คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 803/2567  นาย ร.                                       โจทก์

                                                                   บริษัท อ.                                  จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 169

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑9 วรรคท้าย

            แม้จำเลยจะระบุเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.๑๑ ก็ตาม
แต่การที่จำเลยนำหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวไปปิดประกาศที่กระดานข่าวประชาสัมพันธ์องค์กรที่สำนักงาน
ของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยทราบดีว่าโจทก์ไม่มารายงานตัวและไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ แล้ว จึงเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง
ที่กระทำต่อโจทก์ซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ซึ่งกฎหมายให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้น
ไปถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙ เมื่อศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า ไม่ปรากฏว่ามีการส่งหนังสือเลิกจ้างให้แก่โจทก์หรือแจ้งให้โจทก์ทราบไม่ว่าโดยวิธีใด เพื่อให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้างถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างตามที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง เท่ากับโจทก์
ยังไม่ทราบถึงการเลิกจ้างพร้อมเหตุแห่งการเลิกจ้างตามประกาศของจำเลยดังกล่าว แต่โจทก์มาทราบเองในภายหลังทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่
๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างตามที่
จำเลย
ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างตามเอกสารหมาย ล.๑๑ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้าง
ให้โจทก์ทราบในขณะที่บอกเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังตาม
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ วรรคท้าย

______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างชำระระหว่างวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ จำนวน ๔๑,๕๘๐ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๑,๐๗๑,๑๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๕๙,๕๐๐ บาท ค่าชดเชย ๕๙๕,๐๐๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๓,๘๘๓ บาท และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนสมทบของจำเลย ๒๐๓,๗๘๗ บาท
รวมเป็นเงิน ๑,๙๘๔,๘๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่า
จะชำระเสร็จ

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ๕๙๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ ) จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก

         โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบธุรกิจด้านการรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ มีหน่วยงานกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ และในต่างประเทศเกินกว่า ๑๐๐ หน่วยงานขึ้นไป เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๗
จำเลยว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งวิศวกรเครื่องกล สังกัดศูนย์บริการเครื่องจักรประตูน้ำพระอินทร์ ฝ่ายซ่อมเครื่องจักรกลหนัก หน่วยงาน เจ.๖๗๕ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นวิศวกรอาวุโส ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๙,๕๐๐ บาท จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.๕ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕
จำเลยกำหนดให้หน่วยงาน เจ.๖๗๕ สร้างโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อผลิตทรายทั้งโครงการและวัสดุชั้นหินโรยทางจัดส่งให้หน่วยงาน เจวี.๒๓ งานก่อสร้างทางรถไฟสาย เด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ สัญญาที่ ๑ ช่วงเด่นชัย – งาว ตามที่จำเลยประมูลงานได้ โจทก์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานอำนวยการผลิตทรายทั้งโครงการและวัสดุชั้นหินโรยทาง และจำเลยมีคำสั่งให้โอนย้ายโจทก์
ไปประจำที่หน่วยงาน เจวี.๒๓ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายควบคุมการผลิต ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลย โดยไม่ยินยอมโยกย้ายไปปฏิบัติงานดังกล่าว วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ หน่วยงาน เจวี.๒๓ มีหนังสือแจ้งฝ่ายบุคคลและกฎหมายสำนักงานใหญ่ว่าโจทก์ไม่มารายงานตัว
เพื่อทำงาน อันเป็นสาเหตุของการเลิกจ้าง โจทก์ได้ให้ความยินยอมและสัญญาว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไข คำสั่ง ระเบียบ และกฎข้อบังคับของจำเลยเมื่อตอนเริ่มทำงาน และตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
ของจำเลย หมวด ๕ วินัยและการลงโทษ ข้อ ๑๕.๑๑ ระบุว่า พนักงานต้องไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือขัดคำสั่งใด ๆ ที่ผู้บังคับบัญชาสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานผู้อื่น จนอาจเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย พนักงานซึ่งประพฤติผิดวินัย
ตามข้อดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และหมวด ๗ การโยกย้าย การลาออก และการเลิกจ้าง ข้อ ๑๘ ระบุว่า จำเลยอาจพิจารณาโยกย้ายพนักงานของจำเลยให้ไปทำงาน ณ หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกเขตกรุงเทพมหานคร หรือต่างประเทศได้ตามที่เห็นสมควร พนักงานผู้นั้น
ต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด หากขัดขืนถือว่าเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการสังคม แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายให้โจทก์ไปทำงาน
ที่หน่วยงาน เจวี.๒๓ มิใช่การย้ายไปทำงานในตำแหน่งหรือได้รับค่าจ้างรวมถึงสวัสดิการที่ต่ำกว่าเดิม
แม้การย้ายสถานที่ทำงานจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของโจทก์บ้างก็ถือเป็น
เรื่องปกติ โจทก์ไม่อาจยกข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาสุขภาพของตนและบุคคลในครอบครัวมากล่าวอ้าง
เพื่อปฏิเสธการย้ายไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงตามสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยได้ งานที่หน่วยงาน เจวี.๒๓ เป็นงานในขอบเขตหน้าที่ในระดับภาคีวิศวกรที่โจทก์ถือใบอนุญาต
ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอยู่ โจทก์สามารถทำงานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณ
งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ และงานอำนวยการใช้ได้ตามขอบเขต
ที่กำหนด ยกเว้นเฉพาะงานให้คำปรึกษาเท่านั้น ทั้งเมื่อปี ๒๕๖๓ โจทก์ยังเคยได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการจัดซื้อด้วย ดังนั้นการที่จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ให้ไปดูแลการควบคุมการผลิตทราย
และวัสดุชั้นหินโรยทาง ติดตั้งและควบคุมเครื่องจักร โจทก์ย่อมสามารถทำงานร่วมกับทีมงานที่ถูกจัดส่งไปได้ตามขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของตน การโยกย้ายโจทก์ไปทำงานที่หน่วยงาน เจวี.๒๓
เป็นการพิจารณาตามความจำเป็นของหน่วยงานตามความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสม
ของพนักงาน เป็นสิทธิที่จำเลยกระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามปกติธุรกิจของจำเลย
คำสั่งย้ายให้โจทก์ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ส่วนที่โจทก์เบิกความอ้างว่างาน
ที่หน่วยงาน เจวี.๒๓ เป็นกิจการร่วมค้าระหว่างจำเลยกับบริษัท น. ซึ่งถือเป็นอีกนิติบุคคลหนึ่ง ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนนั้น ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ากิจการร่วมค้าดังกล่าวมีการจดทะเบียน
เป็นนิติบุคคล เมื่อจำเลยประกอบธุรกิจด้านการรับเหมางานก่อสร้างขนาดใหญ่ทั่วประเทศรวมทั้ง
ในต่างประเทศ มีหน่วยงานกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ และในต่างประเทศเกินกว่าร้อยหน่วยงานขึ้นไป พนักงานต้องโยกย้ายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ เป็นปกติ ซึ่งหน่วยงาน เจ.๖๗๕ ก็โยกย้ายพนักงาน
ไปยังหน่วยงานอื่นโดยตลอด การที่โจทก์ปฏิเสธที่จะโยกย้ายไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลย จึงทำให้จำเลยไม่สามารถบังคับบัญชาโจทก์ได้และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการจ้างโจทก์เข้าทำงาน ย่อมกระทบต่อแผนการประกอบธุรกิจของจำเลย ความเชื่อมั่นของคู่สัญญาที่มีต่อจำเลยและย่อมส่งผลต่อธุรกิจ
ของจำเลยโดยตรง ทำให้งานล่าช้ากว่าแผนงานที่วางไว้ และทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขาดวิศวกรอำนวยการงานผลิตทรายทั้งโครงการและวัสดุชั้นหินโรยทาง การกระทำของโจทก์จึงเป็นกรณีที่ร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอ
เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามสัญญา
จ้างแรงงานและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งย้ายดังกล่าว การที่โจทก์
ไม่ปฏิบัติตามและไม่ปฏิบัติงานตามหน้าที่หรือตามที่ได้รับมอบหมาย ถือได้ว่าจงใจขัดคำสั่งของจำเลย
อันชอบด้วยกฎหมาย ละทิ้งการงานไป กระทำความผิดอย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำอันไม่สม
แก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อโจทก์ไม่ไปทำงานที่หน่วยงาน เจวี.๒๓ ตามคำสั่งของจำเลยตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ จนจำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์ให้ปฏิบัติตามคำสั่งโยกย้ายอย่างเคร่งครัด และให้โจทก์ไปรายงานตัวยังหน่วยงาน เจวี.๒๓ แต่โจทก์ก็ยังไม่ไปรายงานตัวและไม่ไปทำงานที่หน่วยงาน เจวี.๒๓ ตามคำสั่งของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน
ตามสัญญาจ้างจากจำเลย และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรง รวมทั้งละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
จนเป็นเหตุให้มีการเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้าง
ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้าง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินสมทบส่วน
ของนายจ้างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยนำหนังสือเลิกจ้างโจทก์
ไปปิดประกาศไว้ที่กระดานข่าวประชาสัมพันธ์องค์กร โดยไม่ปรากฏว่ามีการส่งหนังสือเลิกจ้าง
ให้แก่โจทก์หรือแจ้งให้โจทก์ทราบไม่ว่าโดยวิธีใด เพื่อให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้างถึงข้อเท็จจริง
อันเป็นเหตุที่เลิกจ้างตามที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง แต่โจทก์เพิ่งทราบภายหลังทางโทรศัพท์ในวันที่
๒๐ กันยายน ๒๕๖๕ จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าถูกจำเลยเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้โจทก์ทราบในขณะที่บอกเลิกจ้าง แม้โจทก์จะฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยและละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุ
อันสมควรอันเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ปฏิเสธ
ไม่จ่ายค่าชดเชยในภายหลังไม่ได้ เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยมาตั้งแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๗ จนกระทั่งถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ โจทก์จึงทำงานติดต่อกันครบสิบปีแต่ไม่ครบยี่สิบปี จำเลย
จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันเป็นเงิน ๕๙๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ตามที่โจทก์ขอ

         ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำสั่งโยกย้ายงานโจทก์ไปทำงานที่หน่วยงาน เจวี.๒๓ เป็นการกลั่นแกล้ง เนื่องจากโจทก์และบุคคลในครอบครัวมีปัญหาสุขภาพ ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ตามนัดหมาย
การย้ายสถานที่ทำงานส่งผลกระทบต่อสุขภาพของโจทก์อย่างรุนแรง เมื่อจำเลยได้รับการร้องขอ
และชี้แจงเหตุผลทางด้านสุขภาพจากโจทก์แล้ว จำเลยยังมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ เป็นคำสั่งที่ผิดหลักมนุษยธรรมและหลักธรรมาภิบาล จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็ดี จำเลยมีพนักงานหลายพันคน ย่อมสามารถที่จะพิจารณาโยกย้ายพนักงานรายอื่นไปทำงานที่หน่วยงาน เจวี.๒๓ แทนโจทก์ได้ก็ดี พนักงานฝ่ายบุคคลของจำเลยแจ้งโจทก์ว่ายังมีระยะเวลาในการรายงานตัวอีกระยะหนึ่ง ให้โจทก์
หาหน่วยงานสังกัดที่จะลงก่อน แต่จำเลยกลับกลั่นแกล้งโจทก์ไม่ให้มีสถานที่ปฏิบัติงานที่โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม ๓ – ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันตก สัญญา ๓
ซึ่งหัวหน้างานหน่วยงานดังกล่าวแจ้งโจทก์ให้มาเริ่มงานในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๕ และเมื่อโจทก์
เข้าทำงานในวันดังกล่าวช่วงเช้าแล้ว โจทก์กลับได้รับแจ้งในตอนบ่ายว่าต้องยกเลิกการรับเข้าทำงาน
ในหน่วยงานเพราะมีความจำเป็นต้องรับพนักงานซึ่งเป็นลูกน้องเก่าของนายปิยะ อันเป็นการขัดขวาง
มิให้โจทก์ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นโจทก์จึงมิได้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร นั้น อุทธรณ์
ของโจทก์ดังกล่าวล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๑
อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำสั่งโยกย้ายโจทก์ไปทำงานที่หน่วยงาน เจวี.๒๓ เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างจากจำเลยเป็นกิจการร่วมค้า ท. จะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ เนื่องจากเป็นนิติบุคคล
แยกต่างหากจากกัน ที่นายประกอบพยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ว่ากิจการร่วมค้าดังกล่าว
ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นความเท็จ เมื่อพิจารณาจากเอกสารและเอกสารท้ายอุทธรณ์ ก็ปรากฏว่าจำเลยและกิจการร่วมค้าดังกล่าวมีเลขทะเบียนนิติบุคคลต่างกัน ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นถึงความเป็นนิติบุคคลของกิจการร่วมค้าดังกล่าว การพิจารณาคดีแรงงานนั้นกฎหมายมุ่งคุ้มครองลูกจ้างซึ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบนายจ้าง จึงต้องรับฟังว่าจำเลย
กับกิจการร่วมค้า ท. มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่แยกจากกัน คำสั่งโยกย้ายโจทก์ไปทำงาน
ที่หน่วยงานเจวี. ๒๓ เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง เมื่อไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ย่อมเป็นคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมนั้น ในคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างถึงเรื่องการเปลี่ยนตัวนายจ้างดังที่กล่าวอ้างในอุทธรณ์ แม้ศาลแรงงานภาค ๑ จะยินยอมให้โจทก์นำสืบในประเด็นที่ไม่ปรากฏ
ในคำฟ้อง ก็เป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกประเด็น และแม้ศาลแรงงานภาค ๑ จะวินิจฉัย
ในเรื่องดังกล่าวมาในคำพิพากษาก็ไม่ชอบเช่นกัน การที่โจทก์ยกประเด็นนี้ขึ้นอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์
ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค ๑ เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่รับวินิจฉัย

         คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะระบุเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.๑๑
ก็ตาม แต่การที่จำเลยนำหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวไปปิดประกาศที่กระดานข่าวประชาสัมพันธ์องค์กร
ที่สำนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยทราบดีว่าโจทก์ไม่มารายงานตัวและไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ แล้ว จึงเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างที่กระทำต่อโจทก์ซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ซึ่งกฎหมายให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับการแสดงเจตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙
เมื่อศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า ไม่ปรากฏว่ามีการส่งหนังสือเลิกจ้างให้แก่โจทก์หรือแจ้ง
ให้โจทก์ทราบไม่ว่าโดยวิธีใด เพื่อให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้างถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้าง
ตามที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง เท่ากับโจทก์ยังไม่ทราบถึงการเลิกจ้างพร้อมเหตุแห่งการเลิกจ้าง
ตามประกาศของจำเลยดังกล่าว แต่โจทก์มาทราบเองในภายหลังทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างตามที่จำเลยระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างตามเอกสารหมาย ล.๑๑
ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้โจทก์ทราบในขณะที่บอกเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ วรรคท้าย
ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย ส่วนคำพิพากษา
ศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้ อุทธรณ์ของจำเลย
ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(ภูมิวุฒิ พุทธสุอัตตา – นาวี สกุลวงศ์ธนา – อิสรา วรรณสวาท)

พรรณทิพย์ วัฒนกิจการ - ย่อ

สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ