คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ  นาย ก.                                โจทก์

         ที่ วยช 3/2567                                 นาย ว.                             จำเลย

 

         โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดก
กระทำไปโดยไม่สุจริต กับให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินตามที่โจทก์มีสิทธิ
ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก เป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์มรดก
โดยโจทก์อ้างว่าตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกอันเป็นกรณีจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สิน และบรรพ ๖ ว่าด้วยมรดก แม้ในคำให้การของจำเลยจะอ้างด้วยว่า
โจทก์ไม่ใช่บุตรของนาย ส. เจ้ามรดก แต่ก็เป็นเพียงข้อต่อสู้ของจำเลย ซึ่งไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดี ประเด็นหลักของคำให้การดังกล่าวเป็นเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดก คดีนี้
จึงไม่เป็นคดีครอบครัว

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องว่า นาย ส. จดทะเบียนสมรสกับนาง พ. มีบุตรด้วยกัน ๕ คน คือ จำเลย นางสาว น. นาง จ. นาย ฐ. และนาย ร. โจทก์เป็นบุตรของนาย ส. กับนาง ล.
ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส นาย ส. ได้ให้การรับรองต่อบุคคลทั่วไป
และแสดงเจตนาโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป ให้ใช้นามสกุล และรับรองในสูติบัตรว่าโจทก์เป็นบุตร หลังจากนาย ส. ถึงแก่ความตาย ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งตั้งให้นาง พ.
เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ส. ตามคดีหมายเลขแดงที่ ๒๒๘๖/๒๕๔๑ ต่อมานาง พ.
ถึงแก่ความตาย ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งตั้งให้นางสาว น. เป็นผู้จัดการมรดกของนาง พ.
ตามคดีหมายเลขแดงที่ ๗๗๖/๒๕๖๐ ขณะมีชีวิตนาย ส. มีทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดก
หลายรายการ นาง พ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนาย ส.
ใส่ชื่อนาง พ. กับจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยโจทก์มิได้รับโอนมรดกแต่อย่างใด อันเป็น
การแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยไม่สุจริต และหลังจากนาง พ. ถึงแก่ความตายแล้ว นางสาว น.
ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนมรดกเฉพาะส่วนของนาง พ. ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
ขอให้พิพากษาให้เพิกถอนการโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗ และ ๓๓๕ ตำบลแม่จัน
อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๖๑ ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน
จังหวัดเชียงราย และที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๙๒๙ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
และให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินตามที่โจทก์มีสิทธิรับมรดก หากจำเลย
ไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

         จำเลยให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนนิติกรรมและขอให้
ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว
ไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากตามสภาพคำฟ้อง
และคำขอบังคับของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดิน แต่กลับขอให้ใส่ชื่อโจทก์
เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย ซึ่งขัดแย้งกันเอง ทำให้จำเลยไม่เข้าใจและไม่สามารถ
ต่อสู้คดีได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดิน
แต่บุคคลที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกคือ นาง พ. กับนางสาว น. ซึ่งเป็น
ผู้จัดการมรดก และจำเลยมีสิทธิถือครองทรัพย์มรดก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์มรดก
คืนจากจำเลย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อนาย ส. เจ้ามรดกตาย และสิทธิเรียกร้องของโจทก์พ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อ
เจ้ามรดกตายแล้ว โจทก์ไม่ใช่บุตรของนาย ส. เนื่องจากโจทก์เกิดเมื่อนาย ส. มีอายุ ๖๐ ปี
และพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร แต่ตามสูติบัตรโจทก์เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยนาย ส. ไม่เคยจดทะเบียนรับรองบุตรหรือรับรองบุตรโดยปริยายและไม่ได้เป็นผู้แจ้ง
การเกิดของโจทก์ นาง พ. และนางสาว น. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ส. ไม่ได้
ปกปิดทายาทหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยไม่สุจริตเนื่องจากนาง พ. นางสาว น.
จำเลยและทายาทคนอื่น ๆ ไม่เคยรู้จักกับโจทก์และนาง ล. มาก่อน ทั้งโจทก์
และนาง ล. ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการที่นาง พ. ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของนาย ส.
การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกและการแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณา ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงรายเห็นว่า กรณี
มีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่
จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณา
คดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๑

         วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “คดีครอบครัว” หมายความว่า คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัวซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว ดังนั้น คดีที่เกี่ยวด้วยการสมรส สิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา บิดามารดาและบุตรไม่ว่าในทางใด ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ทั้งหมด คดีที่เกี่ยวด้วยสถานะและความสามารถของบุคคลเกี่ยวกับครอบครัวหรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในบรรพ ๑ มาตรา ๒๑ ถึง ๒๘, ๓๒, ๔๓ และ ๔๔ และในบรรพ ๖ มาตรา ๑๖๑๐, ๑๖๑๑, ๑๖๘๗ และ ๑๖๙๒ รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัวหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัวย่อมถือเป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชน
และครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓)
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกกระทำไป
โดยไม่สุจริต กับให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินตามที่โจทก์มีสิทธิในฐานะทายาท
ผู้มีสิทธิรับมรดก เป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์มรดก โดยโจทก์อ้างว่า
ตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกอันเป็นกรณีจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สิน และบรรพ ๖ ว่าด้วยมรดก แม้ในคำให้การของจำเลยจะอ้างด้วยว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรของนาย ส. เจ้ามรดก แต่ก็เป็นเพียงข้อต่อสู้ของจำเลย ซึ่งไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดี ประเด็นหลักของคำให้การดังกล่าวเป็นเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดก
คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัว ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓)

         วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว

 

วินิจฉัย ณ วันที่ ๒๒ เดือน มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗

 

ประกอบ ลีนะเปสนันท์

(นายประกอบ ลีนะเปสนันท์)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

 

วุฒิพงศ์ เถาวัฒนะ - ย่อ

อุษา จิวะชาติ - ตรวจ