ครบถ้วนถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 2 เพิ่งเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลหลังจากถูกเจ้าหนี้เดิมฟ้องคดีและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 แจ้งให้เจ้าหนี้เดิมทราบ ศาลแพ่งจึงพิพากษาโดยระบุชื่อเดิมของจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้เจ้าหนี้เดิมหรือผู้ร้องตรวจสอบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดีโดยใช้ชื่อตัวและชื่อสกุลเดิมของจำเลยที่ 2 แต่การที่ผู้คัดค้าน
ลงประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดีไม่ครบถ้วนทำให้เจ้าหนี้เดิมหรือผู้ร้องตรวจไม่พบว่าจำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถือได้ว่ากรณีเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ร้อง
ไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในกำหนดเวลาและมีเหตุผลอันสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91/1

______________________________

         ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91/1

         ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

         ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

         ผู้ร้องอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นหนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมในมูลหนี้
ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ผบ 1072/2558 โจทก์ฟ้องขอให้
จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์
ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 และมีหนังสือแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ให้ผู้คัดค้านทราบผู้คัดค้านโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี
และในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่
23 พฤษภาคม 2561 การประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ผู้คัดค้านระบุชื่อจำเลยที่ 2 ว่า นายปัณณพงศ์หรือสิทธิชัย อิสระวงศ์วุฒิหรือรัศมีวิริยะนนท์ พร้อมระบุเลขประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2563 เจ้าหนี้เดิมโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ผบ 1072/2558 ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลบุคคลล้มละลายจากฐานข้อมูลของกรมบังคับคดีโดยใช้ชื่อนายสิทธิชัย รัศมีวิริยะนนท์ แล้ว ปรากฏผลการค้นหาว่า “ไม่พบ
จำเลยชื่อ สิทธิชัย รัศมีวิริยะนนท์ ว่าถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แต่อย่างใด” และ “ไม่พบจำเลยชื่อ
สิทธิชัย รัศมีวิริยะนนท์ หรือ ไม่พบเลขประจำตัวประชาชน... 3101400587275 ว่าถูกศาลสั่ง
พิทักษ์ทรัพย์แต่อย่างใด” ต่อมาผู้ร้องตรวจสอบอีกครั้งโดยใช้ชื่อสิทธิชัย รัศมีวิริยะนนท์ เลขประจำตัวประชาชน 3101400587275 ระบุผลการตรวจสอบว่า “ไม่พบรายการที่ค้นหา” ปัญหา
ที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยและมีเหตุผลอันสมควรที่จะอนุญาต
ให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91/1 หรือไม่
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านลงฐานข้อมูลบุคคลล้มละลายไม่ครบถ้วนโดยระบุชื่อตัวและชื่อสกุลใหม่
ของจำเลยที่ 2 เพียงชื่อเดียว เป็นเหตุให้ผู้ร้องตรวจสอบไม่พบว่าจำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด เห็นว่า เดิมเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
โดยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ และมาตรา 91 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ต่อมามีคำสั่ง
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ข้อ 15 ให้เพิ่มมาตรา 148/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
โดยกำหนดว่า ในกรณีที่บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่ง
หรือคำพิพากษาของศาล หรือประกาศหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหนังสือพิมพ์รายวัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะอื่นใดแทนตามที่อธิบดีกรมบังคับคดี
ประกาศกำหนดก็ได้ และข้อ 18 กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2560 เป็นต้นมา
หลังจากนั้นมีพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 มาตรา 17 ให้ยกเลิก
ความในมาตรา 148/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งเพิ่มเติมโดยคำสั่ง
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560 ดังกล่าว และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมีข้อความ
อย่างเดียวกันกับมาตรา 148/1 ที่เพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว
โดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561
แต่มีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 20 ให้บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้
ใช้บังคับและยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ให้บังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2560 เป็นต้นมา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงโฆษณา
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในเว็บไซต์กรมบังคับคดีอันเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะแทนการโฆษณา
ในหนังสือพิมพ์รายวันได้ ทั้งนี้ การโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษา
และในสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะแทนการโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันดังกล่าวนั้นจะต้องปฏิบัติ
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 28 เช่นเดียวกัน ซึ่งมาตราดังกล่าวกำหนดว่า
ในคำโฆษณานั้นให้แสดงการขอให้ล้มละลาย วันที่ศาลมีคำสั่ง ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของลูกหนี้
กับให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย
ชื่อของลูกหนี้ในคำโฆษณาจึงมีความสำคัญและต้องครบถ้วนถูกต้องตามที่ปรากฏในคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบและยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในกำหนดเวลาของกฎหมาย
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 และยังคงอยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงต้องบังคับตามมาตรา 148/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย
พ.ศ. 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560
อันเป็นกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ
ตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ผู้คัดค้านจึงโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะ
ในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดีแทนการโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันได้ เมื่อตามหนังสือแจ้งคำสั่ง
พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ระบุชื่อจำเลยที่ ๒ ว่า “นายปัณณพงศ์หรือสิทธิชัย อิสระวงศ์วุฒิหรือรัศมีวิริยะนนท์” ผู้คัดค้านต้องโฆษณาชื่อของจำเลยที่ 2 ทั้งในราชกิจจานุเบกษาและในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี
ให้ครบถ้วนถูกต้องตามชื่อที่ระบุในคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ถูกต้องไม่ว่าจะตรวจสอบทางช่องทางใดก็ตาม การที่ผู้คัดค้านระบุเฉพาะชื่อ
“นายปัณณพงศ์ อิสระวงศ์วุฒิ” อันเป็นชื่อตัวและชื่อสกุลใหม่ของจำเลยที่ 2 ในฐานข้อมูลเว็บไซต์
ของกรมบังคับคดีซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้นั้น
จึงเป็นการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะโดยระบุ
ชื่อไม่ครบถ้วนถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 2 เพิ่งเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลหลังจากถูกเจ้าหนี้เดิมฟ้องคดี
และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 แจ้งให้เจ้าหนี้เดิมทราบ
ศาลแพ่งจึงพิพากษาโดยระบุชื่อเดิมของจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้เจ้าหนี้เดิมหรือผู้ร้องตรวจสอบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดีโดยใช้ชื่อตัวและชื่อสกุลเดิมของจำเลยที่ 2
แต่การที่ผู้คัดค้านลงประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดีไม่ครบถ้วนทำให้เจ้าหนี้เดิมหรือผู้ร้องตรวจไม่พบว่าจำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถือได้ว่ากรณีเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ร้องไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในกำหนดเวลาและมีเหตุผลอันสมควร
ที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91/1
ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น

         พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่
ศาลล้มละลายกลางอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้ผู้ร้องฟัง ค่าฤชาธรรมเนียม
ทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

(เพชรน้อย สมะวรรธนะ - จักรพันธ์ สอนสุภาพ - อัจฉรา ประจันนวล)

นราธิป บุญญพนิช  - ย่อ

                                                                                                                          สุรัชฎ์  เตชัสวงศ์ - ตรวจ