คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1210/2567 บริษัท ๓. โจทก์
บริษัท อ. จำเลย
การค้าระหว่างประเทศ รับขนของทางทะเล
โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งรับผิดในความเสียหาย โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ขนส่ง เนื่องจากไม่บอกกล่าวการไปถึงของสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง เมื่อจำเลยรับว่าเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท แต่โต้แย้งว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ในการบอกกล่าวการไปถึงของสินค้า
แก่ผู้รับตราส่งแล้ว จำเลยจึงเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ว่าได้บอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่งโดยชอบแล้วตามที่กล่าวอ้าง โดยโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนหาได้มีหน้าที่ต้องนำพยานมาสืบแก้หรือถามค้านพยานบุคคลและพยานเอกสารของจำเลยเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสอธิบายไม่
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน ๓๓,๑๑๗.๖๑ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน ๓๒,๐๘๙ ดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี หรืออัตราใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยน
โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด ประกอบธุรกิจนําเข้าและจําหน่ายผลไม้ จําเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด ตามกฎหมาย
ของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางทะเล
โดยมีบริษัท ว. เป็นตัวแทนในประเทศไทย เมื่อประมาณเดือนกันยายน ๒๕๖๔ โจทก์ขายสินค้าลำไยสด ๒,๒๐๐ ตะกร้า น้ำหนัก ๒๖,๘๔๐ กิโลกรัม ให้แก่บริษัท พ. ผู้ซื้อ สัญชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งมอบหมายให้บริษัท ล. เป็นตัวแทนในการติดต่อซื้อขายและทําหน้าที่จัดการขนส่งสินค้า เป็นการซื้อขายในรูปแบบเงื่อนไขซีเอฟอาร์ คือราคาสินค้ารวมค่าขนส่งทางทะเล ๓๒,๐๘๙ ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ว่าจ้างจําเลยขนส่งสินค้าทางทะเลไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อที่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยจําเลยจัดหาตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิให้แก่โจทก์เพื่อบรรจุสินค้า เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ จําเลยรับมอบตู้สินค้าที่บรรจุสินค้า
ในสภาพดีครบถ้วน จําเลยออกใบตราส่งให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการขนส่งโดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ส่งและระบุชื่อบริษัท ล. เป็นผู้รับตราส่ง ขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง ที่ท่าเรือมะนิลาใต้ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยเรือ GREEN CELESTE และเรือ EVER PRIMA เมื่อวันที่
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ จำเลยขนส่งตู้สินค้าบรรจุสินค้าถึงท่าเรือปลายทางและดำเนินการขนถ่าย
ตู้สินค้าให้แก่การท่าเรือแล้ว ต่อมาวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ โจทก์ติดต่อสอบถามและส่งเอกสาร
เพื่อเรียกเก็บค่าสินค้าไปยังผู้รับตราส่ง แต่ผู้รับตราส่งและผู้ซื้อไม่ยอมรับสินค้าและประกาศสละสินค้า โจทก์ไม่ได้รับชำระค่าสินค้าจากผู้ซื้อ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยในฐานะผู้ขนส่งบอกกล่าว
การไปถึงของสินค้าแก่ผู้รับตราส่งแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่ง
รับผิดในความเสียหาย โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ขนส่ง เนื่องจากการไม่บอกกล่าวการไปถึงของสินค้า เมื่อจำเลยรับว่าเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท แต่โต้แย้งว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ในการบอกกล่าวการไปถึงของสินค้าแก่ผู้รับตราส่งแล้ว จำเลยจึงเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ว่าได้บอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่งโดยชอบแล้วตามที่กล่าวอ้าง โดยโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนหาได้มีหน้าที่ต้องนำพยานมาสืบแก้
หรือถามค้านพยานบุคคลและพยานเอกสารของจำเลยเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสอธิบายตามที่จำเลย
แก้อุทธรณ์ไม่ และแม้ว่าพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๖ จะบัญญัติ
ให้ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่งโดยไม่ชักช้า เมื่อของไปถึงท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่ตกลงกันแล้ว โดยไม่ได้กำหนดว่าการบอกกล่าวต้องทำด้วยวิธีการใด ซึ่งหมายความว่าผู้ขนส่งสามารถบอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่งด้วยวิธีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่จำต้องติดต่อทางโทรศัพท์ตามที่โจทก์แจ้งไว้ก็ได้ แต่สำหรับปัญหาว่าจำเลยได้บอกกล่าวการไปถึงของสินค้าแก่ผู้รับตราส่งแล้วหรือไม่นั้น เมื่อจำเลยหรือตัวแทนใช้วิธีการบอกกล่าวผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อันเป็นการส่งข้อความด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือได้ว่าข้อความนั้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามนิยาม
ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งมาตรา ๒๒
บัญญัติถึงการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ว่า การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ถือว่าได้มีการส่งเมื่อ
ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เข้าสู่ระบบข้อมูลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ส่งข้อมูล การที่พยานจำเลยยืนยันว่าตัวแทนจำเลยส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกับเอกสารแจ้งการมาถึงของสินค้า
ถึงผู้รับตราส่งไปยังที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของผู้รับตราส่ง โดยมีเพียงสำเนาจดหมายอิเล็กทรอนิกส์พร้อมใบแจ้งการมาถึงของสินค้า ซึ่งเป็นหนังสือที่จำเลยจัดทำขึ้นเพื่อแจ้งผู้รับตราส่งอ้าง
เป็นพยานหลักฐาน แต่ไม่ปรากฏรายงานผลการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงได้ว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามเอกสารดังกล่าวนั้นได้เข้าสู่ระบบข้อมูลของผู้รับตราส่งที่อยู่นอกเหนือ
การควบคุมของตัวแทนจำเลยผู้ส่งข้อมูลแล้ว แม้ทนายโจทก์จะถามค้านพยานจำเลยแล้วว่าจำเลย
ไม่มีหลักฐานเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งหนังสือแจ้งการมาถึงของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งใช่หรือไม่ พยานจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านเพียงว่าได้รับแจ้งจากจำเลยว่าหนังสือแจ้งการมาถึงของสินค้า
ถูกส่งโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยอัตโนมัติ ไม่ได้ส่งผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจาก
เป็นการเบิกความถึงวิธีการส่งหนังสือแจ้งการมาถึงของสินค้าแตกต่างกับคำให้การของจำเลย
และข้อเท็จจริงที่พยานจำเลยยืนยันในบันทึกถ้อยคำแล้ว ยังเป็นการเบิกความลอย ๆ โดยปราศจากหลักฐานการส่งหนังสือแจ้งดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการส่งด้วยวิธีการใด เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐาน
การส่งหนังสือแจ้งการมาถึงของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งมาแสดง พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยบอกกล่าวการไปถึงของสินค้าแก่ผู้รับตราส่งแล้ว แม้จำเลยจะนำสืบในทำนองว่าจำเลยเคยส่งหนังสือแจ้งการมาถึงของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งไปยังที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์เดียวกันกับการขนส่งครั้งนี้ ซึ่งผู้รับตราส่งได้รับการแจ้งและไปดำเนินการรับมอบสินค้าเรียบร้อยแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าวก็เพียงแต่แสดงการบอกกล่าวสำหรับการขนส่งครั้งก่อน
ซึ่งไม่อาจยืนยันได้ว่าจำเลยส่งหนังสือแจ้งการมาถึงของสินค้าสำหรับการขนส่งครั้งพิพาทนี้ให้แก่
ผู้รับตราส่งแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยได้แจ้ง
การมาถึงของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งโดยชอบแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าจำเลยไม่ได้บอกกล่าวการไปถึงของสินค้า
แก่ผู้รับตราส่ง จนทำให้สินค้าถูกเก็บอยู่ในตู้สินค้านับแต่จำเลยรับมอบสินค้าเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ จนถึงวันที่ผู้รับตราส่งรู้ว่าสินค้าถึงท่าปลายทางแล้วเนื่องจากโจทก์สอบถามและเรียกเก็บค่าสินค้า
เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ สินค้าลำไยสดซึ่งเป็นผลไม้สดเสียง่าย แม้จะเก็บรักษาอยู่ในตู้สินค้า
ซึ่งควบคุมอุณหภูมิ แต่ด้วยระยะเวลานานถึง ๑ เดือนเศษ สินค้าย่อมไม่สามารถรักษาความสดไว้ได้
ผู้รับตราส่งและผู้ซื้อย่อมมีสิทธิปฏิเสธการรับมอบสินค้าและไม่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ได้ และการที่
ผู้ซื้อไม่ได้ติดต่อสอบถามจำเลยหรือตัวแทนและขวนขวายติดตามสถานการณ์ขนส่งสินค้าจากเว็บไซต์ของจำเลย ก็หาใช่เป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้ซื้อไม่ อีกทั้งผู้ซื้อสินค้าไม่จำเป็นต้องยอมรับสินค้าแล้วนำสินค้าออกขายทอดตลาดตามข้อต่อสู้ของจำเลย จำเลยในฐานะผู้ขนส่งซึ่งไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่
ตามกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนปัญหาว่าจำเลย
มีความรับผิดไม่เกินข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุแห่งความเสียหายนั้นเป็นผลจากการที่จำเลยหรือตัวแทนกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนา
ที่จะให้เกิดความเสียหายหรือส่งมอบชักช้า หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ จำเลยจึงสามารถจำกัดความรับผิดได้ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕๘ ก็ตาม แต่มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ที่จำนวนหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง เมื่อจำเลยขนส่งสินค้าลำไยสด ๒,๒๐๐ ตะกร้า หรือ หน่วยการขนส่ง เมื่อคำนวณแล้วเป็นกรณีที่ราคาสินค้า
ของโจทก์ในเวลาที่พึงส่งมอบต่ำกว่าจำนวนที่จำกัดความรับผิดไว้ จึงต้องถือเอาตามราคาที่คำนวณ
ได้ตามสำเนาใบกำกับสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตามมาตรา ๕๘ วรรคสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยจากการผิดนัด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าหนังสือแจ้งสละสินค้าของผู้ซื้อ
ที่ส่งให้แก่ตัวแทนของจำเลยเป็นเพียงข้ออ้างที่ผู้ซื้อจะปฏิเสธไม่รับสินค้า แล้วพิพากษายกฟ้อง
มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษากลับ ให้จําเลยชําระเงิน ๓๓,๑๑๗.๖๑ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา
ร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๒,๐๘๙ ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ
แก่โจทก์ ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ.
(กรกันยา สุวรรณพานิช – เทอดชัย ธนะพงศ์พร – ปัทมา ทุมมา จรรยาพูน)
สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ
กลอน รักษา - ตรวจ