คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 49/2564 ชาแนล  เอสเออาร์แอล                     โจทก์

                                                                    กรมทรัพย์สินทางปัญญา  กับพวก               จำเลย

พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗

                   ข้อความว่า “ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ” ที่ปรากฏในมาตรา ๗ วรรคสอง (๑)
แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นคำขยายของคำว่า “ชื่อในทางการค้า” เท่านั้น
จึงมิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกัน
โดยธรรมดา เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา
ที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง
โดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษดังเช่นชื่อในทางการค้าอีก

_____________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือ
แจ้งคำสั่งของสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ พณ ๐๗๐๔/๒๒๐๙๕๕,
พณ ๐๗๐๔/๒๒๐๙๕๖, พณ ๐๗๐๔/๒๒๑๖๐๗ และ พณ ๐๗๐๔/๒๒๑๖๐๘ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 564/2561, 565/2561, 566/2561 และ 567/2561 และให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๐๑๗๗๗๗, ๑๐๑๗๗๗๘, ๑๐๑๗๗๗๙ และ ๑๐๑๗๗๘๐ ต่อไป

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง
ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือแจ้งคำสั่งของสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ พณ ๐๗๐๔/๒๒๐๙๕๕, พณ ๐๗๐๔/๒๒๐๙๕๖, พณ ๐๗๐๔/๒๒๑๖๐๗
และ พณ ๐๗๐๔/๒๒๑๖๐๘ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 564/2561, 565/2561, 566/2561 และ 567/2561 ซึ่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “   ” ตามคำขอเลขที่ ๑๐๑๗๗๗๗, ๑๐๑๗๗๗๘, ๑๐๑๗๗๗๙
และ ๑๐๑๗๗๘๐ ตามลำดับ กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับการขอ
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวต่อไป ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
พ.ศ. ๒๕๓๔ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

         จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ โจทก์ยื่นคำขอ
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ ” รวม ๔ คำขอ คือ สำหรับใช้กับสินค้า
จำพวกที่ ๓ รายการสินค้าหลายรายการ เช่น เครื่องสำอางถนอมผิว สบู่ น้ำหอม และโลชั่นทาผิวกาย ตามคำขอเลขที่ ๑๐๑๗๗๗๗ สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๔ รายการสินค้าหลายรายการ เช่น นาฬิกา สร้อยข้อมือ ต่างหู สร้อยคอ ตามคำขอเลขที่ ๑๐๑๗๗๗๘ สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๘ รายการสินค้าหลายรายการ เช่น หีบเดินทาง กระเป๋าใส่เสื้อผ้า กระเป๋าใส่เงิน กระเป๋าใส่ของ ตามคำขอเลขที่ ๑๐๑๗๗๗๙ และสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๒๕ รายการสินค้าหลายรายการ เช่น เสื้อ กางเกง เนกไท รองเท้า หมวก เข็มขัด และผ้าพันคอ ตามคำขอเลขที่ ๑๐๑๗๗๘๐ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
มีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์นำมายื่นขอจดทะเบียนเป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่รู้จักกันโดยทั่วไปที่ไม่ได้แสดงโดยลักษณะพิเศษ จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ วรรคสอง (๑) ทั้งโจทก์มิได้นำส่งหลักฐานพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา ๗ วรรคสาม โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยให้เหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน
ของโจทก์เป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษ เมื่อนำมาใช้
เป็นเครื่องหมายการค้าในลักษณะที่เป็นตัวอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดเรียงต่อกันโดยไม่ได้แสดง
ให้เห็นถึงลักษณะที่ผิดแผกไปจากลักษณะของชื่อตัวและชื่อสกุลโดยทั่วไป จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ วรรคสอง (๑) ส่วนหลักฐานการใช้
และโฆษณาหรือจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนที่โจทก์อ้างส่งไม่ปรากฏระยะเวลาที่แน่ชัดว่าเริ่มใช้ โฆษณา หรือจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนเมื่อใด เป็นจำนวนเท่าใด และเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกันเพียงใด จึงไม่เพียงพอให้รับฟังว่าเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขา
ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา ๗ วรรคสาม
แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔

         มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “  ” ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๖ ทั้งที่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา
ที่ไม่ได้แสดงโดยลักษณะพิเศษตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๑) และไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๗
วรรคสาม ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สำหรับปัญหานี้ในเบื้องต้นเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๑) หรือไม่ เห็นว่า คุณลักษณะของเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ ประการหนึ่ง คือ เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะ
บ่งเฉพาะ อันได้แก่ เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะซึ่งทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบ
และเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น และเครื่องหมายการค้า
ที่ประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗ วรรคสอง (๑)
ถึง (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ ดังนั้น
หากเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนรายใดมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญตรงตามที่มาตรา ๗
วรรคสอง (๑) ถึง (๑๑) กำหนดไว้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะ
บ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ และที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗
วรรคสอง (๑) บัญญัติว่า “ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง” ข้อความว่า “ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ”
ที่ปรากฏในมาตรานี้เป็นคำขยายของคำว่า “ชื่อในทางการค้า” เท่านั้น จึงมิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา เมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า
“  ” ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนนี้มาจากชื่อตัวและชื่อสกุลของนาง Gabrielle Bonheur Coco Chanel ซึ่งเป็นนักออกแบบสินค้าแฟชั่นชาวฝรั่งเศสและผู้ก่อตั้งกิจการการค้าของโจทก์
การนำมาใช้กับสินค้าตามรายการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนจึงมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือ
ผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “  ”
แตกต่างไปจากสินค้าอื่นทั้งในแง่ความเป็นเจ้าของ คุณภาพ และแหล่งที่มาของสินค้า อันเป็นการใช้
อย่างเครื่องหมายการค้า หาใช่เป็นการใช้อย่างชื่อตัวและชื่อสกุลของนาง Gabrielle Bonheur
Coco Chanel ในลักษณะของชื่อบุคคลที่ใช้เรียกขานนาง Gabrielle Bonheur Coco Chanel
เท่านั้นไม่ เครื่องหมายการค้าคำว่า “ ” ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนจึงเป็นชื่อตัว
และชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษดังเช่นชื่อในทางการค้าอีก และเมื่อไม่ปรากฏว่า คำว่า “ ” มีความหมายใดที่สื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าต่าง ๆ
ได้แก่ เครื่องสำอางถนอมผิว สบู่ น้ำหอม โลชั่นทาผิวกาย นาฬิกา สร้อยข้อมือ ต่างหู สร้อยคอ
หีบเดินทาง กระเป๋าใส่เสื้อผ้า กระเป๋าใส่เงิน กระเป๋าใส่ของ เสื้อ กางเกง เนกไท รองเท้า หมวก เข็มขัด ผ้าพันคอ และสินค้าอื่น ๆ ตามรายการสินค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเครื่องหมายการค้าคำว่า “ ” ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ ๑๐๑๗๗๗๗, ๑๐๑๗๗๗๘, ๑๐๑๗๗๗๙ และ ๑๐๑๗๗๘๐ จึงมิใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าวโดยตรง
และมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
พ.ศ. ๒๕๓๔ อันพึงรับจดทะเบียนได้ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว คดีไม่จำต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ลักษณะ
บ่งเฉพาะอันเกิดจากการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น
จนแพร่หลายแล้วตามมาตรา ๗ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และข้ออุทธรณ์ของ
จำเลยทั้งสองอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือแจ้งคำสั่ง
ของสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ พณ ๐๗๐๔/๒๒๐๙๕๕, พณ ๐๗๐๔/๒๒๐๙๕๖, พณ ๐๗๐๔/๒๒๑๖๐๗ และ พณ ๐๗๐๔/๒๒๑๖๐๘ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 564/2561, 565/2561, 566/2561 และ 567/2561 ซึ่งปฏิเสธ
ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ ” ตามคำขอเลขที่ ๑๐๑๗๗๗๗, ๑๐๑๗๗๗๘, ๑๐๑๗๗๗๙ และ ๑๐๑๗๗๘๐ นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

(ตุล  เมฆยงค์ – สุรพล  คงลาภ – ปรานี  เสฐจินตนิน)

ธนวรรณ  นราวิริยะกุล - ย่อ

 นิภา  ชัยเจริญ - ตรวจ