Print
Category: 2567
Hits: 202

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 759/2567  นาย ส.                                       โจทก์

                                                                   บริษัท ม.                                  จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๗ วรรคหนึ่ง, ๕๘๒ วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง, ๑๗ วรรคสอง, ๑๗/๑, ๑๑๘ วรรคหนึ่ง (๑)            และวรรคสอง    

            ตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ดังนั้น การโอนสิทธิความเป็นนายจ้างจากนายจ้างเดิมไปยังนายจ้างใหม่จะกระทำได้ต่อเมื่อลูกจ้างให้ความยินยอมด้วย การที่นาย ร. ผู้มีอำนาจบริหารจัดการ
ของจำเลย มีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ให้โจทก์ไปทำงานที่บริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้า
และจำเลยจะร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยมีสภาพการจ้าง
และการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง วันเวลาทำงาน วันหยุด และสิทธิวันลาตามกฎหมายเหมือนเดิม
แต่เมื่อโจทก์ไปทำงานที่บริษัทดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า นาย ท. กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทดังกล่าวลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวจ้างโจทก์ให้ทำงาน โดยกำหนดระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ และตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ตามลำดับ แต่โจทก์ไม่ลงลายมือชื่อทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราว
ทั้งสองฉบับดังกล่าวกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แสดงให้เห็นถึงสภาพการจ้างที่แตกต่าง
จากเดิมที่ไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งเงื่อนไขนี้ให้โจทก์ทราบเพื่อการตัดสินใจก่อนไปทำงาน ทั้งโจทก์ยังยื่น
คำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่โจทก์ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างเป็นประการอื่น เช่นนี้ การที่โจทก์ต้องไปทำงานที่บริษัท อ. ตามคำสั่ง
ของนาย ร. โดยเข้าใจว่าเป็นบริษัทหุ้นส่วนและมีสภาพการจ้างเช่นเดิม จะถือว่าโจทก์ให้ความยินยอมได้ไม่ นอกจากนี้ จำเลยก็มิได้จ่ายค่าจ้างและเงินสมทบส่วนของนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม
ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ รวมทั้งข้อมูลที่ระบุในเอกสารรายชื่อสถานประกอบการที่ผู้ประกันตนเคยทำงาน ยังระบุว่าโจทก์ลาออกจากบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ และกลับเข้าทำงานกับจำเลยอีกครั้งในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ ทั้งหนังสือที่จำเลยแจ้งสำนักงานสวัสดิการ
และคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ลงวันที่ 27 มกราคม 2565 ว่าจำเลยได้ตกลง
หาข้อสรุปกับโจทก์แล้วว่า ให้สิทธิต่าง ๆ ที่โจทก์มีอยู่กับจำเลยยังคงมีเหมือนเดิมต่อไปตั้งแต่
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 แสดงให้เห็นว่าสิทธิของโจทก์ที่มีต่อจำเลยได้สิ้นสุดลงก่อนวันที่
1 พฤศจิกายน 2564 แต่จำเลยคืนสิทธิต่าง ๆ ให้โจทก์ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
อันเป็นระยะเวลาในภายหลังที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำงานกับตนต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ อันถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2564 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 118 วรรคสอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย
ระหว่างเวลาผิดนัด

_____________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 543,942 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย 30๒,190 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 60,438 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
และข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า จำเลยประกอบกิจการบริการ
จดหน่วยไฟฟ้าและน้ำประปา โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ตำแหน่งสุดท้าย คือ พนักงานคอมพิวเตอร์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 30,219 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โดยก่อนหน้านี้โจทก์เคยทำงานที่บริษัทอื่น คือ บริษัท ก. บริษัท ซ. และบริษัท ว. โดยบริษัทดังกล่าว
เป็นบริษัทประกอบกิจการประเภทเดียวกัน มีความสัมพันธ์ในการทำงาน ต่อมาจำเลยมอบหมาย
ให้นายสุรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลย มีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่บริษัท อ.
ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าที่มีความประสงค์จะร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนกัน โดยให้โจทก์ไปทำงานตั้งแต่วันที่
1 พฤศจิกายน 2564 นายทศพล กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างโจทก์เป็นพนักงานชั่วคราว และจ่ายค่าจ้างเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 ให้แก่โจทก์
ระหว่างทำงานที่บริษัทดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลย
มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๕ ชี้แจงพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ จำเลยหาข้อสรุปกับโจทก์แล้วว่า ให้สิทธิต่าง ๆ ที่โจทก์มีอยู่กับจำเลยยังคงมีสิทธิเหมือนเดิมต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์เมื่อวันที่
๔ มกราคม ๒๕๖๕ และวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564
นายสุรเชษฐ์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการ แจ้งโจทก์ด้วยวาจาให้โจทก์ไปทำงานที่บริษัท อ. โดยแจ้งว่า
เป็นบริษัทหุ้นส่วน มีสภาพการจ้างและการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง วันเวลาทำงาน วันหยุด และสิทธิวันลาตามกฎหมายเหมือนเดิม การที่โจทก์ไปทำงานที่บริษัท อ. ถือว่าโจทก์ตกลงยินยอมไปทำงาน
ตามคำสั่งของจำเลย สัญญาจ้างที่บริษัทดังกล่าวนำมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เป็นเพียงสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราว เมื่อโจทก์ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยยืนยันว่ามิได้เลิกจ้าง นอกจากนั้นตามภาพถ่ายข้อความ นายทศพลพูดคุยกับนายสุรเชษฐ์ในทำนองว่า โจทก์กับเพื่อนร่วมงาน
อีกคนหนึ่งอยากได้ค่าชดเชยร้อยละ 80 โบนัส และปรับขึ้นเงินเดือนตามปกติจากบริษัท ก.
ก่อนที่จะย้ายมาทำงานกับบริษัท อ. อย่างเต็มตัว แต่หลังจากนั้นในเดือนมกราคม 2565 โจทก์มีชื่อ
กลับเข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยและจำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ โดยในเอกสารรายชื่อสถานประกอบการ
ที่ผู้ประกันตนเคยทำงาน มิได้ระบุชื่อบริษัท อ. จึงฟังได้ว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานที่บริษัท อ. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นการชั่วคราว ซึ่งโจทก์ตกลงไปทำงานตามคำสั่งของจำเลย มิใช่กรณีจำเลยโอนโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไปทำงานเป็นลูกจ้างให้แก่บุคคลอื่นโดยลูกจ้างไม่ยินยอม อันจะถือเป็นการเลิกจ้าง ส่วนที่จำเลยไม่ได้จ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวบริษัท อ. เป็นผู้จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างจ้างโจทก์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย

         กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นายจ้าง
จะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ดังนั้น การโอนสิทธิ
ความเป็นนายจ้างจากนายจ้างเดิมไปยังนายจ้างใหม่จะกระทำได้ต่อเมื่อลูกจ้างให้ความยินยอมด้วย
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2564 นายสุรเชษฐ์ ผู้มีอำนาจบริหารจัดการของจำเลย มีคำสั่งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ให้โจทก์ไปทำงานที่บริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าและจำเลยจะร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วน มีสภาพการจ้างและการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง วันเวลาทำงาน วันหยุด และสิทธิวันลาตามกฎหมายเหมือนเดิม แต่เมื่อโจทก์ไปทำงานที่บริษัทดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่านายทศพล กรรมการผู้มีอำนาจ
ของบริษัทดังกล่าวลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราว จ้างโจทก์ให้ทำงาน โดยกำหนดระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ และตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ตามลำดับ แต่โจทก์ไม่ลงลายมือชื่อทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งสัญญาจ้าง
พนักงานชั่วคราวทั้งสองฉบับดังกล่าวกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แสดงให้เห็นถึงสภาพ
การจ้างที่แตกต่างจากเดิมที่ไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งเงื่อนไขนี้ให้โจทก์ทราบเพื่อการตัดสินใจก่อนไปทำงาน ทั้งโจทก์ยังยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่โจทก์ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างเป็นประการอื่น เช่นนี้ การที่โจทก์ต้องไปทำงานที่บริษัท อ. ตามคำสั่งของนายสุรเชษฐ์โดยเข้าใจว่าเป็นบริษัทหุ้นส่วนและมีสภาพการจ้างเช่นเดิม จะถือว่าโจทก์
ให้ความยินยอมได้ไม่ นอกจากนี้จำเลยก็มิได้จ่ายค่าจ้างและเงินสมทบส่วนของนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคมในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ รวมทั้งข้อมูลที่ระบุในเอกสารรายชื่อสถานประกอบการที่ผู้ประกันตนเคยทำงาน ที่ระบุว่า โจทก์ลาออกจากบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ และกลับเข้าทำงานกับจำเลยอีกครั้งในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ ทั้งหนังสือที่จำเลยแจ้งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ลงวันที่ 27 มกราคม 2565 ซึ่งจำเลยแจ้งว่า
ได้ตกลงหาข้อสรุปกับโจทก์แล้วว่า ให้สิทธิต่าง ๆ ที่โจทก์มีอยู่กับจำเลยยังคงมีสิทธิเหมือนเดิมต่อไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 แสดงให้เห็นว่าสิทธิของโจทก์ที่มีต่อจำเลยได้สิ้นสุดลงก่อนวันที่
1 พฤศจิกายน 2564 แต่จำเลยคืนสิทธิต่าง ๆ ให้โจทก์ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 อันเป็นระยะเวลาในภายหลังที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์
ของจำเลยที่ไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำงานกับตนต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ อันถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2564 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ถือว่าโจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน
แต่ไม่ครบ ๑ ปี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ในวันเลิกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (๑) คิดเป็นเงิน ๓๐,๒๑๙ บาท เมื่อจำเลยไม่ชำระ จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 31 ตุลาคม 2564) เป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยแจ้งโจทก์เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ ให้ไปทำงานกับบริษัท อ. ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ จำเลยจึงมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป
ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับหากอยู่ทำงานจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง เป็นเงิน 30,192 บาท เมื่อจำเลยมิได้จ่ายให้ในวันที่ให้โจทก์ออกจากงาน
จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 17/1 นอกจากนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้กระทำความผิดใดและไม่ปรากฏเหตุอันสมควรประการอื่น ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้ เนื่องจากการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวน
ไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ต่อไป

         พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๓๐,๒๑๙ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,219 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันเลิกจ้าง
(วันที่ 31 ตุลาคม 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ โดยให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป.

(ธีรศักดิ์ เงยวิจิตร – พิเชฏฐ์ รื่นเจริญ – คมสัณห์ รางชางกูร)

พรรณทิพย์ วัฒนกิจการ - ย่อ

สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ