คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 525/2567  นาย ภ.                                       โจทก์

                                                                   บริษัท ส.                                  จำเลย

พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕22 มาตรา 49

         เมื่อเงินค่าตําแหน่งเป็นค่าจ้างจึงต้องนํามารวมกับเงินเดือนเพื่อคํานวณค่าชดเชย
และยังเป็นสภาพการจ้างตามความในมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วย
การที่จําเลยยกเลิกเงินค่าตําแหน่งจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในลักษณะที่ไม่เป็นคุณ
กับโจทก์ จําเลยไม่อาจทําได้แต่ฝ่ายเดียวโดยที่โจทก์ไม่ยินยอม

            ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า ก่อนเลิกจ้างโจทก์ จําเลยประสบปัญหาประชาชนอ่านข่าวหนังสือพิมพ์น้อยลงแต่รับทราบข้อมูลต่าง ๆ ผ่านสื่อ
สังคมออนไลน์ ทําให้จําเลยขาดทุนโดยตลอด ในปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ จําเลยขาดทุนประมาณ
๓๕ ล้านบาท ๓ ล้านบาท และ ๔๒ ล้านบาท ตามลําดับ เดือนมกราคม ๒๕๖6 ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ จําเลยขาดทุนประมาณ ๓๑ ล้านบาท จําเลยประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ เมื่อมีผู้อ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง แต่เปลี่ยนไปรับทราบข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากยิ่งขึ้น จึงทําให้กระทบกระเทือนกิจการจําเลยอย่างมาก เป็นผลทําให้จําเลยขาดทุนต่อเนื่องมาโดยตลอดหลายปีและยังขาดทุนอยู่อีก การลดจํานวนลูกจ้างลงโดยการเลิกจ้างจึงเป็นการบริหารกิจการภายในเพื่อพยุงองค์กรของจําเลย
ไว้ให้อยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน กรณีจึงมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จําเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

 

____________________________

 

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง ๖๐,๐๐๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒,๐๘๗ บาท ค่าชดเชย ๑๘๓,๑๖๗ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๖,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์สละประเด็นเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี

            ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าตำแหน่ง ๖๐,๐๐๐ บาท ค่าชดเชย ๘๒,๖๖๖.๖๗ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๖,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายค่าเสียหาย ๒๐๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

         จำเลยอุทธรณ์

 

 

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ จำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งสุดท้ายรีไรท์เตอร์แผนกข่าวประจำวัน ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๓๑,๓๐๐ บาท นอกจากนั้นยังได้ค่าตำแหน่ง ๔,๐๐๐ บาท ค่าพาหนะ ๑,๕๐๐ บาท
และค่าโทรศัพท์ ๗๐๐ บาท ทุกเดือน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือนของทุกเดือน วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๔ อ้างเหตุประสบปัญหาการประกอบธุรกิจ
โดยจ่ายค่าชดเชย ๔๑๗,๓๓๓ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓๑,๓๐๐ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒ วัน เป็นเงิน ๒,๐๘๗ บาท หักภาษี ๖,๖๖๖ บาท รวมเป็นเงิน ๔๔๔,๐๕๔ บาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ จำเลยไม่ได้จ่ายเงินค่าตำแหน่งให้โจทก์ และจำเลยไม่ได้นำเงินค่าตำแหน่ง ค่าพาหนะ และค่าโทรศัพท์มาคำนวณเป็นค่าจ้างที่นำไปคิดค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยหักเงิน
ค่าตำแหน่งของโจทก์ เงินค่าตำแหน่งถือเป็นสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕ การที่จำเลยยกเลิกการจ่ายเงินค่าตำแหน่งของโจทก์เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
ที่เป็นโทษแก่โจทก์ จำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้ตามลำพังเพียงฝ่ายเดียว
คำสั่งของจำเลยที่ยกเลิกการจ่ายหรือตัดเงินค่าตำแหน่งของโจทก์ตั้งแต่งวดเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓
ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๐ ไม่มีผลบังคับ จำเลยต้องจ่ายเงินค่าตำแหน่งของเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓
ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ (ที่ถูก ๒๕๖๔) เดือนละ ๔,๐๐๐ บาท รวม ๑๕ เดือน เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท คืนให้แก่โจทก์ คดีนี้ฟ้องโจทก์อ้างว่าเดิมโจทก์ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนละ ๓๗,๕๐๐ บาท เท่ากันทุกเดือน ประกอบด้วยเงินเดือน ๓๑,๓๐๐ บาท ค่าตำแหน่ง ๔,๐๐๐ บาท ค่าพาหนะ ๑,๕๐๐ บาท
และค่าโทรศัพท์ ๗๐๐ บาท ซึ่งตามคำให้การจำเลยไม่ได้ปฏิเสธ และตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจำเลย
ยังคงจ่ายค่าพาหนะเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท และค่าโทรศัพท์เดือนละ ๗๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ต่อเนื่อง
เป็นประจำทุกเดือนเรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ ส่วนเงินค่าตำแหน่งเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท จำเลยก็จ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนต่อเนื่องมาจนถูกตัดเงินจำนวนนี้ออกไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยคืนเงินค่าตำแหน่งที่ตัดไปทั้งหมดแก่โจทก์แล้ว ลักษณะความมุ่งหมายในการจ่ายเงินค่าตำแหน่ง ค่าพาหนะ และค่าโทรศัพท์เป็นการเหมาจ่าย
เป็นรายเดือนมีจำนวนแน่นอนและเท่ากันทุกเดือน ค่าตำแหน่ง ค่าพาหนะ และค่าโทรศัพท์
รวมเดือนละ ๖,๒๐๐ บาท จึงถือว่าเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
มาตรา ๕ ซึ่งจำเลยต้องนำไปคำนวณรวมเป็นค่าจ้างในการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันเพียงพอที่จะอธิบายได้ว่าโจทก์เข้าข่ายลักษณะ
ต้องถูกเลิกจ้างแตกต่างจากพนักงานอื่นในตำแหน่งหน้าที่เดียวกันที่ไม่ถูกเลิกจ้างอย่างไร
หรือมีข้อเท็จจริงอันเป็นประจักษ์ว่ามีเหตุสมควรเลิกจ้างโจทก์อย่างไร กรณีไม่มีเหตุอันสมควรเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจ ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง เมื่อพิเคราะห์โดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง
ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิ
ได้รับเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหาย ๒๐๐,๐๐๐ บาท

         ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เงินค่าตำแหน่งที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เดือนละ ๔,๐๐๐ บาท นั้น มีเจตนา
จ่ายให้เป็นสวัสดิการในช่วงที่ผลประกอบการมีกำไร แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง และอ่านข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์แทน ทำให้รายได้ของจำเลยลดน้อยลงต่อเนื่อง ทั้งยังเกิดสถานการณ์
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ทำให้เกิดผลกระทบต่อกิจการจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจำเป็น
ต้องปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ ยกเลิกการจ่ายเงินค่าตำแหน่งของพนักงานรวม ๑๗๐ คน
ในปี ๒๕๖๓ จำเลยมีโครงการเกษียณก่อนกำหนดและปรับลดพนักงานโดยการเลิกจ้างรวม ๔ ครั้ง จำนวน ๑๒๘ คน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทักท้วงสอบถามไปที่หัวหน้าฝ่ายบุคคลของจำเลย ร้องเรียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วย และฟังได้ว่า
โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยหักเงินค่าตำแหน่งของโจทก์ เหตุที่จำเลยต้องยกเลิกค่าตำแหน่งของโจทก์
เพื่อความอยู่รอดขององค์กรเนื่องจากกิจการขายหนังสือพิมพ์ขาดทุน โดยที่จำเลยไม่ได้ปรับลดเงินเดือนหรือสวัสดิการส่วนอื่นของพนักงาน โจทก์ไม่เคยโต้แย้งเรื่องยกเลิกเงินค่าตำแหน่ง เพิ่งจะยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวอ้างเมื่อฟ้องคดีนี้ จำเลยไม่เคยทราบจากฝ่ายบุคคลและเรื่องที่โจทก์ไปร้องเรียน และหากโจทก์
ไปร้องเรียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจริง จำเลยย่อมถูกเรียกไปชี้แจงแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว โจทก์จึงไม่ขอหมายเรียกพยานมาสืบพิสูจน์เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงจากคำเบิกความลอย ๆ ของโจทก์แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยหักเงินค่าตำแหน่ง เป็นการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน
ที่ไม่เป็นประโยชน์แห่งความยุติธรรมนั้น ศาลแรงงานกลางได้ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยหักเงินค่าตำแหน่ง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว
เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์
ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เงินค่าตำแหน่งต้องนำมารวมกับเงินเดือน
เพื่อคำนวณค่าชดเชยหรือไม่ และการที่จำเลยยกเลิกการจ่ายเงินค่าตำแหน่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพ
การจ้างหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่า
โจทก์มิได้มีค่าจ้างอันประกอบด้วยเงินเดือน ค่าตำแหน่ง ค่าพาหนะ และค่าโทรศัพท์ รวมเป็นอัตราค่าจ้างเดือนละ ๓๗,๕๐๐ บาทตามฟ้อง ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะเรียกชื่ออื่นใดแต่มีความมุ่งหมายในการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการเหมาจ่ายรายเดือน มีจำนวนแน่นอนและเท่ากันทุกเดือน เงินค่าตำแหน่งเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท จึงเป็นค่าจ้าง อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าเงินค่าตำแหน่งเป็นสวัสดิการที่จำเลยจ่ายให้โจทก์
มิได้มีความประสงค์ให้เป็นเงินเดือนอันเป็นค่าจ้าง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย เมื่อเงินค่าตำแหน่งเป็นค่าจ้างจึงต้องนำมารวมกับเงินเดือน
เพื่อคำนวณค่าชดเชย และยังเป็นสภาพการจ้างตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วย การที่จำเลยยกเลิกเงินค่าตำแหน่งจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
ในลักษณะที่ไม่เป็นคุณกับโจทก์ จำเลยไม่อาจทำได้แต่ฝ่ายเดียวโดยที่โจทก์ไม่ยินยอม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยยกเลิกเงินค่าตำแหน่งของโจทก์ไม่ชอบและให้นำเงินค่าตำแหน่งมารวมกับเงินเดือน
เพื่อคำนวณค่าชดเชย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์
เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและปรากฏข้อเท็จจริง
ที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ ด. ก่อนเลิกจ้างโจทก์นั้นจำเลย
ประสบปัญหาประชาชนอ่านข่าวหนังสือพิมพ์น้อยลงแต่รับทราบข้อมูลต่าง ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ทำให้จำเลยขาดทุนโดยตลอด ในปี ๒๕๖๓ ถึง ปี ๒๕๖๕ จำเลยขาดทุนประมาณ ๓๕ ล้านบาท ๓ ล้านบาท และ ๔๒ ล้านบาท ตามลำดับ เดือนมกราคม ๒๕๖๖ ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ จำเลยขาดทุนประมาณ ๓๑ ล้านบาท จำเลยประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ เมื่อมีผู้อ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง แต่เปลี่ยนไปรับทราบข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากยิ่งขึ้น จึงทำให้กระทบกระเทือนกิจการจำเลยอย่างมาก เป็นผลทำให้จำเลยขาดทุนต่อเนื่องมาโดยตลอดหลายปีและยังขาดทุนอยู่อีก การลดจำนวนลูกจ้างลงโดยการเลิกจ้าง
จึงเป็นการบริหารกิจการภายในเพื่อพยุงองค์กรของจำเลยไว้ให้อยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน กรณีจึงมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์
ของจำเลยฟังขึ้น

         พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้
ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

 

(ฤทธิรงค์ สมอุดร – พนารัตน์ คิดจิตต์ – วรศักดิ์ จันทร์คีรี)

ธัชวุทธิ์ พุทธิสมบัติ - ย่อ

สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ