คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 114/2564 บริษัทเซินเจิ้น  เทนเซ็นต์  คอมพิวเตอร์

                                                                    ซิสเต้ม จำกัด                              โจทก์

                                                                      บริษัทเซี่ยงไฮ้  มูนตอง  เทคโนโลยี จำกัด

                                                                    กับพวก                                   จำเลย

พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔, ๖, ๖๔

            แม้รูปแบบและกติกาของเกมจะไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้การคุ้มครอง แต่บุคคลใดบุคคลหนึ่งสามารถนำแนวความคิดและหลักการของเกมไปปรับใช้หรือใช้ประโยชน์ด้วยการออกแบบหรือแสดงออกซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ของเกมอันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมและประเภทวรรณกรรมตามแนวความคิดและหลักการของเกมได้ตราบเท่าที่การปรับใช้หรือใช้ประโยชน์นั้นไม่เป็นการทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบ หรือดัดแปลงงานสร้างสรรค์ในเกมของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง

          ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้เป็นส่วนที่เป็นแนวความคิดว่าผู้เล่นเกมจะสื่อสารกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเกมอย่างไร และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเกมจะตอบสนองต่อคำสั่งอย่างไร ถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถผูกขาดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้แต่เพียงผู้เดียว แต่เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ
ที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างผู้ใช้งานอุปกรณ์ที่ใช้เล่นเกมกับตัวเกมมีรูปลักษณะหลายแบบ
ซึ่งผู้สร้างสรรค์สามารถออกแบบให้แตกต่างกันได้และไม่ใช่สัญลักษณ์สากลที่ใช้กันทั่วไป
งานเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เชื่อมประสานอันเป็นองค์ประกอบของเกมจึงถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้

          พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรง
ของความเสียหาย รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์ด้วย การที่จำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อแสวงหารายได้จากการมีผู้เล่นเกมของจำเลยทั้งสองย่อมทำให้จำเลยทั้งสองได้รับผลประโยชน์จากการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยจำเลยทั้งสองไม่ต้องจ่ายเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์แก่โจทก์และไม่ต้องแบ่งผลกำไรที่ได้รับให้แก่โจทก์ ความเสียหายของโจทก์จึงเห็นได้จากผลประโยชน์ที่จำเลยทั้งสองได้รับซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ที่โจทก์ไม่ได้รับหรือสูญเสียไป ซึ่งศาลใช้เป็นเกณฑ์เพื่อพิจารณากำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิดลิขสิทธิ์ได้

_______________________________

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่า
จะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับห้ามจำเลยทั้งสองนำเกม “Mobile Legends” ซึ่งทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้น
โดยละเมิดลิขสิทธิ์เกม “King of Glory” ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในประเทศไทย หรือนำออกให้สาธารณชนทำซ้ำโดยการดาวน์โหลดในประเทศไทย

         จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน
ชำระเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่
ถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองระงับหรือละเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์เกมของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม
แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕๐,๐๐๐ บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ๓๐,๐๐๐ บาท
คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

         โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามคำฟ้อง คำให้การ และพยานเอกสารในทางนำสืบที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เกมที่พิพาทกัน ได้แก่ เกม “King of Glory” กับเกม “Mobile Legends” หรือ “Mobile Legends: Bang Bang” ซึ่งต่างเป็นเกมออนไลน์ประเภทโมบา (Multiplayer Online Battle Arena: MOBA) หรือประเภทวางแผนกลยุทธ์ (Action Real-Time Strategy: ARTS) ใช้ผู้เล่นหลายคนเป็นทีม
แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย แข่งขันต่อสู้กัน โดยผู้เล่นแต่ละคนสามารถเลือกและควบคุมตัวละครซึ่งเป็นหน่วย
ที่มีความสามารถหรือมีกลุ่มทักษะที่แตกต่างกันเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ของทีม จุดประสงค์ของเกม
คือการเป็นผู้ชนะที่สามารถเคลื่อนที่ไปตามทางเดิน (เลน) เข้าสู่และทำลายฐานหรือสิ่งก่อสร้างหลัก
ของฝ่ายตรงกันข้ามได้สำเร็จ ในการเล่นเกมประเภทโมบานั้น ตัวละครและฐานต่าง ๆ ตั้งอยู่หรือจัดวางบนแผนที่ทรงสี่เหลี่ยมที่มีพื้นที่จำกัด ประกอบด้วยสามช่องทางเดิน เรียกว่า “แผนที่แบบสามเลน”
เป็นตัวกำหนดให้ตัวละครเดิน ๓ ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางเดินด้านบน (เลนบน) ช่องทางเดินตรงกลาง (เลนกลาง) และช่องทางเดินด้านล่าง (เลนล่าง) โดยแต่ละช่องทางได้จัดวางฐานของแต่ละฝ่ายไว้
เป็นระยะ ๆ เพื่อให้ผู้เล่นแต่ละฝ่ายเข้าโจมตีฐานของฝ่ายตรงกันข้ามและ/หรือป้องกันฐานของฝ่ายตน เกมประเภทโมบาเกมแรกที่เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ คือ เกมชื่อ “Aeon of Strife” เผยแพร่
เมื่อปี ๒๕๔๑ โดยนำแผนที่สนุก ๆ มาใช้กับเกมประเภทวางแผนกลยุทธ์ ตามข้อมูลเกมในหน้าเว็บไซต์ ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ไม่มีเรื่องลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังที่วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่อุทธรณ์คัดค้าน นอกจากนี้ ข้อที่เกี่ยวกับกติกาของเกมประเภทโมบาตามคำให้การของจำเลยทั้งสองก็มิใช่เรื่อง
ที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้เช่นกัน

         สำหรับกรณีปัญหาตามอุทธรณ์ข้อ ๗.๓ ของจำเลยทั้งสองที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ในนามตนเองเนื่องจากไม่ใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ของบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด
ในการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งเกม “King of Glory” ด้วยเหตุที่หนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ระบุเพียงให้โจทก์มีสิทธิในการบริหารเกมและปกป้องสิทธิในเกมเท่านั้น หรือมิฉะนั้นหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ก็ตกเป็นโมฆะเพราะไม่ปรากฏลายมือชื่อของโจทก์ผู้รับโอน
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๗ วรรคสาม รวมถึงกรณีอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง
ในข้อ ๙ ที่ว่า โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด การที่โจทก์ฟ้องคดีในนามตนเองจึงไม่ชอบ และเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน นั้น เห็นว่า แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งจะเป็นปัญหา
อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างอิงในอุทธรณ์ดังกล่าว
ต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้ข้อเท็จจริงมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วย มิใช่ได้ข้อเท็จจริงมาจากเรื่องนอกฟ้อง นอกคำให้การ หรือนอกประเด็น หรือที่ไม่เกี่ยวกับที่คู่ความต้องนำสืบ เมื่อจำเลยทั้งสองเพียงแต่ให้การปฏิเสธในเรื่องอื่น ๆ เท่านั้น โดยมิได้ปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์โดยอ้างเหตุ
ในข้อเท็จจริงตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาข้อเท็จจริงนอกคำให้การที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ไว้เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องที่โจทก์เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีนี้ในนามตนเองได้หรือไม่ อันถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๘ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงไม่รับวินิจฉัย

         ส่วนกรณีปัญหาตามอุทธรณ์ข้อ ๗.๑ ของจำเลยทั้งสองที่ว่า จําเลยทั้งสองโต้แย้งว่า ไม่มีผู้ใด
เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่ในการนำสืบจึงตกแก่โจทก์ หาใช่ตกแก่จำเลยทั้งสองดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาไม่ นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบ เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองได้สืบพยานไปจนสิ้นกระแสความแล้ว โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นโต้แย้ง ประกอบกับ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาท
จากพยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบมา ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการวินิจฉัยตามภาระการพิสูจน์
หรือหน้าที่นำสืบที่ตกแก่โจทก์อันถูกต้องแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๘ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า การที่ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังข้อเท็จจริงยุติเป็นเบื้องต้นว่า โจทก์มีสิทธิแต่เพียง
ผู้เดียวในการเป็นตัวแทนผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทางธุรกิจเกี่ยวกับเกม “King of Glory” ระหว่างวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ เกมดังกล่าวเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ จำเลยทั้งสองเรียกเก็บเงินจากการดาวน์โหลดเกม “Mobile Legends” และเปิดตัวเกมดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และรับฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด เป็นผู้สร้างสรรค์งานแผนที่ย่อ ฉากเริ่มต้น และภาพตัวละครของเกม “King of Glory” นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยทั้งสองต่อสู้คดีว่า เกมประเภทโมบาตามคำฟ้อง
มีรูปแบบและกติกาการเล่นที่พัฒนาและดัดแปลงมาจากเกมประเภทวางแผนกลยุทธ์แบบเรียลไทม์ (Action Real-Time Strategy) เป็นเวลานานกว่าสิบปี จนมีผู้ออกแบบและพัฒนาเกมประเภทโมบา
เป็นจำนวนมาก โจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างหรือถือสิทธิใด ๆ ในรูปแบบและกติกาของการเล่นเกมประเภทโมบาได้ เพราะไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรม
และงานวรรณกรรมตามคำฟ้อง จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมและผู้สร้างสรรค์เกม “Mobile Legends” ต่อมานำออกสู่ตลาดโดยใช้ชื่อว่า “Mobile Legends: Bang Bang” โดยให้บริการดาวน์โหลดในอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ตเท่านั้น ไม่มีการให้บริการดาวน์โหลดลงเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนี้
จะเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เพียงว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมและงานวรรณกรรมสำหรับเกม “King of Glory” ตามคำฟ้อง
โดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธเพียงว่า โจทก์ไม่อาจกล่าวอ้างหรือถือสิทธิใด ๆ ในรูปแบบและกติกาของการเล่นเกมประเภทโมบาได้เพราะไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย และเกมของจำเลยทั้งสองให้บริการดาวน์โหลดในอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่และเท็บเล็ตเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธถึงสิทธิของบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด ว่า มิใช่ผู้สร้างสรรค์เกม “King of Glory” ขึ้น โดยใช้ความคิดริเริ่ม ความวิริยะอุตสาหะ และเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาองค์ประกอบของเกมขึ้นมา
และสิทธิของโจทก์ว่า บริษัทดังกล่าวมิได้อนุญาตให้โจทก์มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการเป็นตัวแทนผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทางธุรกิจเกี่ยวกับเกม “King of Glory” รวมถึงไม่ได้ให้การปฏิเสธด้วยว่า
เกมดังกล่าวมิได้เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ และจำเลยทั้งสองมิได้
เรียกเก็บเงินจากการดาวน์โหลดเกม “Mobile Legends” หรือมิได้เปิดตัวเกมดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ดังคำฟ้องของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ในข้อนั้น
และถือได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิเสธตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังข้อเท็จจริงยุติมา ตลอดจนวินิจฉัยว่า บริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด เป็นผู้สร้างสรรค์งานแผนที่ย่อ ฉากเริ่มต้น และภาพตัวละครของเกม “King of Glory” นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า องค์ประกอบต่าง ๆ ของเกม “King of Glory” ที่พิพาทกันตามคำฟ้องของโจทก์รวมถึงงานแผนที่ในเกม ฉากในเกม อุปกรณ์สวมใส่ของตัวละคร
ภาพและคำแนะนำช่วงสอนเล่นเกม (Tutorial) และทักษะของตัวละครด้วยหรือไม่ เห็นว่า กรณีงาน “แผนที่ในเกม” นั้น คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า “แผนที่ของเกม” กับ “แผนที่ที่ปรากฏในเกม”
และคำให้การของจำเลยทั้งสองก็ระบุไว้ว่า “แผนที่ของเกม” อันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างก็เข้าใจตรงกัน แม้เอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๑๒ ของโจทก์จะเป็นภาพ “แผนที่ย่อ” ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวมาในคำแก้อุทธรณ์ แต่สิทธินำพยานมาสืบของโจทก์ก็หาได้ถูกจำกัดเพียงเรื่อง “แผนที่ย่อ” อย่างเดียวดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยมาไม่ เพราะนอกจากเอกสารแนบท้ายคำฟ้องจะถือเป็นเพียงข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งของคำฟ้องแล้ว โจทก์ยังมี
ทั้งภาระการพิสูจน์และสิทธินำพยานมาสืบถึงข้อเท็จจริงส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับ “แผนที่ของเกม”
กับ “แผนที่ที่ปรากฏในเกม” ทั้งหมดอันเป็นข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องหรือตามที่โจทก์กล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์อีกด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔/๑ ส่วนกรณีงาน “ฉากในเกม”
และ “อุปกรณ์สวมใส่ของตัวละคร” นั้น แม้คำฟ้องของโจทก์ได้แยกบรรยายงานองค์ประกอบของเกม
ไว้ต่างข้อกัน กล่าวคือ คำฟ้องข้อ ๒ กับข้อ ๓ บรรยายงานองค์ประกอบของเกมที่เป็น “งานอันมีลิขสิทธิ์” โดยคำฟ้องข้อ ๒ โจทก์ใช้คำว่า “ฉากในเกม” และคำฟ้องข้อ ๒ กับข้อ ๓ ใช้คำว่า “อุปกรณ์สวมใส่ของตัวละคร” ส่วนคำฟ้องข้อ ๔ บรรยายงานองค์ประกอบของเกมที่เป็น “งานอันถูกละเมิดลิขสิทธิ์” โดยใช้คำว่า “อาทิเช่น ... ฉากเริ่มต้นเกม” แต่องค์ประกอบของเกมที่พิพาทกันต้องพิจารณาตามคำฟ้องทุกข้อรวมถึงเอกสารแนบท้ายคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสองประกอบกันด้วย ดังนี้ กรณีงาน “ฉากในเกม” และ “อุปกรณ์สวมใส่ของตัวละคร” แม้จะไม่มีปรากฏในคำฟ้องข้อ ๔
แต่มีปรากฏในคำฟ้องข้อ ๒ และข้อ ๓ จึงถือว่าเป็นองค์ประกอบของเกมที่พิพาทกัน และสำหรับกรณีงาน “ภาพและคำแนะนำช่วงสอนเล่นเกม (Tutorial)” นั้น มีปรากฏในคำฟ้องข้อ ๔ และในคำฟ้องข้อ ๓
ที่บรรยายว่า “วีดีโอ Tutorial” กับ “คำอธิบายภายในเกม” ซึ่งแม้โจทก์จะมิได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง
ข้อ ๒ แต่คำฟ้องข้อ ๒ ก็บรรยายว่า “...บริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ในงานเกมทั้งหมดและงานทั้งหมดที่รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเกมดังกล่าวขึ้น ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง...” เช่นนี้คำว่า “รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง” เป็นการยกตัวอย่างเพียงบางส่วน และยังมีส่วนที่เหลืออยู่อีก
ย่อมรวมถึงงาน “ภาพและคำแนะนำช่วงสอนเล่นเกม Tutorial” ที่เป็นองค์ประกอบของเกม “King of Glory” ด้วย เพราะเป็นงานส่วนที่ไม่ได้ยกตัวอย่างไว้ ซึ่งถือว่าอยู่ในความหมายของ “งานทั้งหมด” นั่นเอง กรณีจึงถือว่างาน “แผนที่ในเกม” “ฉากในเกม” “อุปกรณ์สวมใส่ของตัวละคร” และ “ภาพและคำแนะนำช่วงสอนเล่นเกม Tutorial” ที่เป็นองค์ประกอบของเกม “King of Glory” ปรากฏในคำฟ้อง
ที่โจทก์มีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมาสืบได้ ส่วนกรณี “ทักษะของตัวละคร” นั้น แม้องค์ประกอบนี้
จะเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเกมที่ผู้เล่นเกมต้องออกคำสั่งหรือกระทำการใด ๆ ภายใต้กรอบทักษะ
หรือความสามารถของตัวละครและกติกาของเกมเพื่อให้ฝ่ายตนชนะการเล่นเกมดังที่จำเลยทั้งสอง
ยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ หรือเป็นท่าทางแสดงการโจมตีของตัวละครในขณะเล่นเกมอันประกอบด้วยภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงประกอบภายในเกมดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวในคำแก้อุทธรณ์ ซึ่งแม้ในคำฟ้องของโจทก์จะมิได้อ้างลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุหรืองานภาพยนตร์มาด้วยดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมา แต่ภาพทักษะของตัวละครโจทก์ได้แสดงไว้เป็นภาพนิ่ง
อันเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี กับสิ่งอื่น ๆ และคำอธิบายของทักษะก็เป็น
งานนิพนธ์ที่ทำขึ้น เช่นนี้ย่อมได้รับความคุ้มครองในฐานะงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรมลักษณะ
งานจิตรกรรมและงานวรรณกรรมตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ ด้วยตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยเฉพาะงาน “แผนที่ย่อ” และ “ฉากเริ่มต้น” เท่านั้น โดยไม่วินิจฉัยงาน “แผนที่ในเกม” “ฉากในเกม” “อุปกรณ์
สวมใส่ของตัวละคร” กับ “ทักษะของตัวละคร” และวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างถึงการได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์มาจากเจ้าของประเภทวรรณกรรมลักษณะสิ่งเขียนเกี่ยวกับ “คำแนะนำช่วงสอน
เล่นเกม (Tutorial)” กรณีจึงไม่มีประเด็นแห่งคดีในเรื่องลิขสิทธิ์ดังกล่าวนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองในประการต่อไปว่า องค์ประกอบต่าง ๆ ของเกม “King of Glory” ซึ่งรวมถึงแผนที่ (map) ของเกมหรือแผนที่ที่ปรากฏในเกม
(map display in the game) ซึ่งแบ่งออกเป็นแผนที่ย่อกับแผนที่เกม, ภาพ (image) และคำแนะนำ (suggestion) ช่วงสอนเล่นเกม (tutorial video or scene), ฉากในเกม (scene) ซึ่งแบ่งออกเป็นฉากเริ่มต้น (introduction) กับฉากอื่น ๆ, ตัวละคร (characters), เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์สวมใส่
ของตัวละคร (equipment), ทักษะของตัวละคร (skill) และเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เชื่อมประสาน (User Interface) เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง ประกอบหลักปรัชญาแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์
งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมและประเภทวรรณกรรมของเกมประเภทโมบาจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นด้วยการริเริ่ม
ของผู้สร้างสรรค์เองจนทำให้งานสร้างสรรค์นั้นสำเร็จแล้วผู้สร้างสรรค์ได้แสดงออกให้เห็นถึง
งานสร้างสรรค์ดังกล่าวไม่ว่าด้วยวิธีหรือรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
จากงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้รูปแบบและกติกาอันเป็นแนวความคิดและหลักการของเกมประเภทโมบาจะไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้าง
หรือถือสิทธิใด ๆ ได้ดังคำให้การต่อสู้คดีและข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง กล่าวคือ ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้การคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖ วรรคสอง แต่บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็สามารถที่จะนำแนวความคิดและหลักการของเกมประเภทโมบานั้นไปปรับใช้หรือใช้ประโยชน์ด้วยการออกแบบหรือแสดงออกซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ของเกมอันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรม
และประเภทวรรณกรรมของตนตามแนวความคิดและหลักการของเกมแนวโมบานั้น โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ต้องมีเนื้อหา รายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดเป็นของตนเองได้ ตราบเท่าที่
การปรับใช้หรือการใช้ประโยชน์หรือการออกแบบสร้างสรรค์งานองค์ประกอบต่าง ๆ ในเกมของบุคคลนั้น ๆ ไม่เป็นการทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบหรือดัดแปลงงานสร้างสรรค์องค์ประกอบต่าง ๆ ในเกม
ของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ

         สำหรับเกม “King of Glory” นั้น เมื่อจำเลยทั้งสองยอมรับตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า เกม “King of Glory” มีบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น โดยใช้ความคิดริเริ่ม ความวิริยะอุตสาหะ และเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาองค์ประกอบของเกมขึ้นมา และบริษัท
เทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด อนุญาตให้โจทก์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการเป็นตัวแทนดำเนินการทางธุรกิจเกี่ยวกับเกมดังกล่าวในอาณาเขตทั่วโลกรวมทั้งโอนสิทธิดังกล่าวได้ด้วยดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า งานองค์ประกอบของเกม “King of Glory” ที่บริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด ได้สร้างสรรค์ขึ้นตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้นั้นเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นโดยทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า ข้อต่อสู้
ของจำเลยทั้งสองหาได้ระบุให้ชัดเจนว่า องค์ประกอบต่าง ๆ ของเกม “King of Glory” ในส่วนงานดังกล่าวเป็นการนำองค์ประกอบต่าง ๆ ของเกมประเภทโมบาหรือเกมประเภทอื่น ๆ ในส่วน
อันเป็นสาระสำคัญนั้นมาทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบ หรือดัดแปลงขึ้นจากเกมใดเกมหนึ่งชื่อเกมอะไร
โดยเฉพาะเจาะจง และการทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบ หรือดัดแปลงนั้นกระทำอย่างไรบ้าง แม้ในทางนำสืบจำเลยทั้งสองจะระบุชื่อเกมประเภทโมบาไว้มีจำนวนหลายเกมโดยระบุองค์ประกอบต่าง ๆ ไว้
เช่นองค์ประกอบที่เป็นงานแผนที่สามเลน โดยอ้างว่า เป็นองค์ประกอบงานแผนที่สามเลนที่เกม
“King of Glory” ได้ทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบ หรือดัดแปลงขึ้นจากเกมเหล่านี้ แต่ก็เป็นเพียง
ความคล้ายคลึงกันในแนวความคิดและหลักการของเกมประเภทโมบาเท่านั้นซึ่งมิใช่สิ่งที่ได้รับ
ความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖ วรรคสอง ส่วนในทางนำสืบของโจทก์ที่ระบุองค์ประกอบต่าง ๆ ของเกม “King of Glory” ตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ประกอบหนังสือจดแจ้งลิขสิทธิ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เอกสารหมาย จ.๒๒ นั้น เมื่อพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของเกม “King of Glory” ดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า แม้แนวความคิดและหลักการของเกมประเภทโมบาจะได้มีบุคคลอื่น ๆ เคยนำมาปรับใช้มาก่อนแล้วโดยแสดงออกมาด้วยวิธีหรือรูปแบบ
เป็นเกมชื่อต่าง ๆ อันเป็นเวลาก่อนที่บริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด จะได้สร้างสรรค์เกม “King of Glory” ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ดังทางนำสืบของจำเลยทั้งสอง
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเกมของบุคคลอื่น ๆ แล้ว องค์ประกอบต่าง ๆ ในเกม “King of Glory”
ของบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยมีเนื้อหา รายละเอียด และลักษณะการแสดงออกซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจ และความวิริยะอุตสาหะ
ของบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด ผู้สร้างสรรค์ รวมถึงวิธีการหรือเทคนิคที่บริษัทสร้างสรรค์แสดงออกขึ้นมาด้วยความคิดของตนเองซึ่งแตกต่างจากเกมของบุคคลอื่น ๆ โดยจำเลยทั้งสองก็มิได้
นำสืบให้เห็นว่า บริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด ได้สร้างสรรค์และพัฒนาเกม “King of Glory” ขึ้นมา ด้วยการทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบ หรือดัดแปลงงานสร้างสรรค์เกมใดเกมหนึ่งชื่อเกมอะไรโดยเฉพาะเจาะจงของบุคคลอื่น ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาต และการทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบ หรือดัดแปลงนั้นกระทำขึ้นอย่างไรบ้าง เช่นนี้ องค์ประกอบต่าง ๆ ของงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมกับลักษณะงานภาพประกอบและงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมทั้งหมดซึ่งแสดงออกมาในเกม “King of Glory” ตามคำฟ้องจึงมิใช่งานอันไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ดังที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง แต่เป็นงาน
อันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด ผู้สร้างสรรค์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นผลตามกฎหมาย หาจำต้องจดแจ้งลิขสิทธิ์ดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวในอุทธรณ์ไม่

         ส่วนกรณีงาน “เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เชื่อมประสาน (User Interface)” ที่เป็นองค์ประกอบของเกม “King of Glory” ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เห็นว่า แม้ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ของเกม “King of Glory” ของบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด กับเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสอง จะเป็นส่วนที่ทำให้ผู้เล่นเกมสามารถส่งคำสั่ง
ให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเกมทำงานตามที่ตนต้องการ และหลังประมวลผลตามคำสั่งของผู้เล่นเกมแล้ว โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเกมจะแสดงผลลัพธ์จากการประมวลผลการทำงานตามที่ผู้เล่นเกมได้สั่งการ โดยมีสัญลักษณ์ให้ส่งคำสั่งเพื่อให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเกมทำงานต่าง ๆ ซึ่งผู้เล่นเกมใช้วิธีการสัมผัสที่หน้าจอเป็นการส่งคำสั่ง เพื่อให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเกมทำการประมวลผลแล้วแสดงผล
ที่ได้ที่หน้าจอของเครื่อง อันเป็นส่วนที่จัดว่าเป็นแนวความคิดว่าผู้เล่นเกมจะสื่อสารกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเกมอย่างไร และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเกมจะตอบสนองต่อคำสั่งอย่างไร ซึ่งถือเป็นสิ่งที่โจทก์ไม่สามารถผูกขาดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งไม่ใช่สิ่งที่โจทก์จะได้รับ
ความคุ้มครองในฐานะเจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ แต่โจทก์บรรยายในคำฟ้องและนำสืบว่า องค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญของเกมประเภทโมบารวมถึงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างผู้ใช้งานอุปกรณ์ที่ใช้เล่นเกมกับตัวเกม เช่น ปุ่มควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวละครที่เป็นฮีโร่ ปุ่มใช้ทักษะ และปุ่มซื้ออุปกรณ์สวมใส่ให้ตัวละคร ซึ่งโจทก์และบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด สร้างสรรค์องค์ประกอบนี้ของเกม “King of Glory” งานของบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด จึงไม่จำกัดเพียงส่วนเชื่อมประสานเท่านั้น แต่รวมถึง “เครื่องหมาย” หรือ “สัญลักษณ์” อันเป็นงานสร้างสรรค์ศิลปกรรมลักษณะจิตรกรรม และเมื่อพิจารณาเครื่องหมายและสัญลักษณ์ของเกมประเภทโมบาอื่น ๆ แล้ว เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เชื่อมประสานมีรูปลักษณะหลายแบบ และไม่จำกัดเพียงการใช้ภาพอาวุธหรือภาพอื่นที่บริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งแสดงว่าผู้สร้างสรรค์สามารถออกแบบให้แตกต่างกันได้และไม่ใช่สัญลักษณ์สากลที่ใช้กันทั่วไป ทั้งข้อเท็จจริง
ไม่ปรากฏว่า บริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด ทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบ หรือดัดแปลงงาน
อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น งานเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เชื่อมประสานอันเป็นองค์ประกอบของเกม
“King of Glory” จึงถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี (เฉิงตู) จำกัด ผู้สร้างสรรค์ ด้วย

         ดังนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า
งาน “แผนที่ย่อ” “ฉากเริ่มต้น” และ “ภาพตัวละคร” ของเกม “King of Glory” เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เชื่อมประสาน (User Interface) มีลักษณะเป็นภาพเสมือนจริง
ในรูปแบบปุ่มกดต่าง ๆ ให้ผู้เล่นบังคับหรือเลือกใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในเกม สัญรูปที่ปรากฏ
เป็นอาวุธทั่วไปถือเป็นสิ่งสาธารณะและเป็นสากลที่ใช้สื่อแทนความเข้าใจโดยทั่วไปของผู้เล่นสอดคล้องกับตำแหน่งตามสรีระของคน ไม่อาจอ้างลิขสิทธิ์เพื่อผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวได้เพราะไม่ใช่การสร้างสรรค์ริเริ่มขึ้นมาใหม่อย่างเพียงพอถึงขนาดที่กฎหมายคุ้มครองนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่า องค์ประกอบอื่น ๆ ของเกม “King of Glory” ยกเว้นส่วนเชื่อมประสาน เป็นงาน
อันมีลิขสิทธิ์เช่นเดียวกัน อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองในประการต่อไปว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ของเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในองค์ประกอบต่าง ๆ ของเกม “King of Glory” หรือไม่ เห็นว่า เมื่อเกม “King of Glory” กับเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ต่างต้องมีผู้เล่นเกม ในการพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายกันในองค์ประกอบของเกม
ทั้งสองจึงต้องพิจารณาจากภาพที่ปรากฏในเกมว่า องค์ประกอบของเกมทั้งสองมีลักษณะของการทำซ้ำหรือดัดแปลงในสาระสำคัญของเกมหรือไม่ ข้อนี้ได้ความจากพยานโจทก์ปากนายพงศ์ปณต เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า แม้รูปแบบและกติกาของเกมประเภท
โมบาทั่วไปจะเหมือนหรือคล้ายกัน แต่เกมต่าง ๆ ที่แต่ละบริษัทสร้างสรรค์ขึ้นมีเอกลักษณ์ของตน คือ
มีการออกแบบให้มีองค์ประกอบส่วนต่าง ๆ ของเกม เช่น การจัดวางตำแหน่งของแผนที่ในเกม
ฉากในเกม หรือตัวละครและทักษะของตัวละครที่แตกต่างกัน การเล่นเกมฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลยทั้งสองจะมีลักษณะเหมือนกับการเล่นเกมเดียวกันเพราะมีองค์ประกอบต่าง ๆ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเหมือนกันประมาณร้อยละ ๘๐ ถึง ๙๐ แตกต่างจากการเล่นเกมอื่น ๆ ซึ่งเหมือนกับการเล่นเกมใหม่ ไม่ใช่เกมฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลยทั้งสอง พยานโจทก์ปากนี้ประกอบอาชีพนักกีฬาอี-สปอร์ต (e-Sports) และเป็นตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาหลายครั้ง ถือเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสีย
กับคู่ความฝ่ายใด และเป็นถึงบุคคลที่มีความรู้เรื่องเกมระดับมืออาชีพก็ยังไม่สามารถแยกความแตกต่างขององค์ประกอบของเกมทั้งสองได้ ทั้งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงแผนที่ ภาพและคำแนะนำช่วงสอนเล่นเกม ฉากในเกม ตัวละคร เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์สวมใส่ ทักษะของตัวละคร และเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เชื่อมประสานของเกม “King of Glory” และเกม “Mobile Legends: Bang Bang” เปรียบเทียบกัน การออกแบบและการจัดวางตำแหน่งองค์ประกอบต่าง ๆ ของเกมทั้งสองมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกัน อาทิเช่น ทักษะของตัวละครในเกม “King of Glory” เป็นภาพคนกำลังวิ่งไปทางขวา มีชื่อทักษะว่า “แฟลช” มีคำอธิบายว่า “การเคลื่อนย้ายตัว (teleport) ไปยังทิศทาง
ที่กำหนดในช่วงระยะทางหนึ่ง (โดยต้องรอ ๑๒๐ วินาที ก่อนที่จะใช้ทักษะดังกล่าวได้ใหม่
(120-second cooldown))” เปรียบเทียบกับทักษะของตัวละครในเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสอง เป็นภาพคนกำลังวิ่งไปทางซ้าย มีชื่อทักษะว่า “เทเลพอร์ต”มีคำอธิบายว่า “การเคลื่อนย้ายตัว (teleport) ไปยังทิศทางที่กำหนดในช่วงระยะทางหนึ่ง”, อุปกรณ์สวมใส่
ของตัวละครในเกม “King of Glory” เป็นภาพคทา มีชื่ออุปกรณ์ว่า “คทาแห่งความว่างเปล่า”
มีคำอธิบายว่า “พลังโจมตีเวทมนตร์ + ๑๘๐ พลังชีวิตสูงสุด + ๕๐๐” กับมีเพิ่มเติมว่า “Unique passive” มีคำอธิบายว่า “เจาะเกราะเวทมนตร์ ๔๕ %” เปรียบเทียบกับอุปกรณ์สวมใส่ของตัวละคร
ในเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสอง เป็นภาพเดียวกัน มีชื่ออุปกรณ์ว่า
“คทาแห่งดวงดาว” มีคำอธิบายว่า “พลังโจมตีเวทมนตร์ + ๖๕” กับมีเพิ่มเติมว่า “Unique passive” มีคำอธิบายว่า “เจาะเกราะเวทมนตร์ ๔๕ %” แผนที่ในเกมทั้งสองที่ใช้โทนสีเดียวกัน มีรูปร่าง ลายเส้น ส่วนโค้ง ตำแหน่งหัวหน้าสัตว์ประหลาดตรงกัน แม่น้ำคั่นกลางที่มีแนวเส้นโค้งหรือรอยหยักลักษณะเดียวกัน แนวพุ่มไม้ ต้นหญ้า ช่องว่างต่าง ๆ ที่เหมือนหรือคล้ายกัน ภาพและคำแนะนำช่วงสอนเล่นเกมที่มีพื้นหลัง แถบสีพาดหัว สีตัวอักษร ทิศทางของลูกศร กับลักษณะและเค้าโครงโดยรวมที่เหมือน
หรือคล้ายกัน และเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เชื่อมประสานเป็นคำสั่งให้ตัวละครโจมตีที่ใช้ภาพอาวุธดาบคล้ายกัน ทั้งที่เกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสองถูกสร้างสรรค์ขึ้นภายหลังเกม “King of Glory” และจำเลยทั้งสองสามารถออกแบบให้แตกต่างไปได้ ดังเช่นงานแผนที่ย่อของเกมประเภทโมบาชื่อ “Onmyoji Arena” กับเกมชื่อ “Extraordinary Ones” ที่มีส่วนประกอบของแผนที่และตำแหน่งการจัดวางส่วนประกอบที่ต่างกัน ฉากเลือกตัวละครของเกม “Onmyoji Arena” กับเกม “Extraordinary Ones” ที่มีพื้นหลัง โทนสี แถบเลือก และตำแหน่งการจัดวางชุดของตัวละคร
ที่ต่างไปจากเกม “King of Glory” และเกม “Mobile Legends: Bang Bang” และเครื่องหมาย
หรือสัญลักษณ์เชื่อมประสานเป็นคำสั่งให้ตัวละครโจมตีที่เป็นรูปดาบคนละสีหรือคนละรูปแบบ หรือไม่ใช่ภาพอาวุธ แต่เป็นภาพใบไม้ ประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัทแม่ของฝ่ายจำเลยทั้งสองเคยส่งพนักงานเข้าไปเรียนรู้องค์ประกอบของเกม “King of Glory” ในขณะที่บริษัทเทนเซ็นต์ เทคโนโลยี
(เฉิงตู) จำกัด มีนโยบายประสานงานให้บริษัทแม่ของฝ่ายจำเลยทั้งสองขยายตลาดเกมดังกล่าว
ในต่างประเทศ และช่วงระยะเวลาพัฒนาเกมของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงไม่กี่เดือนหลังจากมีการจัดตั้งบริษัท โดยพยานจำเลยทั้งสองไม่สามารถยืนยันระยะเวลาที่ใช้พัฒนาเกมได้ ดังคำเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านของพยานปากนายเจียเหว่ย ที่ว่า ตอบไม่ได้แน่ชัดว่าใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นเกี่ยวกับงานฉาก
หรืองานศิลปะเท่าใด และของพยานปากนายเกา ชง ที่ว่า ตอบไม่ได้ว่าระยะเวลาของการทำงานเสร็จสิ้นเมื่อใดก่อนที่จะเผยแพร่เกมของฝ่ายจำเลยทั้งสอง และพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่ปรับแก้

องค์ประกอบของเกม “Mobile Legends: Bang Bang” หลายครั้งภายหลังเจรจากับโจทก์ ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง กรณีรับฟังได้ว่า องค์ประกอบในเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงงานที่ดัดแปลง
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากงานอันมีลิขสิทธิ์ในเกม “King of Glory” ที่โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามคำฟ้อง การที่ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมและลักษณะงานภาพประกอบแผนที่ด้วยการดัดแปลงและเผยแพร่
ต่อสาธารณชน เฉพาะองค์ประกอบของเกมที่เป็นตัวละครบางส่วนและแผนที่ย่อของเกมนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ได้รับ
ความเสียหายหรือไม่ และตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เท่าใด กรณีปัญหาตามอุทธรณ์ข้อ ๙.๑ ของจำเลยทั้งสองที่ว่า เกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสองไม่ก่อให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดว่าเป็นเกม “King of Glory”
ที่โจทก์มีสิทธิใช้ลิขสิทธิ์ เนื่องจากเกมทั้งสองเป็นเกมที่มีกลุ่มผู้เล่นเป้าหมายเป็นคนละกลุ่ม และไม่ใช่เกมที่พัฒนาขึ้นเพื่อเผยแพร่ในตลาดของประเทศเดียวกันนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ปรากฏเป็นข้อต่อสู้
ในคำให้การของจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ให้การในข้อดังกล่าว อุทธรณ์ข้อ ๙.๑ ของจำเลยทั้งสองย่อมมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๘ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะรับอุทธรณ์ข้อ ๙.๑ ของจำเลยทั้งสอง แต่ก็ไม่ทำให้อุทธรณ์ดังกล่าวซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นกลายเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงไม่รับวินิจฉัย

         กรณีปัญหาตามอุทธรณ์ข้อ ๙.๒ ของจำเลยทั้งสองที่ว่า เกม “King of Glory” มิได้สูญเสียรายได้อันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองเปิดให้มีการดาวน์โหลดเกม “Mobile Legends: Bang Bang” นั้น
เห็นว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมและงานวรรณกรรมสำหรับเกม “King of Glory” มีสิทธิแต่เพียง
ผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ย่อมทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์
ตอบแทนในงานดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง การที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการนำงานศิลปกรรมและงานวรรณกรรมอันเป็นองค์ประกอบของเกม “King of Glory” ที่โจทก์มีสิทธิใช้ลิขสิทธิ์
ไปดัดแปลงเป็นงานศิลปกรรมและงานวรรณกรรมสำหรับเกม “Mobile Legends: Bang Bang”
ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยจำเลยทั้งสองกระทำเพื่อแสวงหารายได้จากการที่มีผู้เล่นเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ซึ่งมีงานศิลปกรรมและงานวรรณกรรมที่ทำขึ้นโดยละเมิดสิทธิ
ของโจทก์ในการใช้ลิขสิทธิ์ ย่อมทำให้จำเลยทั้งสองได้รับผลประโยชน์จากการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยจำเลยทั้งสองไม่ต้องจ่ายเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และไม่ต้องแบ่งผลกำไรที่ได้รับให้แก่โจทก์ ถือเป็นการแสวงหากำไรจากการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยไม่สุจริต และมีผลเสียหายต่อรายได้ของโจทก์ แม้ในทางนำสืบโจทก์จะไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ของเกม “King of Glory” ที่โจทก์
มีสิทธิใช้ลิขสิทธิ์ดังข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่ความเสียหายของโจทก์อาจแสดงให้เห็นได้จากผลประโยชน์ที่จำเลยทั้งสองได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยโจทก์แสดงข้อมูลรายได้จากเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสองในประเทศไทยระหว่างวันที่
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ ย่อมถือว่า โจทก์มีหลักฐานแสดงความเสียหาย
ผ่านทางรายได้จากเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสอง อันเป็นผลประโยชน์
ที่จำเลยทั้งสองได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลประโยชน์ที่โจทก์ไม่ได้รับ
หรือสูญเสียไปนั่นเอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายตามคำฟ้อง ดังนี้ การที่
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า หากไม่มีเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสองแล้ว ผู้อาศัยในประเทศไทยย่อมเลือกที่จะเล่นเกม “King of Glory” ของโจทก์ได้ แม้จะไม่สมบูรณ์ทั้งหมด การมีเกม “Mobile Legends: Bang Bang” ของจำเลยทั้งสองย่อมส่งผลกระทบต่อเกม “King of Glory” ของโจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าเสียหาย
ให้แก่โจทก์เท่าใด เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ... ศาลมีอํานาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ ... ตามจํานวนที่ศาลเห็นสมควร โดยคํานึงถึงความร้ายแรงของความเสียหาย รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์ ... ด้วย” ส่วนวรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ ... เป็นการกระทํา
โดยจงใจหรือมีเจตนาเป็นเหตุให้งานอันมีลิขสิทธิ์ ... สามารถเข้าถึงโดยสาธารณชนได้อย่างแพร่หลาย
ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายตามวรรคหนึ่ง”
เมื่อพิจารณาเอกสารที่โจทก์นำมาแสดงเป็นข้อมูลรายได้ในประเทศไทยระหว่างวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ ของจำเลยทั้งสองจากเกม “Mobile Legends: Bang Bang”
ในระบบปฏิบัติการ iOS เป็นเงิน ๗๗๘,๙๓๗ ดอลลาร์สหรัฐ และในระบบปฏิบัติการ Android เป็นเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวพอแปลได้ว่าเป็นความเสียหายที่โจทก์สูญเสียประโยชน์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง ตรงกับการสูญเสียรายได้
ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการเกม “King of Glory” ที่โจทก์มีสิทธิใช้ลิขสิทธิ์ในประเทศไทยซึ่งโจทก์
ควรจะได้รับดังที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องและในทางนำสืบของโจทก์นั่นเอง แม้รายได้ของจำเลยทั้งสองตามข้อมูลในเอกสารจะเป็นจำนวนที่ไม่แน่นอนเพราะยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง แต่ก็ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะให้ศาลใช้เป็นเกณฑ์เพื่อพิจารณากำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดได้แล้วตามรูปการณ์แห่งคดีที่โจทก์นำสืบมา การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น ยังไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดเนื่องจากจำนวนงานอันมีลิขสิทธิ์ในเกม “King of Glory” ที่โจทก์มีสิทธิใช้ลิขสิทธิ์แต่ถูกจำเลยทั้งสองกระทำการละเมิดมีปริมาณมากกว่างานอันมีลิขสิทธิ์ตามคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อันพึงคำนึงถึงความวิริยะอุตสาหะ ระยะเวลา และเงินทุนที่เกี่ยวกับงานที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ด้วย ซึ่งข้อนี้เป็นไปดังที่ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษได้วินิจฉัยมาข้างต้น จึงย่อมมีเหตุกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เสียใหม่เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๔ วรรคสอง จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมา อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับข้อที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าใช้จ่ายในการบังคับตามสิทธิข้ามประเทศอีก ๕๐๐,๐๐๐ บาท นั้น เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง ศาลจะมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายอันจําเป็นในการบังคับ
ตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ตาม แต่จำนวนเงินดังกล่าวที่ศาลจะมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้หรือจ่ายนั้น ต้องมีข้อเท็จจริงและรายละเอียดปรากฏในคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจของศาลในการกำหนดให้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดของค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิและมิได้เรียกค่าเสียหายส่วนนี้มาในคำฟ้องของโจทก์ การใช้ดุลพินิจ
ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่กำหนดค่าใช้จ่ายในการบังคับ
ตามสิทธิข้ามประเทศอีก ๕๐๐,๐๐๐ บาท จึงไม่ชอบ เป็นการพิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ
เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
จึงไม่กำหนดให้

         พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑๐,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

 

 

 

แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

(วราคมน์  เลี้ยงพันธุ์ – ธารทิพย์  จงจักรพันธ์ – วิวัฒน์  วงศกิตติรักษ์)

ธนวรรณ  นราวิริยะกุล - ย่อ

 นิภา  ชัยเจริญ - ตรวจ