Print
Category: 2566
Hits: 280

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 304/๒๕๖6 บริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด                   โจทก์

         (ประชุมใหญ่)                                            บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด

                                                                    (มหาชน) กับพวก                              จำเลย

ป.อ. มาตรา ๒, ๑๗๗ วรรคหนึ่ง, ๑๘๐ วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙, ๑๐, ๑๔, 91 วรรคหนึ่ง, ๑๗๑, ๙๐/๓, ๙๐/๘

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔

         ความผิดตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๗๑ สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้ ผู้กระทำ ได้แก่ เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ การกระทำ ได้แก่ ๑. กล่าวอ้างหรือขอรับชำระหนี้
ในคดีล้มละลายโดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญ ๒. กล่าวอ้างในการขอประนอมหนี้โดยไม่เป็น
ความจริงในส่วนสาระสำคัญ ๓. กล่าวอ้างในการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยไม่เป็นความจริง
ในส่วนสาระสำคัญ ดังนี้ การกระทำประการแรก คือ การกล่าวอ้างหรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
โดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญ ซึ่งกระบวนการขอรับชำระหนี้นี้ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
ได้บัญญัติไว้ในหมวด ๔ ส่วนที่ ๑ มาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง ว่า “เจ้าหนี้ซึ่งขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
จะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา
สองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด...” เช่นนี้การกระทำประการแรกตามมาตรา ๑๗๑
จึงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา ๑๔ แล้ว ทั้งในชั้นการยื่นฟ้องคดีล้มละลายนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้องก็ยังไม่มีการจำกัดสิทธิของจำเลยที่ถูกฟ้อง จำเลยที่ถูกฟ้อง
เมื่อได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว สามารถให้การต่อสู้คดีได้ ซึ่งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีหน้าที่จะต้อง
นำพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ดั่งคำฟ้อง มิฉะนั้นแล้วพยานหลักฐานจะฟังไม่ได้ความจริง และหากเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือพยานเบิกความอันเป็นเท็จ ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี จะเป็นความผิด
ตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๗ วรรคหนึ่ง หรือถ้านำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี
ถ้าเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๘๐ วรรคหนึ่ง ทั้งในการที่ศาล
จะพิจารณาแล้วมีคำพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย
พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔ ศาลจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และของจำเลยเสียก่อน หาใช่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยอาศัยข้อความในคำฟ้องเพียงลำพัง ซึ่งหากศาล
ในคดีล้มละลายพิจารณาได้ความว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลายมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยแล้ว ศาลในคดีล้มละลายก็ชอบที่จะมีคำพิพากษายกฟ้องต่อไป ทั้งหาก พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ประสงค์ให้การฟ้องคดีล้มละลายโดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญเป็นความผิดอาญา ก็ชอบ
ที่
จะบัญญัติไว้โดยตรงว่า เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้คนใดยื่นฟ้องคดีล้มละลายตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ โดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญเป็นความผิด เพื่อให้ชัดเจนว่ากระบวนการในการฟ้องล้มละลายอันเป็นเท็จในสาระสำคัญนั้น กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ตาม ป.อ. มาตรา ๒
เหมือนดังที่ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ บัญญัติให้การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามมาตรา ๙๐/๓
อันเป็นเท็จในสาระสำคัญเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๘๐ เมื่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๗๑ ไม่ได้บัญญัติให้การยื่นฟ้องคดีล้มละลายโดยไม่เป็นความจริง
ในส่วนสาระสำคัญเป็นความผิด การกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๗๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๔ และ ๙๑

         ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๑๓ ถึงแก่ความตาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑๓ ออกจากสารบบความ

         ศาลล้มละลายกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๗๑ รวมถึงการยื่นฟ้องคดีล้มละลาย
โดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญด้วยหรือไม่ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อ
เมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” เมื่อคดีนี้โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๗๑ ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้คนใดกล่าวอ้าง หรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหรือการขอประนอมหนี้ หรือในการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล มีความผิด
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ซึ่งแบ่งกระบวนพิจารณาคดีออกเป็นหลายชั้น ได้แก่
ชั้นการฟ้องขอให้ล้มละลาย ชั้นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ชั้นการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ชั้นจัดการกิจการ
และทรัพย์สิน ชั้นการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย ชั้นปลดจากล้มละลาย ชั้นยกเลิกการล้มละลาย
โดยการฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ เมื่อพิจารณาความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๗๑ แล้ว ก็สามารถ
แยกองค์ประกอบความผิดของมาตรานี้ได้ดังนี้ คือ ผู้กระทำ ได้แก่ เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ การกระทำ ได้แก่ ๑. กล่าวอ้างหรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายโดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญ ๒. กล่าวอ้างในการขอประนอมหนี้โดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญ ๓. กล่าวอ้างในการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญ ดังนี้ การกระทำประการแรก คือ การกล่าวอ้างหรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายโดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญ ซึ่งกระบวนการขอรับชำระหนี้นี้ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้บัญญัติไว้ในหมวด ๔ ส่วนที่ ๑ มาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง ว่า “เจ้าหนี้ซึ่งขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด...” เช่นนี้การกระทำประการแรกตามมาตรา ๑๗๑ จึงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา ๑๔ แล้ว ทั้งในชั้นการยื่นฟ้องคดีล้มละลายนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้องก็ยังไม่มีการจำกัดสิทธิของจำเลยที่ถูกฟ้อง จำเลยที่ถูกฟ้องเมื่อได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว สามารถให้การต่อสู้คดีได้ ซึ่งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์
มีหน้าที่จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ดั่งคำฟ้อง มิฉะนั้นแล้วพยานหลักฐานจะฟังไม่ได้ความจริง
และหากเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือพยานเบิกความอันเป็นเท็จ ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี
จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ วรรคหนึ่ง หรือถ้านำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ถ้าเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๐ วรรคหนึ่ง ทั้งในการที่ศาลจะพิจารณาแล้วมีคำพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔ ศาลจะต้องพิจารณา
พยานหลักฐานของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และของจำเลยเสียก่อน หาใช่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยอาศัยข้อความในคำฟ้องเพียงลำพัง ซึ่งหากศาลในคดีล้มละลายพิจารณาได้ความว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์
ในคดีล้มละลายมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยแล้ว ศาลในคดีล้มละลายก็ชอบที่จะมีคำพิพากษายกฟ้องต่อไป
ทั้งหากพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ประสงค์ให้การฟ้องคดีล้มละลายโดยไม่เป็นความจริง
ในส่วนสาระสำคัญเป็นความผิดอาญา ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยตรงว่า เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้คนใดยื่นฟ้องคดีล้มละลายตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ โดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญเป็นความผิด
เพื่อให้ชัดเจนว่ากระบวนการในการฟ้องล้มละลายอันเป็นเท็จในสาระสำคัญนั้น กฎหมายบัญญัติ
เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ เหมือนดังที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ บัญญัติให้การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามมาตรา ๙๐/๓ อันเป็นเท็จในสาระสำคัญเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๘๐ ดังนี้ เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๗๑ ไม่ได้บัญญัติให้การยื่นฟ้องคดีล้มละลายโดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญเป็นความผิด การกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว

         ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลล้มละลายกลางมิได้นำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน
ที่โจทก์นำมาไต่สวนในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบการพิจารณามีคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ในการไต่สวนมูลฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๗ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ นั้น
การที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณานั้น จะต้องพิจารณาเป็นประการแรกว่า
การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ ที่ ๑๔ และที่ ๑๕ ที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้น มีกฎหมายบัญญัติ
เป็นความผิดหรือไม่ หากว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด หรือไม่ได้เป็นความผิดตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ศาลล้มละลายกลางก็สามารถพิพากษายกฟ้องได้เลย โดยไม่มีกรณีที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาไต่สวนอีก แต่หากว่าการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นความผิด
ตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษแล้ว ศาลจึงจะพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาไต่สวนนั้นว่ามีมูล
ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ เมื่อการกระทำตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่เป็นความผิดแล้ว
ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์
ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(เอื้อน ขุนแก้ว - ศักดิ์เสถียร  สวนสุข - วาสนา  บุญทรงสันติกุล)

รติมา ชัยสุโรจน์ - ย่อ

สุรัชฎ์ เตชัสวงศ์ - ตรวจ