คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1574/2565 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์
บริษัทเอสทีดี โซลูชั่น จำกัด กับพวก จำเลย
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔
หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม
ของศาลแพ่งที่จำเลยทั้งสองยังค้างชำระอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย มูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงสามารถคำนวณได้ว่าเมื่อถึงวันฟ้องคดีล้มละลายจำเลยทั้งสองยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเท่าใด ลักษณะแห่งมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายจึงเป็นหนี้
ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ส่วนที่จำเลยทั้งสองให้การและนำสืบว่า หลังจากศาลแพ่ง
มีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองตกลงทำบันทึกข้อตกลง
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ มีข้อตกลงให้นำที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 รวม ๕ แปลง ตีมูลค่า 41,000,000 บาท และให้โจทก์ขอรับเงินประกันชดเชย L/G จากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นเงิน 40,000,000 บาท เมื่อนำหลักทรัพย์ทั้งสองประเภทหักกับภาระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว คงเหลือภาระหนี้เพียง 3,240,027.13 บาท แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลก็เป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาก็เป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท เข้าเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ส่วนจำนวนหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับชำระเพียงใดเป็นขั้นตอนที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการในชั้นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไป
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองในมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่
ผบ.14๘6/2559 ซึ่งศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 จำเลยทั้งสองเข้าปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ โดยนำหลักทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ที่จำนองโฉนดที่ดินเลขที่ 123671, 123673, ๑๒๓๖๗๔, 123675 และ 123676 ตำบลพืชอุดม อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ของจำเลยที่ 1 ตีใช้หนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งเป็นเงิน 41,000,000 บาท โจทก์คำนวณยอดหนี้ตามคำพิพากษาถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์คิดเป็นเงินต้น 74,952,815.20 บาท ดอกเบี้ย 83,389,041.27 บาท บวกค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความ และนำเงินราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ตีชำระหนี้ 41,000,000 บาท มาหักออก จำเลยทั้งสองยังมีหนี้ค้าง 118,940,757.71 บาท โจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง
ณ ภูมิลำเนาแล้ว ไม่พบว่าจำเลยทั้งสองมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตดังกล่าว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีว่า หนี้ตามคำฟ้องโจทก์เป็นหนี้
ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ และจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวกับมีเหตุอื่นที่ไม่ควร
ให้จำเลยทั้งสองล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเป็นหนี้
ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งที่จำเลยทั้งสองยังค้างชำระอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย
มูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงสามารถคำนวณได้ว่าเมื่อถึงวันฟ้องคดีล้มละลายจำเลยทั้งสองยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเท่าใด ลักษณะแห่งมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสอง
เป็นคดีล้มละลายจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ส่วนที่จำเลยทั้งสองให้การและนำสืบว่า หลังจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองตกลง
ทำบันทึกข้อตกลงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ มีข้อตกลงให้นำที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 รวม ๕ แปลง ตีมูลค่า 41,000,000 บาท และให้โจทก์ขอรับเงินประกันชดเชย L/G จากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นเงิน 40,000,000 บาท เมื่อนำหลักทรัพย์ทั้งสองประเภทหัก
กับภาระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว คงเหลือภาระหนี้เพียง 3,240,027.13 บาท แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลก็เป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า
สองล้านบาท และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาก็เป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า
หนึ่งล้านบาท เข้าเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ส่วนจำนวนหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับชำระเพียงใดเป็นขั้นตอน
ที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการในชั้นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไป เมื่อก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองแล้วปรากฏว่า จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด
ที่จะพึงยึดมาชำระหนี้โจทก์ได้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) ว่า จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานหักล้าง
ข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองไม่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสอง
ยังประกอบกิจการเป็นปกติ มีความสามารถชำระหนี้โจทก์ได้ กรณีจึงถือว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองยังประกอบธุรกิจ
อยู่ตามปกติ และมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสอง
จึงเป็นข้ออ้างลอย ๆ รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ทั้งหมด และเมื่อปรากฏว่าหลังจากจำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงการปรับปรุงโดยสร้างหนี้กับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2559 จำเลยทั้งสองก็ไม่เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกเลย แสดงว่าจำเลยทั้งสอง
มิได้ขวนขวายที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ จึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.
(พูนศักดิ์ เข็มแซมเกษ - จักรพันธ์ สอนสุภาพ - ปฏิกรณ์ คงพิพิธ)
นราธิป บุญญพนิช - ย่อ
สุรัชฎ์ เตชัสวงศ์ - ตรวจ