คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 60/2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
นางสาวอมรรัตน์ อัคคะรัสมีโย จำเลย
พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า
ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลงซึ่งงานศิลปกรรมเพื่อการค้า และฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้านั้น ลักษณะของความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว
มีการกระทำแตกต่างกัน อาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกัน อีกทั้งจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลงซึ่งงานศิลปกรรมเพื่อการค้า และกระทำความผิด
ฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้าคนละวันกัน ส่วนความผิดฐานจำหน่าย
เสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นนั้น แม้จำเลยกระทำความผิดฐานนี้ในวันเวลาเดียวกับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้า และแม้เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ ๒ และงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ ๑ ถูกนำไปใช้ร่วมกันก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าและงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีลักษณะแยกต่างหากจากกัน มิได้เป็น
ส่วนหนึ่งส่วนใดของกันและกัน จึงเป็นงานคนละประเภทและได้รับความคุ้มครองแยกจากกัน
อีกทั้งเครื่องหมายการค้าและงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวยังเป็นของผู้เสียหายต่างคนกัน อันแสดงถึงเจตนาที่มุ่งกระทำต่อผู้เสียหายคนละคนแตกต่างแยกจากกันด้วย ดังนี้ การกระทำความผิดของจำเลย
จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔, ๖, ๘, ๑๕, ๒๗, ๓๑, ๖๙, ๗๐, ๗๖ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔, ๑๐๘, ๑๑๐, ๑๑๕, ๑๑๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑ ริบของกลาง และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์
กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๙ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๗ (๑) มาตรา ๗๐ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๓๑ (๒) พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๙ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๗ (๑) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า การกระทำความผิดของจำเลย
เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า สำหรับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์
ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลงซึ่งงานศิลปกรรมเพื่อการค้า และฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้านั้น ลักษณะของความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีการกระทำแตกต่างกัน อาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกัน อีกทั้งจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลงซึ่งงานศิลปกรรมเพื่อการค้าเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๒
และกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้าเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ อันเป็นคนละวันกัน ส่วนความผิดฐานจำหน่าย เสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นนั้น แม้จำเลยกระทำความผิดฐานนี้ในวันเวลาเดียวกับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้า และแม้เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ ๒ และงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ ๑ ถูกนำไปใช้ร่วมกันก็ตาม
แต่เครื่องหมายการค้าและงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีลักษณะแยกต่างหากจากกัน มิได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกันและกัน จึงเป็นงานคนละประเภทและได้รับความคุ้มครองแยกจากกัน อีกทั้งเครื่องหมายการค้าและงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวยังเป็นของผู้เสียหายต่างคนกัน อันแสดงถึงเจตนาที่มุ่งกระทำต่อผู้เสียหายคนละคนแตกต่างแยกจากกันด้วย ดังนี้ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า สมควรรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า สินค้าที่จำเลยจำหน่ายและเจ้าพนักงานยึดได้เป็นของกลางเป็นน้ำหอม มีลักษณะเป็นสินค้าเครื่องสำอางที่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของผู้บริโภค อย่างร้ายแรงโดยตรง เมื่อปริมาณของกลางไม่มาก จึงไม่ได้ก่อความเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งสองมากนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีสักครั้งหนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยจึงเหมาะสมแล้ว และสมควรให้รอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยทุกกรรม อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ การรอกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.
(ธารทิพย์ จงจักรพันธ์ - วราคมน์ เลี้ยงพันธุ์ – วิวัฒน์ วงศกิตติรักษ์)
สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ
นิภา ชัยเจริญ - ตรวจ