คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1579/2565 สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเพชรบูรณ์ จำกัด โจทก์
นางอาภัสรา สายทองมาตร์ กับพวก จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔, ๓๗๙, ๓๘๓ วรรคหนึ่ง, ๔๓๘ วรรคหนึ่ง
พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔ มาตรา ๔, ๗
โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน
แต่ค่าเสียหายในมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวเป็นค่าเสียหายในมูลกรณีเดียวกัน
เมื่อข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ ๔ วรรคหนึ่ง มีลักษณะเป็นการทำสัญญากำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร อันเป็นเบี้ยปรับ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๗๙ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง การที่ศาลแรงงานภาค ๖ กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย แม้จะวินิจฉัยอย่างรวบรัด แต่เมื่อพิจารณาการวินิจฉัย
ของศาลแรงงานภาค ๖ แล้ว พออนุมานได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลแรงงานภาค ๖ ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในมูลละเมิด และลดเบี้ยปรับในค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยถือว่า
เป็นค่าเสียหายจำนวนเดียวกับค่าเสียหายในมูลละเมิด ซึ่งการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง
กับนาง น. ต่อโจทก์เป็นต่างคนต่างทำละเมิด ผลแห่งความรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์
จึงแบ่งแยกกันได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์เต็มตามที่นาง น. ทุจริต
รับเงินกู้ไปจากโจทก์ ศาลแรงงานภาค ๖ จึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๘ วรรคหนึ่ง เมื่อการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในมูลละเมิด และลดเบี้ยปรับลงมากน้อยเพียงใด
เป็นปัญหาข้อเท็จจริง กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
การประกาศใช้ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔
โดยมาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๒๔ แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา ๗ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๒๔ ที่แก้ไขใหม่ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔ มีผลใช้บังคับในวันที่
๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๗ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปี แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยตามมาตรา ๗
อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ศาลจึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ย
ตามพระราชกำหนดดังกล่าว มูลหนี้ในคดีนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔ ใช้บังคับ การที่ศาลแรงงานภาค ๖ กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
______________________________
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกัน
ชดใช้เงิน ๖,๒๓๖,๘๕๖.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๔,๕๑๖,๕๑๕.๘๔ บาท
นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๖ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้เงิน ๘๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษากลับให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
และแก้คำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๖ เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่
โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โดยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค ๖ ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า จำเลยทั้งสอง
ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใด โจทก์ได้รับชำระหนี้จากนางนัยนาในมูลหนี้
ตามสำเนาหนังสือกู้สำหรับกู้เงินสามัญ และได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวจากกองทรัพย์สิน
ของนางนัยนาในคดีล้มละลาย ของศาลล้มละลายกลาง จำนวนเท่าใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานภาค ๖ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่
๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๖ ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ภายหลังเกิดเหตุนางนัยนายอมชำระหนี้ทั้งของตนเองและในส่วนที่ทุจริตรับเงินกู้แทนนางประกอบ และนายกก โดยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ไว้ แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ครบถ้วน โจทก์จึงฟ้องนางนัยนาเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ โจทก์และนางนัยนา
ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยนางนัยนายอมชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน ๔,๕๒๓,๒๐๖.๗๓ บาท ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์มีคำพิพากษาตามยอม นางนัยนาผ่อนชำระเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท ได้ ๕ เดือน เดือนสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ ซึ่งชำระต้นเงินได้บางส่วนแล้วไม่ชำระอีกเลย โจทก์นำเงินฝากออมทรัพย์ของนางนัยนามาหักชำระดอกเบี้ย และดำเนินการบังคับคดี
ได้เงินน้อยกว่าส่วนของดอกเบี้ยค้างชำระ นางนัยนาส่งชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์มาแล้ว
เป็นต้นเงิน ๑,๔๖๘,๙๙๘.๖๕ บาท ดอกเบี้ย ๑,๖๐๖,๓๒๔.๔๙ บาท รวมเป็นเงิน ๓,๐๗๕,๓๒๒.๘๔ บาท เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ โจทก์ฟ้องขอให้นางนัยนาเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลล้มละลายกลาง
มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนางนัยนาเด็ดขาดเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๑ ต่อมาวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๒ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของนางนัยนา แล้ววินิจฉัยว่า เงิน ๓,๐๗๕,๓๒๒.๘๔ บาท
ที่นางนัยนาส่งชำระให้แก่โจทก์มานั้น เป็นการชำระหนี้ในส่วนที่นางนัยนาเองเป็นผู้กู้เงินโจทก์
สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลจังหวัดเพชรบูรณ์มีคำพิพากษาตามยอมทำให้หนี้ตามสำเนาหนังสือกู้สำหรับกู้เงินสามัญระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าเป็นของตน ในส่วนคดีล้มละลาย เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย
ของนางนัยนา จึงไม่มีกองทรัพย์สินของนางนัยนาให้ขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งนี้ นางนัยนายังคงเป็นหนี้
ที่ทุจริตรับเงินกู้แทนนางประกอบและนายกกในจำนวนตามคำพิพากษาตามยอมของ
ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นต้นเงิน ๔,๕๑๖,๕๑๕.๘๔ บาท ดอกเบี้ย ๒,๑๙๑,๔๗๕.๘๗ บาท รวมเป็นเงิน ๖,๗๐๗,๙๙๑.๗๑ บาท อันเป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำของนางนัยนาและจำเลยทั้งสอง ซึ่งแตกต่างกันในลักษณะของการกระทำ อันเป็นหนี้ที่แบ่งแยกกันได้ สมควรแยกความรับผิด
ของนางนัยนาและจำเลยทั้งสองให้เหมาะสม โดยกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำเป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิด
และผิดสัญญาจ้างแรงงาน แต่ค่าเสียหายในมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวเป็นค่าเสียหาย
ในมูลกรณีเดียวกัน เมื่อข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงาน เอกสารหมาย จ.๒๒ และ จ.๒๘ ข้อ ๔ วรรคหนึ่ง
มีลักษณะเป็นการทำสัญญากำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร อันเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๙ ซึ่งศาล
มีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง การที่ศาลแรงงานภาค ๖ กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย แม้จะวินิจฉัยอย่างรวบรัด แต่เมื่อพิจารณาการวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค ๖ แล้ว
พออนุมานได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลแรงงานภาค ๖ ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในมูลละเมิด และลดเบี้ยปรับ
ในค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยถือว่าเป็นค่าเสียหายจำนวนเดียวกับค่าเสียหาย
ในมูลละเมิด ซึ่งการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองกับนางนัยนาต่อโจทก์เป็นต่างคนต่างทำละเมิด
ผลแห่งความรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์จึงแบ่งแยกกันได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิด
ในค่าเสียหายต่อโจทก์เต็มตามที่นางนัยนา ทุจริตรับเงินกู้ไปจากโจทก์ ศาลแรงงานภาค ๖ จึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๘ วรรคหนึ่ง เมื่อการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในมูลละเมิด และลดเบี้ยปรับลงมากน้อยเพียงใดเป็นปัญหาข้อเท็จจริง กรณีจึงไม่มีเหตุ
ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า การที่ศาลแรงงานภาค ๖ กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โดยที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยมาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๒๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา ๗ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๒๔ ที่แก้ไขใหม่ใช้
แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔ มีผลใช้บังคับในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๗
บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปี แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยตามมาตรา ๗ อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลง
หรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ศาลจึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามพระราชกำหนดดังกล่าว มูลหนี้ในคดีนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔
ใช้บังคับ การที่ศาลแรงงานภาค ๖ กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
ของต้นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๐) เป็นต้นไป
จนถึงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๔ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท
นับแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยนับแต่วันที่
๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ ให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา
ศาลแรงงานภาค ๖.
(ไพรัช โปร่งแสง - วิโรจน์ ตุลาพันธุ์ - ปณิธาน วิสุทธากร)
มนุเชษฐ์ โรจนศิริบุตร - ย่อ
อิสรา วรรณสวาท - ตรวจ