คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ นาง น.                               โจทก์                       

         ที่ วยช 9/2567                                  นาย พ.                              จำเลย

 

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเคยเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาได้จดทะเบียนหย่าโดยทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าพร้อมหนังสือการหย่าตกลงเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ แต่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินพิพาท โจทก์กล่าวอ้างตามคำฟ้องว่าทรัพย์สินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันภายหลังการหย่า จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย ขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์สินพิพาทแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยให้การว่า ทรัพย์สินพิพาทเป็นของจำเลย         ขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องและคำขอบังคับจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้อง
โดยใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม อันเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ ๔ ลักษณะ 2 ไม่มีประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สิน         หรือข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสุดแห่งการสมรส จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. บรรพ ๕ คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัว

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี ๒๕๒๙ โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยา
โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาโจทก์กับจำเลยเข้าร่วมเป็นสมาชิกและตัวแทนจำหน่าย
สินค้าของบริษัท อ. โดยบริษัทจะโอนเงินส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเป็นเงินสะสม
ให้ตัวแทนทุกเดือนตลอดชีวิตของตัวแทนเข้าบัญชีของจำเลย เงินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2538 โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาได้จดทะเบียนหย่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 โดยทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าและหนังสือการหย่าแต่มิได้ตกลงกันในเรื่องเงินส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยได้รับเงินสะสมประจำปี ๒๕๕๙ ถึงปี ๒๕๖๖ จากบริษัท อ. รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕,๐๗๔,๔๖๑.๓๒ บาท แต่จำเลยไม่แบ่งเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๒,๕๓๗,๒๓๐.๖๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระเงินรายได้จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท อ. ให้แก่โจทก์ทุกเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะมีการยกเลิกสัญญา

         จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นสมาชิกและตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท อ. ต่อมา
เมื่อโจทก์กับจำเลยคบหาเป็นคนรักกัน จำเลยขอให้โจทก์สมัครเป็นสมาชิกของบริษัทดังกล่าว
ในบัญชีสมาชิกของจำเลย โจทก์กับจำเลยเคยจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาได้จดทะเบียนหย่า
โดยทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าและหนังสือการหย่าตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างกันหลายรายการ รวมถึงค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้เรียกร้องเงินส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าของบริษัท อ. จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยอมรับตามข้อตกลงดังกล่าว ภายหลังการหย่าโจทก์กับจำเลยไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยาและไม่ได้ประกอบอาชีพใดร่วมกันอีก เงินส่วนแบ่งรายได้จากบริษัท อ. ในปี 2559 ถึงปี 2566 จำเลยได้มาภายหลังการหย่า
โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย ไม่ใช่กรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวพันกับทรัพย์สิน
และความสัมพันธ์ระหว่างที่โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงข้อตกลงการหย่า จึงเป็นคดีครอบครัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งมีนบุรี ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษา
ของศาลเยาวชนและครอบครัว ขอให้ส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย
เรื่องอำนาจศาล ศาลแพ่งมีนบุรีเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษา
ของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชน
และครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๑

         วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “คดีครอบครัว” หมายความว่า คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอ
ต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัวซึ่งจะต้องบังคับ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว ดังนั้น คดีที่เกี่ยวด้วยการสมรส สิทธิและหน้าที่
หรือความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา บิดามารดาและบุตรไม่ว่าในทางใด ซึ่งพิพาทกัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ทั้งหมด คดีที่เกี่ยวด้วยสถานะ
และความสามารถของบุคคลเกี่ยวกับครอบครัวหรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ ซึ่งพิพาทกัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในบรรพ ๑ มาตรา ๒๑ ถึง ๒๘, ๓๒, ๔๓ และ ๔๔
และในบรรพ ๖ มาตรา ๑๖๑๐, ๑๖๑๑, ๑๖๘๗ และ ๑๖๙๒ รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับกฎหมาย
ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัวหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัวย่อมถือเป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓) คดีนี้ข้อเท็จจริงยุติตามคำฟ้องและคำให้การว่า โจทก์กับจำเลยเคยเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาได้จดทะเบียนหย่าโดยทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า
พร้อมหนังสือการหย่าตกลงเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและค่าเลี้ยงชีพ
แก่โจทก์ แต่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินพิพาท โจทก์กล่าวอ้างตามคำฟ้องว่าทรัพย์สินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันภายหลังการหย่า จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย ขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินพิพาทแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ว่า ทรัพย์สินพิพาทได้มาโดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องและคำขอบังคับจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิ
ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม อันเป็นกรณีที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ลักษณะ 2 ไม่มีประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา
ในทางทรัพย์สิน หรือข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสุดแห่งการสมรส จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติ
ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓)

         วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว

 

วินิจฉัย ณ วันที่ ๑๒ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗

 

ประกอบ ลีนะเปสนันท์

(นายประกอบ ลีนะเปสนันท์)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

 

                  

วุฒิพงศ์ เถาวัฒนะ - ย่อ

อุษา จิวะชาติ - ตรวจ