Print
Category: 2566
Hits: 258

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2822/2566      นายสุพัฒน์  ทองมี                  โจทก์

           (ประชุมใหญ่)                                                 นางสุทธดา สิงห์ท้วม

                                                                  ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน

                                                                              กับพวก                              จำเลย

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘/๑ วรรคสอง

           พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘/๑ วรรคแรก บัญญัติว่า “การเกษียณอายุ
ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้
หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไป
มีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตามมาตรา ๑๑๘ วรรคหนึ่ง”  บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดเรื่องการเกษียณอายุไว้ ๒ กรณี กรณีแรก เป็นกรณีที่มีการตกลง
หรือกำหนดอายุการเกษียณของลูกจ้างไว้ ซึ่งอาจเป็นไปตามความตกลงร่วมกันในสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือเป็นไปตามที่นายจ้างกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ได้ และเมื่อลูกจ้างมีอายุครบตามข้อตกลงหรือข้อกำหนดดังกล่าวให้ถือเป็นการเลิกจ้าง กรณีที่สอง เป็นกรณีที่มี
การตกลงหรือกำหนดอายุการเกษียณของลูกจ้างไว้เกินกว่าอายุ ๖๐ ปี หรือมิได้มีการตกลง
หรือกำหนดอายุการเกษียณของลูกจ้างไว้ทั้งในสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ลูกจ้างที่มีอายุครบ ๖๐ ปีขึ้นไปย่อมมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ โดยแสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบ ๓๐ วันนับแต่วันแสดงเจตนา คดีนี้ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยที่ ๒ มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเรื่องการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ที่อายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ และเมื่อพิจารณาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ซึ่งระบุว่า  จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเมื่อลูกจ้างเกษียณอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ โดยจำเลยที่ ๒ จะให้ลูกจ้างผู้นั้นพ้นจากการเป็นลูกจ้างนับแต่วันที่ ๑ มกราคมของปีถัดไป ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเรื่องการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ที่อายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์แล้ว มิใช่
เป็นกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า ๖๐ ปี ซึ่งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 วรรคสาม ย่อมมีผลใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
ในแต่ละสถานประกอบกิจการ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ จึงมีผลใช้บังคับระหว่างจำเลยที่ ๒ กับลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ทั้งหมดทุกคน ดังนั้น โจทก์ต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยที่ ๒ กับโจทก์มิได้มีข้อตกลงยกเว้น
เรื่องกำหนดเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ไว้เป็นประการอื่น
โจทก์จึงตกอยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ที่กำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ
60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์เพิ่งเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ เมื่อโจทก์มีอายุ ๖๑ ปีแล้ว  และต่อมาโจทก์มีหนังสือขอเกษียณอายุต่อจำเลยที่ ๒ ในขณะที่โจทก์มีอายุ ๖๔ ปี ๒ เดือน
เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ กำหนดการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ที่อายุ ๖๐ ปี มิได้กำหนดให้อายุการเกษียณของลูกจ้างไว้เกินกว่า ๖๐ ปี โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ตามมาตรา ๑๑๘/๑ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ แต่เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง
ของฝ่ายลูกจ้างหรือสมัครใจลาออกเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย คำสั่งของจำเลยที่ ๑
ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยว่าขณะโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ ๒ มีอายุ ๖๑ ปี  ถือว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้กำหนดถึงการเกษียณอายุของลูกจ้างที่เพิ่ง
เข้าทำงานกับจำเลยที่ ๒ เมื่ออายุเกินกว่า ๖๐ ปีไว้ โจทก์จึงใช้สิทธิเกษียณอายุได้และถือว่าเป็นการที่จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘/๑ วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่ไม่เห็นพ้องด้วย

_____________________________

            โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชย ๗๒,๐๐๐ บาท และค่าจ้างที่หักไว้ ๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๗๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง
เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการ
และคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๕๑/๒๕๖๔ ฉบับลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ ของจำเลยที่ ๑

         จำเลยที่ ๑ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ ๒ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค ๑ โจทก์แถลงว่าได้รับค่าจ้างที่ถูกหักไว้แล้ว จึงขอสละ
คำขอท้ายฟ้องในเงินค่าจ้างส่วนนี้

         ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการ
และคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๕๑/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ ของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชย ๗๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่
๒๑ มีนาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

         จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริง
และข้อเท็จจริงยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค ๑ ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ มีข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงานกำหนดเรื่องการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ที่อายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ เริ่มทำงานเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๑ ขณะมีอายุ ๖๑ ปี ตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้าง
วันละ ๔๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๒ ขอเกษียณอายุในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป อ้างว่าโจทก์อายุ ๖๔ ปี ๒ เดือนแล้ว แต่จำเลยที่ ๒ ไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ โจทก์มาทำงานจนถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ต่อมาวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔ โจทก์ยื่นคำร้อง
ต่อจำเลยที่ ๑ ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่า จำเลยที่ ๒ นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยเนื่องจากเกษียณอายุ จำเลยที่ ๑ สอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเนื่องจากเกษียณอายุ
ตามสำเนาคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ที่ ๕๑/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ ๒ ขณะที่มีอายุ ๖๑ ปีแล้ว ดังนั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ที่กำหนดเรื่องการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ที่อายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างย่อมมีผลผูกพันและใช้บังคับเฉพาะแก่ลูกจ้างที่เข้าทำงานกับจำเลยที่ ๒ ก่อนอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ แต่สำหรับโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีอายุเกิน ๖๐ ปีบริบูรณ์
ซึ่งจำเลยที่ ๒ ตกลงสมัครใจรับเป็นลูกจ้างแม้อายุเกิน ๖๐ ปี ถือว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้กำหนดถึงการเกษียณอายุของลูกจ้างที่เพิ่งเข้าทำงานกับจำเลยที่ ๒ เมื่ออายุเกินกว่า ๖๐ ปีไว้
การที่เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โจทก์ขอเกษียณอายุเนื่องจากโจทก์อายุ ๖๔ ปี ๒ เดือน
จึงต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘/๑ วรรคสอง ซึ่งกำหนดไว้ว่า
ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี
ให้ลูกจ้างอายุครบหกสิบปีขึ้นไปใช้สิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลต่อเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนาและให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างก่อนเกษียณอายุนั้น โจทก์ใช้สิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์สมัครใจเลิกสัญญา คำสั่งของจำเลยที่ ๑
จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ ๔๐๐ บาท โจทก์ทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี จำเลยที่ ๒ ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เป็นเงิน ๗๒,๐๐๐ บาท ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ อันเป็นวันที่โจทก์แสดงเจตนาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ (๓) ประกอบกับมาตรา ๑๑๘/๑ วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่จ่ายค่าชดเชยภายในกำหนด จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าว
นับแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๔ อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๙ แม้โจทก์จะมีคำขอดอกเบี้ยมานับแต่วันฟ้อง แต่เห็นสมควร
เพื่อความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒
มาตรา ๕๒ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายแสดงเจตนาขอเกษียณอายุต่อจำเลยที่ ๒ เอง จึงเป็นการเลิกจ้าง
โดยผลของกฎหมาย มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

         มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานภาค ๑
ที่ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ ๕๑/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ ของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๒
จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ๗๒,๐๐๐ บาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘/๑ วรรคแรก บัญญัติว่า “การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือเป็น
การเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนด
การเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ
หกสิบปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตามมาตรา ๑๑๘
วรรคหนึ่ง” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดเรื่องการเกษียณอายุไว้ ๒ กรณี กรณีแรก เป็นกรณีที่มีการตกลง
หรือกำหนดอายุการเกษียณของลูกจ้างไว้ ซึ่งอาจเป็นไปตามความตกลงร่วมกันในสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือเป็นไปตามที่นายจ้างกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ได้ และเมื่อลูกจ้าง
มีอายุครบตามข้อตกลงหรือข้อกำหนดดังกล่าวให้ถือเป็นการเลิกจ้าง กรณีที่สอง เป็นกรณีที่มีการตกลง
หรือกำหนดอายุการเกษียณของลูกจ้างไว้เกินกว่าอายุ ๖๐ ปี หรือมิได้มีการตกลงหรือกำหนดอายุ
การเกษียณของลูกจ้างไว้ทั้งในสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ลูกจ้างที่มีอายุครบ ๖๐ ปีขึ้นไปย่อมมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ โดยแสดงเจตนาต่อนายจ้าง
และให้มีผลเมื่อครบ ๓๐ วันนับแต่วันแสดงเจตนา คดีนี้ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒
มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเรื่องการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ที่อายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์
และเมื่อพิจารณาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ซึ่งระบุว่า จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชย
ให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเมื่อลูกจ้างเกษียณอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ โดยจำเลยที่ ๒ จะให้ลูกจ้างผู้นั้น
พ้นจากการเป็นลูกจ้างนับแต่วันที่ ๑ มกราคมของปีถัดไป ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเรื่องการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ที่อายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์แล้ว มิใช่เป็นกรณี
ที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า ๖๐ ปี ซึ่งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 วรรคสาม ย่อมมีผลใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในแต่ละสถานประกอบกิจการ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ จึงมีผลใช้บังคับระหว่างจำเลยที่ ๒ กับลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ทั้งหมดทุกคน ดังนั้น โจทก์ต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยที่ ๒ กับโจทก์มิได้มีข้อตกลงยกเว้นเรื่องกำหนดเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
ของจำเลยที่ ๒ ไว้เป็นประการอื่น โจทก์จึงตกอยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ที่กำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์เพิ่งเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ เมื่อโจทก์
มีอายุ ๖๑ ปีแล้ว และต่อมาโจทก์มีหนังสือขอเกษียณอายุต่อจำเลยที่ ๒ ในขณะที่โจทก์มีอายุ ๖๔ ปี ๒ เดือน เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ กำหนดการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ที่อายุ ๖๐ ปี
มิได้กำหนดให้อายุการเกษียณของลูกจ้างไว้เกินกว่า ๖๐ ปี โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ตามมาตรา ๑๑๘/๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ แต่เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างของฝ่ายลูกจ้างหรือสมัครใจ
ลาออกเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยว่าขณะโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ ๒ มีอายุ ๖๑ ปี ถือว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้กำหนดถึงการเกษียณอายุของลูกจ้างที่เพิ่งเข้าทำงานกับจำเลยที่ ๒ เมื่ออายุเกินกว่า ๖๐ ปีไว้
โจทก์จึงใช้สิทธิเกษียณอายุได้และถือว่าเป็นการที่จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘/๑ วรรคสอง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น

         พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเสียทั้งหมด.

 (พนารัตน์  คิดจิตต์ – วรศักดิ์  จันทร์คีรี – ฤทธิรงค์  สมอุดร)

พรรณทิพย์  วัฒนกิจการ – ย่อ

เกริกเกียรติ  พุทธสถิตย์ – ตรวจ