คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 82 – 88 นางกรองศร ศรีเมือง กับพวก โจทก์
/2562 บริษัทไทย โอ เค เค
แมชินเนอรี่ จำกัด จำเลย
ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๒
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑, ๔๙
โจทก์ทั้งเจ็ดบรรยายฟ้องว่า จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยประกอบกิจการขาดทุน ต่อมาภายหลังทราบว่าจำเลยไม่ได้ขาดทุน ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งเจ็ด ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น เพียงพอที่จำเลยสามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ส่วนจำเลยประกอบกิจการขาดทุนอย่างไรเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งเจ็ดนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่เคลือบคลุม
กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ถึงปี ๒๕๕๙ โดยผลประกอบการของจำเลยตามรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ขาดทุน ๓๐,๐๕๒,๘๔๓.๑๕ บาท เป็นเหตุให้จำเลยต้องปรับโครงสร้างโดยประสงค์จะเลิกกิจการและโอนกิจการระหว่างบริษัทในเครือ จึงมีการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งเจ็ด การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจการดำเนินกิจการทางการค้าของจำเลย เมื่อการเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดมีสาเหตุเนื่องมาจากจำเลยประสบภาวะการขาดทุนต้องปรับโครงสร้างในการบริหารกิจการ ส่วนการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ไม่ปรากฏว่ามีการเลือกปฏิบัติ และมิได้เจาะจงเลิกจ้างเฉพาะโจทก์ทั้งเจ็ดเท่านั้น ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด และมีการยื่นข้อเสนอให้โจทก์ทั้งเจ็ดไปทำงานกับบริษัทโอเคเค แมชชีน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
______________________________
คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๗ และเรียกจำเลยทั้งเจ็ดสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๑๔๕,๓๕๐ บาท โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๓๓๙,๓๗๒ บาท โจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๕๗,๓๔๗ บาท โจทก์ที่ ๔ เป็นเงิน ๒,๔๔๔,๗๐๐ บาท โจทก์ที่ ๕ เป็นเงิน ๖๐๐,๖๐๐ บาท โจทก์ที่ ๖ เป็นเงิน ๑๕๗,๘๔๔ บาท และโจทก์ที่ ๗ เป็นเงิน ๖๖๔,๓๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๑๑๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๔ เป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๕ เป็นเงิน ๔๘๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๖ เป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๗ เป็นเงิน ๕๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
และปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยเป็นบริษัทจำกัดมีบริษัทในเครืออีก ๒ บริษัท คือ บริษัทโอเคเค แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัทโอเคเค แมชชีนเนอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเดิมชื่อบริษัทโอเคเค แมชชีน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายฮิโรชิ เป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนทั้งสามบริษัท โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ จำเลยมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดให้มีผลเลิกจ้างในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ระบุเหตุในการ
เลิกจ้างเนื่องจากการโอนกิจการ จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งเจ็ด กับยื่นข้อเสนอให้โจทก์ทั้งเจ็ด เข้าทำงานกับบริษัทโอเคเค แมชชีน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้เริ่มนับอายุงานใหม่ ต่อมา วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๐ จำเลยมีคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มระบุว่าเลิกประกอบกิจการและโอนกิจการให้แก่บริษัทโอเคเค แมชชีน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยมีทุนจดทะเบียน ๑๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผลการดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗ ขาดทุน ๑๔,๘๐๙,๙๗๗.๒๐ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ ขาดทุน ๒๒,๘๙๕,๓๘๘.๔๘ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ ขาดทุน ๖,๙๓๒,๒๗๖.๐๒ บาท และตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ขาดทุน ๓๐,๐๕๒,๘๔๓.๑๕ บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดบรรยายฟ้องว่า จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยประกอบกิจการขาดทุน ต่อมาภายหลังทราบว่าจำเลยไม่ได้ขาดทุน ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งเจ็ด ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้าง ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น เพียงพอที่จำเลยสามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องแล้ว
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ส่วนจำเลยประกอบกิจการขาดทุนอย่างไร เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งเจ็ดนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่เคลือบคลุม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการ
เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ นั้น ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ถึงปี ๒๕๕๙ โดยผลประกอบการของจำเลยตามรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ขาดทุน ๓๐,๐๕๒,๘๔๓.๑๕ บาท เป็นเหตุ
ให้จำเลยต้องปรับโครงสร้างโดยประสงค์จะเลิกกิจการและโอนกิจการระหว่างบริษัทในเครือ จึงมีการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งเจ็ด การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจการดำเนินกิจการทางการค้าของจำเลย เมื่อการเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดมีสาเหตุเนื่องมาจากจำเลยประสบภาวการณ์ขาดทุนต้องปรับโครงสร้าง ในการบริหารกิจการ ส่วนการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ไม่ปรากฏว่า
มีการเลือกปฏิบัติ และมิได้เจาะจงเลิกจ้างเฉพาะโจทก์ทั้งเจ็ดเท่านั้น ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด และมีการยื่นข้อเสนอให้โจทก์ทั้งเจ็ดไปทำงานกับบริษัทโอเคเค แมชชีน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์
ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด.
(สาโรช ทาสวัสดิ์ – สุชาติ ตระกูลเกษมสุข – ดาราวรรณ ใจคำป้อ)
ธัชวุทธิ์ พุทธิสมบัติ - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ