อุทธรณ์ที่ตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

หมายเลขคดีดำที่ ร.539/2560                      ธนาคารออมสิน                                             โจทก์

หมายเลขคดีแดงที่ 1090/2560                     นายอรรถพงษ์  บุญกอง

                                                         หรืออิทธิพัทธ์  ปิยเดชชัยนันต์ กับพวก                 จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 193/12, 193/30

 

            โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ลงนามอนุมัติการจ่ายเงินกู้อย่างขาดความระมัดระวังและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโจทก์ เป็นประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงย่อมเป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานและในขณะเดียวกันก็เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย แม้จำเลยที่ 2 เพียงอ้างอายุความเรื่องละเมิดโดยไม่ได้กล่าวถึงอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาต่อสู้คดีโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ว่าเพราะเหตุใดคดีโจทก์จึงขาดอายุความขึ้นมากล่าวไว้ในคำให้การด้วยแล้ว โดยกล่าวว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 2 รายงานการกระทำทุจริตของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โจทก์จึงทราบถึงวันทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 แล้ว อันหมายความถึงวันเกิดเหตุ แล้วกล่าวว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 เมื่อนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด จากข้อเท็จจริงที่ว่า นับแต่วันเกิดเหตุ ย่อมเป็นวันที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี อันเป็นการอ้างอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้อ้างอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาต่อสู้ไว้แล้ว ศาลแรงงานภาค 5 จึงมีอำนาจที่จะยกอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาปรับแก่คดีได้ หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำให้การแต่อย่างใดไม่ ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ทั้งนี้วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องคือวันที่จำเลยที่ 2 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหาใช่วันที่โจทก์มีคำสั่งลงโทษจำเลยที่ 2 คือวันที่ 16 มกราคม 2560 แต่อย่างใด เมื่อศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2547 นับถึงวันฟ้องวันที่ 13 มกราคม 2560 จึงเกินกว่า 10 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความทั้งอายุความฐานละเมิดและอายุความฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน

______________________________

 

            โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย 3,126,188.85 บาท และ 6,393,240.42 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 ขาดนัด

          จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่จำเลยที่ 2 กระทำผิดคือวันที่จำเลยที่ 2 ลงนามอนุมัติให้จ่ายเงินกู้ในช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2547 และเป็นวันที่จำเลยที่ 2 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน

          ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีข้อเดียวว่า การฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ลงนามอนุมัติการจ่ายเงินกู้อย่างขาดความระมัดระวังและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโจทก์ เป็นประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ย่อมเป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานและในขณะเดียวกันก็เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย แม้จำเลยที่ 2 เพียงอ้างอายุความเรื่องละเมิดโดยไม่ได้กล่าวถึงอายุความเรื่องผิดสัญญาขึ้นมาต่อสู้คดีโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ว่าเพราะเหตุใด คดีโจทก์จึงขาดอายุความขึ้นมากล่าวไว้ในคำให้การด้วยแล้ว โดยกล่าวว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 2 รายงานการกระทำทุจริตของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โจทก์จึงทราบถึงวันทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 แล้ว อันหมายความถึงวันเกิดเหตุ แล้วกล่าวว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 เมื่อนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด จากข้อเท็จจริงที่ว่า นับแต่วันเกิดเหตุ ย่อมเป็นวันที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี อันเป็นการอ้างอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้อ้างอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาต่อสู้ไว้แล้ว ศาลแรงงานภาค 5 จึงมีอำนาจที่จะยกอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาปรับแก่คดีได้ หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำให้การแต่อย่างใดไม่ ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงาน ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ทั้งนี้วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปคือ วันที่จำเลยที่ 2 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่วันที่โจทก์มีคำสั่งลงโทษจำเลยที่ 2 คือวันที่ 16 มกราคม 2560 แต่อย่างใด เมื่อศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์และกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2547 นับถึงวันฟ้องวันที่ 13 มกราคม 2560 จึงเกินกว่า 10 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความทั้งอายุความฐานละเมิดและอายุความฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน ที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เพราะเหตุดังกล่าวมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน.

 

(เกื้อ  วุฒิปวัฒน์ - สุจินต์  เชี่ยวชาญศิลป์ - วิชชุพล  สุขสวัสดิ์)

 

ศาลแรงงานภาค 5        นายนพคุณ  ไชยเทพ

 

นายวิฑูรย์  ตรีสุนทรรัตน์                   ผู้ช่วยฯ/ย่อสั้น

นายสุโรจน์  จันทรพิทักษ์                   ผู้พิพากษาฯ ประจำกองผู้ช่วยฯ/ตรวจย่อสั้น/ตรวจย่อยาว

นางสาวนิติรัตน์  ศิระภัสร์บารมี            นิติกร/ย่อยาว

นางสาวมนัสนันท์  อิ่มใจ                   พิมพ์