คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 73/2562 นางหรือนางสาวน้ำฝน อนุภัทร์
หรือรุ่งกาญจนศักดิ์ โจทก์
บริษัทไทยซัมมิท พลาสเทค จำกัด จำเลย
ป.อ. มาตรา ๓๒๖, ๓๙๓
ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๓
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑) (๒) (๔)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙, ๕๔
การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๖ นั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้นต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความดังกล่าวนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนั้นข้อความว่า “ผู้ชายหน้าตัวเมีย หน้าหี หน้าแตด แย่งที่จอดรถ กุเฉย มึนนะไอ้ควาย” ที่โจทก์พิมพ์และส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นเพียงคำด่าด้วยคำหยาบคาย มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันน่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแต่ประการใด ฉะนั้นลำพังการที่โจทก์ลงข้อความดังกล่าว จึงยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๖ แต่อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ถ่ายภาพของ ส. และพิมพ์ส่งข้อความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านโปรแกรมเฟสบุ๊คไปยังเพื่อนร่วมงานในบริษัทและบริษัทในเครือของจำเลย ซึ่งข้อความดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำด่าและหยาบคายหาใช่เป็นแต่เพียงคำไม่สุภาพ และเมื่อข้อความดังกล่าวมีความหมายว่าผู้ถูกด่าไม่ใช่ลูกผู้ชายอันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอายแก่ ส. จึงเป็นการดูหมิ่นด้วยการโฆษณาต่อ ส.
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ส. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารของพนักงานบริษัทจำเลย ซึ่งแม้ ส. จะเป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาและเป็นพนักงานระดับผู้บริหารก็ตาม ก็หาใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทจำเลยและหาใช่พนักงานระดับผู้บริหารของจำเลยแต่อย่างใดไม่ แม้ ส. ทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับบริษัทจำเลยรวมทั้งใช้โรงอาหารเดียวกับบริษัทจำเลยก็ตาม ส. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารพนักงานของบริษัทจำเลย จึงหาถือว่า ส. เป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์แต่อย่างใดไม่ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ส. เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างหรือจำเลย อันจะถือได้ว่า ส. มีสถานะเป็นนายจ้างของโจทก์ การกระทำของโจทก์จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลย ข้อ ๔๔ ระบุว่า ความผิดในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับ พนักงานผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษโดยการเลิกจ้างด้วยการไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ได้แก่ ความผิดดังนี้...(๔) ฝ่าฝืน กฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประกาศ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของบริษัท และบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรง บริษัทไม่จำเป็นต้องเตือน ได้แก่ความผิด ดังต่อไปนี้...(๔.๑๑) กระทำผิดอาญาต่อผู้อื่น... ดังนี้ ข้อความว่า “ผู้ชายหน้าตัวเมีย หน้าหี หน้าแตด แย่งที่จอดรถ กุเฉย มึนนะไอ้ควาย” นั้น เป็นการดูหมิ่น ส. ด้วยการโฆษณา เมื่อโจทก์มีการกระทำผิดอาญาต่อผู้อื่นแล้ว การที่จะพิจารณาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ ต้องคำนึงถึงลักษณะของการกระทำ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นแต่ละกรณีไป ดังนี้ การที่โจทก์เข้าใจว่าตนเองถูกแย่งที่จอดรถจึงถ่ายภาพของ ส. และพิมพ์ข้อความว่า “ผู้ชายหน้าตัวเมีย หน้าหี หน้าแตด แย่งที่จอดรถ กุเฉย มึนนะไอ้ควาย” ส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านโปรแกรมเฟสบุ๊คไปยังเพื่อนร่วมงานในบริษัทและบริษัทในเครือของจำเลย ทั้งที่ไม่เคยรู้หรือทราบมาก่อนว่า ส. เป็นใคร อันเป็นการประจาน ส. ต่อสื่อสังคมออนไลน์ที่มีคนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยไม่สนใจไยดีในความเดือดร้อนของ ส. ว่าจะถูกสังคมดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอายมากเพียงใด แม้จะได้ความว่าโจทก์ลบโพสต์ดังกล่าวออกไปซึ่งถือว่าข้อความที่โจทก์ส่งลงระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นที่ทราบและรู้กันอยู่ทั่วไปว่าสื่อดังกล่าวสามารถแพร่ข่าวสารไปได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น พฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นการขาดสติความรับผิดชอบและความยับยั้งชั่งใจย่อมไม่สมควรที่จะกระทำอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงอยู่ในตัว จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๓ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) ทั้งมิใช่การเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
______________________________
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัสประจำปี ๒๕๕๘ เป็นเงิน ๑๐๔,๗๗๔.๔๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๘,๔๘๙.๖๐ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม ๒๔๖,๕๒๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าชดเชย ๑๖๔,๓๕๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๑๖๔,๓๕๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๙) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๘,๔๘๙.๖๐ บาท และค่าเสียหาย
จากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม ๑๘๔,๘๙๖ บาท รวมเป็นเงิน ๒๐๓,๓๘๖.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมโจทก์ทำงานอยู่ที่บริษัทไทยซัมมิท โมลด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ตั้งแต่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๙ และต่อมาวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ โจทก์โอนย้ายมาเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยโดยนับอายุงาน วันลาสะสม และสิทธิต่าง ๆ จากบริษัทดังกล่าว โจทก์ทำงานกับจำเลยตำแหน่งสุดท้ายคือเจ้าหน้าที่ S๓ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๐,๕๔๔ บาท ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๗ และวันที่ ๒๒ ของเดือน วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ถึงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อ ๒.๑ ว่า ข้อความว่า “ผู้ชายหน้าตัวเมีย
หน้าหี หน้าแตด แย่งที่จอดรถ กุเฉย มึนนะไอ้ควาย” ที่โจทก์พิมพ์และส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนายสมชาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ หรือไม่ เห็นว่า การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๖ นั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้นต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความดังกล่าวนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนั้นข้อความว่า “ผู้ชายหน้าตัวเมีย หน้าหี หน้าแตด แย่งที่จอดรถ กุเฉย มึนนะไอ้ควาย” ที่โจทก์พิมพ์และส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นเพียงคำด่าด้วยคำหยาบคาย
มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันน่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแต่ประการใด ฉะนั้นลำพังการที่โจทก์ลงข้อความดังกล่าว จึงยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่ายังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย แต่อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ถ่ายภาพของนายสมชาย และพิมพ์ส่งข้อความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านโปรแกรมเฟสบุ๊คไปยังเพื่อนร่วมงานในบริษัทและบริษัทในเครือของจำเลย ซึ่งข้อความดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำด่าและหยาบคายหาใช่เป็นแต่เพียง
คำไม่สุภาพดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา และเมื่อข้อความดังกล่าวมีความหมายว่าผู้ถูกด่าไม่ใช่ลูกผู้ชายอันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอายแก่นายสมชาย จึงเป็นการดูหมิ่นด้วยการโฆษณาต่อนายสมชาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อ ๒.๒ ว่า แม้ศาลแรงงานกลางจะรับฟังข้อเท็จจริงว่านายสมชาย เป็นพนักงานของบริษัทในเครือจำเลยและเป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาและเป็นพนักงานระดับผู้บริหาร แต่ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์ก็ตาม แต่นายสมชายทำงานภายในบริเวณรั้วเดียวกันกับโจทก์ และต้องถือว่านายสมชายเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ตามความในมาตรา ๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ นายสมชายจึงมีสถานะเป็นนายจ้างตามกฎหมาย การกระทำของโจทก์จึงถือเป็นการกระทำความผิดอาญา โดยเจตนาแก่นายจ้างและจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลาง ฟังข้อเท็จจริงว่า นายสมชายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารของพนักงานบริษัทจำเลย ซึ่งแม้นายสมชายจะเป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาและเป็นพนักงานระดับผู้บริหารก็ตาม ก็หาใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทจำเลยและหาใช่พนักงานระดับผู้บริหาร
ของจำเลยแต่อย่างใดไม่ แม้นายสมชายทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับบริษัทจำเลยรวมทั้งใช้โรงอาหารเดียวกับบริษัทจำเลยก็ตาม นายสมชายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารพนักงานของบริษัทจำเลย จึงหาถือว่านายสมชายเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์แต่อย่างใดไม่ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่านายสมชาย เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างหรือจำเลย อันจะถือได้ว่านายสมชายมีสถานะเป็นนายจ้างของโจทก์การกระทำของโจทก์จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายดังที่จำเลยอุทธรณ์มา อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า แม้ศาลแรงงานกลางจะฟังข้อเท็จจริงว่านายสมชาย เป็นลูกจ้างบริษัท
ในเครือ นายสมชายมิใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์ก็ตาม การกระทำของโจทก์ก็ถือเป็นความผิดฐานกระทำความผิดอาญาต่อผู้อื่น ซึ่งถือเป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย
ตาม ข้อ ๔๔ ข้อ ๔.๑๑ แล้ว เห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลย ข้อ ๔๔ ระบุว่า ความผิดในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับ พนักงานผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษโดยการเลิกจ้างด้วยการไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ได้แก่ ความผิด
ดังนี้...(๔) ฝ่าฝืน กฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประกาศ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย
และเป็นธรรมของบริษัท และบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรง บริษัทไม่จำเป็น
ต้องเตือน ได้แก่ความผิด ดังต่อไปนี้...(๔.๑๑) กระทำผิดอาญาต่อผู้อื่น... ดังนี้ ข้อความว่า “ผู้ชาย
หน้าตัวเมีย หน้าหี หน้าแตด แย่งที่จอดรถ กุเฉย มึนนะไอ้ควาย” นั้น ตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นนายสมชายด้วยการโฆษณา เมื่อโจทก์มีการกระทำผิดอาญาต่อผู้อื่นแล้ว การที่จะพิจารณาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ ต้องคำนึงถึงลักษณะของการกระทำ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อม
ต่าง ๆ เป็นแต่ละกรณีไป ดังนี้ การที่โจทก์เข้าใจว่าตนเองถูกแย่งที่จอดรถจึงถ่ายภาพของนายสมชายและพิมพ์ข้อความว่า “ผู้ชายหน้าตัวเมีย หน้าหี หน้าแตด แย่งที่จอดรถ กุเฉย มึนนะไอ้ควาย” ส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านโปรแกรมเฟสบุ๊คไปยังเพื่อนร่วมงานในบริษัทและบริษัท
ในเครือของจำเลย ทั้งที่ไม่เคยรู้หรือทราบมาก่อนว่านายสมชายเป็นใคร อันเป็นการประจานนายสมชาย ต่อสื่อสังคมออนไลน์ที่มีคนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยไม่สนใจไยดีในความเดือดร้อนของนายสมชายว่าจะถูกสังคมดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอายมากเพียงใด แม้จะได้ความว่าโจทก์ลบโพสต์ดังกล่าวออกไปซึ่งถือว่าข้อความที่โจทก์ส่งลงระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นที่ทราบและรู้กันอยู่ทั่วไปว่าสื่อดังกล่าวสามารถแพร่ข่าวสารไปได้อย่างรวดเร็ว
ในระยะเวลาอันสั้น พฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นการขาดสติความรับผิดชอบ
และความยับยั้งชั่งใจย่อมไม่สมควรที่จะกระทำอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง
อยู่ในตัว จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) ทั้งมิใช่การเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
(สมเกียรติ คูวัธนไพศาล – เฉลิมพงศ์ ขันตี – ยิ่งลักษณ์ สุขวิสิฏฐ์)
ธัชวุทธิ์ พุทธิสมบัติ - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ