คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1752/2565 บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด โจทก์
                                                                      ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)
                                                                           โดยธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

                                                                      และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)

                                                                      ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน       เจ้าหนี้

                                                                      บริษัทดี.เอ็ม.เอส.เรียลเอสเตท จำกัด

                                                                      กับพวก                                 จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๙ (๓), ๒๙๑, ๒๙๖, ๓๐๑

         ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ ๒ หม่อมราชวงศ์ บ. และธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในคดีแพ่ง เนื่องจากเป็นความผิดอย่างเดียวในวาระและสถานที่เดียวกัน
อีกทั้งโจทก์ในคดีแพ่งมิได้มีส่วนทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย
และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายเดียวกัน จึงเป็นกรณีบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดนั้นต่อโจทก์
ในคดีดังกล่าวอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๐๑ ประกอบด้วยมาตรา ๒๙๑ ส่วนการที่ผู้กระทำละเมิดแต่ละคนจะรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องระหว่างผู้กระทำละเมิดด้วยกันเอง แต่เมื่อพฤติการณ์ความร้ายแรงของการกระทำละเมิดของบุคคลทั้งสามมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน บุคคลทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดเท่า ๆ กัน ทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและหนี้ที่ใช้สิทธิไล่เบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๙ (๓) ประกอบด้วยมาตรา ๒๙๖ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเงินที่โจทก์ในคดีแพ่งอายัดเงินธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ถือว่าเป็นวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินไว้แทนโจทก์
คดีดังกล่าว และเป็นวันที่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ได้ชำระหนี้ทั้งจำนวนให้โจทก์ เจ้าหนี้
ซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิคำขอรับชำระหนี้คดีนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่วันที่
๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ในคดีแพ่งได้รับชำระหนี้ไม่

______________________________

         คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๓

         เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้รายที่ ๓ ในมูลหนี้ละเมิดและสิทธิไล่เบี้ย เป็นเงิน ๘๐,๖๑๓,๙๐๒.๗๓ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๒ ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๔

         เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐๔ แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้

         ระหว่างสอบสวนธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้
แทนธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาต

         เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า คำพิพากษาของศาลแพ่งระบุให้ลูกหนี้ที่ ๒ ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมและหม่อมราชวงศ์บัณฑิตย์ จำเลยที่ ๒ ในคดีดังกล่าว ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ในคดีดังกล่าว ถือว่าเจ้าหนี้เดิมและลูกหนี้ที่ ๒ ไม่มีพฤติการณ์
ที่จะต้องรับผิดยิ่งหย่อนไปกว่ากันจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อเจ้าหนี้เดิมชำระหนี้ให้โจทก์ในคดีดังกล่าวแล้ว จึงมีสิทธิไล่เบี้ยจากลูกหนี้ที่ ๒ ได้เพียงส่วนที่ชำระหนี้แทนไปเท่านั้น โดยให้ลูกหนี้ที่ ๒
รับผิดหนึ่งในสามส่วน และเห็นควรให้เจ้าหนี้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้รับชำระหนี้เป็นเงิน ๒๒,๒๓๘,๙๙๐.๖๘ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๒ ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน โดยให้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐ (๗) ส่วนที่ขอมาเกินให้ยก

         ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

         ระหว่างระยะเวลาอุทธรณ์ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาต

         เจ้าหนี้อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีที่นายมานพ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเสรี ยื่นฟ้องลูกหนี้ที่ ๒ เป็นจำเลยที่ ๑ หม่อมราชวงศ์บัณฑิตย์ เป็นจำเลยที่ ๒ ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ ๔ และบุคคลอื่นรวมห้าคน เป็นคดีหมายเลขแดงที่
๑๕๔๙๗/๒๕๔๓ โดยให้ลูกหนี้ที่ ๒ หม่อมราชวงศ์บัณฑิตย์ และธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน)
ชดใช้เงิน ๒๓,๘๑๗,๐๐๐ บาท คืนให้แก่บริษัทนิลุบลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พร้อมดอกเบี้ยอัตรา
ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๖ เป็นต้นไปจนกว่าจะชดใช้ครบถ้วน และให้ลูกหนี้ที่ ๒ หม่อมราชวงศ์บัณฑิตย์ และธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
โดยกำหนดค่าทนายความ ๖๐,๐๐๐ บาท ยกฟ้องจำเลยอื่น ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๑๑/๒๕๕๓ ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ระหว่างการพิจารณา
ของศาลอุทธรณ์ ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ได้โอนกิจการให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้คดีนี้ โจทก์ในคดีดังกล่าว
ได้อายัดเงินของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) และธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเงินที่อายัดจำนวน ๔๗,๓๑๐,๓๓๔ บาท ซึ่งโจทก์คดีดังกล่าวรับเงินไป ๔๕,๔๐๐,๗๘๘.๘๐ บาท และคืนเงิน ๑๖๙,๖๕๖.๓๓ บาท ให้ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับ
ชำระหนี้เพียงใด เห็นว่า ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๕๔๙๗/๒๕๔๓ ให้ลูกหนี้ที่ ๒ หม่อมราชวงศ์บัณฑิตย์ และธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในคดีดังกล่าว เนื่องจากเป็นความผิดอย่างเดียวในวาระและสถานที่เดียวกัน อีกทั้งโจทก์ในคดีดังกล่าวมิได้มีส่วน
ทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายเดียวกัน จึงเป็นกรณีบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดนั้นต่อโจทก์ในคดีดังกล่าวอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๑ ประกอบด้วยมาตรา ๒๙๑ ส่วนการที่ผู้กระทำละเมิดแต่ละคนจะรับผิด
ในความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องระหว่างผู้กระทำละเมิดด้วยกันเองตามที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์การกระทำละเมิดของลูกหนี้ที่ ๒ หม่อมราชวงศ์บัณฑิตย์และเจ้าหนี้
ซึ่งต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๔๕  พบว่าลูกหนี้ที่ ๒ และหม่อมราชวงศ์บัณฑิตย์ร่วมกันทำรายงานการประชุม
ของบริษัทนิลุบลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อันเป็นเท็จว่าที่ประชุมของบริษัทนิลุบลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ลงมติให้ลูกหนี้ที่ ๒ กับหม่อมราชวงศ์บัณฑิตย์เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันในนามบริษัทนิลุบลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และให้บุคคลทั้งสองมีอำนาจกระทำการแทน รวมทั้งมีอำนาจนำเช็ค
ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จ่ายคืนให้บริษัทนิลุบลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก
ที่เปิดแทนบริษัทนิลุบลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ และต่อมาก็ดำเนินการเปิดบัญชีกับธนาคารศรีนคร
จำกัด (มหาชน) รวมทั้งถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว ส่วนธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ก็ต้องร่วมรับผิด
ในการกระทำของตัวแทนที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทั้งที่ทราบว่าบริษัทนิลุบลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดตกเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งลูกหนี้ที่ ๒ และหม่อมราชวงศ์บัณฑิตย์ไม่มีอำนาจดำเนินการแทน โดยอำนาจตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒
และมาตรา ๒๔ ยังดำเนินการเปิดบัญชีและจ่ายเงินจากบัญชี ตามพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า
ความร้ายแรงของการกระทำละเมิดของบุคคลทั้งสามมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้น บุคคลทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดเท่า ๆ กัน ทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและหนี้ที่ใช้สิทธิไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๙ (๓) ประกอบด้วยมาตรา ๒๙๖ แต่ทางสอบสวนได้ความว่าธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเงินที่โจทก์ในคดีแพ่งอายัดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ถือว่าเป็นวันที่
เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินไว้แทนโจทก์คดีดังกล่าว และเป็นวันที่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน)
ได้ชำระหนี้ทั้งจำนวนให้โจทก์ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ ที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ ๓ ฟังขึ้นบางส่วน

         พิพากษาแก้เป็นว่าให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน ๒๒,๓๓๒,๖๒๖.๒๗ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๒ ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
มาตรา ๑๓๐ (๗) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์
ให้เป็นพับ.

(ฐานิต ศิริจันทร์สว่าง – วิเชียร วชิรประทีป – องอาจ งามมีศรี)

นราธิป บุญญพนิช  - ย่อ

                                                                                                                          สุรัชฎ์  เตชัสวงศ์ - ตรวจ