Print
Category: 2566
Hits: 184

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 5456/2566 นาง ส.                 โจทก์

         (ประชุมใหญ่)                                                      บริษัท จ.             จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 850

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง

         บันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลย มีข้อความระบุว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงเลิกสัญญาดังกล่าว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ทั้งนี้ บริษัทตกลงจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ให้แก่พนักงาน และพนักงานตกลงรับเงินสิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยบริษัท
จะจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ตามข้อ ๑ ข้อ ๒ ให้แก่พนักงานภายในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓
และตอนท้ายของบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญายังมีข้อความต่อไปว่า ทั้งสองฝ่ายต่างรับทราบ
และเข้าใจดีว่า สัญญาได้สิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๔ ด้วยความสมัครใจ
ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ดังนั้น พนักงานไม่ติดใจที่จะเรียกร้องบรรดาค่าเสียหาย และเงินอื่นใด
อันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน และ/หรือกฎหมายอื่นๆ (ถ้ามี)
จากบริษัทอีกทั้งสิ้น รวมทั้งพนักงาน
จะไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งทางแพ่งและอาญาต่อบริษัทแต่อย่างใด
นั้น แม้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว
จะทำขึ้นเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ขณะที่โจทก์ยังมีสถานะเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ก็ตาม
แต่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อต้นปี ๒๕๖๓ จำเลยมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง และปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานธุรกิจสัตว์น้ำ โดยมีการโอนย้ายผู้บริหารข้ามบริษัทในเครือและเปลี่ยนแปลงสถานภาพพนักงานภายในของจำเลย เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของจำเลย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านทรัพยากรบุคคล
เรียกโจทก์มาพูดคุยเรื่องการมอบหมายงาน โดยมีข้อเสนอ ๓ ข้อให้โจทก์พิจารณา
คือ ข้อ ๑ มอบหมายหน้าที่รับผิดชอบงานจัดซื้อกุ้งจากฟาร์มภาคใต้ ข้อ ๒ ให้โจทก์จัดทำ
แผนงานที่อยากทำ และข้อ ๓ ให้โจทก์รับเงินผลประโยชน์และยกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน
โดยระหว่างพูดคุยโจทก์สอบถามรายละเอียดของข้อเสนอ และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส
ของจำเลยอธิบายรายละเอียดของข้อเสนอทั้ง ๓ ข้อให้โจทก์เข้าใจ และให้โจทก์กลับไปคิดปรึกษา
กับครอบครัวก่อน เมื่อโจทก์มีอายุ ๕๘ ปี มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารอาวุโส มีอายุงานถึง
๓๑ ปี ๒ เดือน และมีเงินเดือนสูง ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์มีวุฒิภาวะและมีอิสระในการ
ตัดสินใจเลือกข้อเสนอข้อใดข้อหนึ่งได้ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง
ในวันรุ่งขึ้นโจทก์แจ้งว่าตัดสินใจเลือกข้อเสนอข้อ ๓ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส
ของจำเลยจึงมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญา โดยก่อน
ลงลายมือชื่อ โจทก์ได้อ่านข้อความในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว
ทั้งขณะลงลายมือชื่อก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของจำเลยใช้กลฉ้อฉล บังคับ ข่มขู่ กดดันให้โจทก์จำต้องเลือกข้อเสนอในทันใด การที่โจทก์และจำเลย
ลงลายมือชื่อ
ในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญา จึงเป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างแรงงานกันระหว่าง
ลูกจ้าง
.

และนายจ้าง ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง และยังมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๐ มีผลใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้อง

______________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ ๖,๒๑๕,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา
ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๘๔,๔๐๐ บาท และค่าชดเชย ๓,๐๗๓,๓๓๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑๕ ทุกระยะเวลา ๗ วัน ของเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยที่ค้างจ่าย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๗,๑๔๕,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
โจทก์ทราบและเข้าใจข้อความในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาจ้างแล้ว โจทก์จึงลงลายมือชื่อ
ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวโดยความสมัครใจ แล้ววินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญามีลักษณะ
เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันโจทก์ จึงบังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อความ
ในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาที่ระบุว่า โจทก์ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าเสียหายและเงินอื่นใดอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานนั้น มีความหมายถึงค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวมทั้งเงินอื่น ๆ ด้วย
บันทึกข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์และใช้บังคับได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงิน
ตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้ออื่นอีกต่อไป

         ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ ๓.๓ ว่า ยังมีข้อเท็จจริงในทางนำสืบว่าเงื่อนไขการทำงานที่จำเลยเสนอ
แก่โจทก์ในข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ มิได้เป็นงานปกติที่โจทก์เคยรับผิดชอบอยู่เดิม ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยุบหน่วยงานของโจทก์ และโยกย้ายพนักงานภายใต้การบังคับบัญชาของโจทก์ไปปฏิบัติงาน
ในแผนกอื่น และจำเลยไม่ได้นำสืบถึงรายละเอียดการทำงานตามข้อเสนอทั้งสองข้อ ทั้งยังมี
การตั้งเงื่อนไขการประเมินผลการทำงานของโจทก์เป็นระยะเวลา ๖ เดือน หากไม่ผ่านการประเมิน
ก็จะถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินใด ๆ โจทก์อยู่ในสภาวะจำยอมและไม่สามารถเลือกข้อเสนออื่น ๆ ได้ โจทก์จึงลงชื่อในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญา การที่จำเลยเรียกให้โจทก์ทำข้อตกลงเป็นการบังคับ
เลือกในข้อที่จำเลยได้กำหนดไว้แล้ว ซึ่งโจทก์ไม่สามารถเลือกข้อเสนออื่นได้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าว
ไม่มีผลผูกพันโจทก์นั้น เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทราบและเข้าใจข้อความ
ในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวโดยความสมัครใจ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน
ของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ ๓.๒ ขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาทำขึ้น
เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ มีข้อความระบุว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงเลิกสัญญาดังกล่าว
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ทั้งนี้ บริษัทตกลงจ่ายเงินสิทธิประโยชน์
ให้แก่พนักงาน และพนักงานตกลงรับเงินสิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้
๑. ผลตอบแทนตามอายุงาน จำนวน ๒,๖๗๓,๓๓๓ บาท ๒. เงินตอบแทนพิเศษ จำนวน ๑,๕๕๓,๘๗๕ บาท และ ๓. เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลตามจ่ายจริงปีละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๑ ปี (๒๕๖๔) บริษัทจะจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ตามข้อ ๑ ข้อ ๒ ให้แก่พนักงานภายในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓
และตอนท้ายของบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญายังมีข้อความต่อไปว่า ทั้งสองฝ่ายต่างรับทราบและเข้าใจดีว่า สัญญาได้สิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๔ ด้วยความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ดังนั้น พนักงานไม่ติดใจที่จะเรียกร้องบรรดาค่าเสียหาย และเงินอื่นใดอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน
และ/หรือกฎหมายอื่น ๆ (ถ้ามี) จากบริษัทอีกทั้งสิ้น รวมทั้งพนักงานจะไม่ดำเนินการใด ๆ ทั้งทางแพ่งและอาญาต่อบริษัทแต่อย่างใดนั้น แม้บันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาจะทำขึ้นขณะที่โจทก์ยังมีสถานะ
เป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ก็ตาม แต่ศาลแรงงานกลางก็ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อต้นปี ๒๕๖๓ จำเลย
มีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง และปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานธุรกิจสัตว์น้ำ โดยมี
การโอนย้ายผู้บริหารข้ามบริษัทในเครือและเปลี่ยนแปลงสถานภาพพนักงานภายในของจำเลย เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของจำเลย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงาน
ด้านทรัพยากรบุคคล เรียกโจทก์มาพูดคุยเรื่องการมอบหมายงาน โดยมีข้อเสนอ ๓ ข้อให้โจทก์พิจารณา คือ ข้อ ๑ มอบหมายหน้าที่รับผิดชอบงานจัดซื้อกุ้งจากฟาร์มภาคใต้ ข้อ ๒ ให้โจทก์จัดทำแผนงาน
ที่อยากทำ และข้อ ๓ ให้โจทก์รับเงินผลประโยชน์และยกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน โดยระหว่างพูดคุยโจทก์สอบถามรายละเอียดของข้อเสนอ และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของจำเลยอธิบายรายละเอียด
ของข้อเสนอทั้ง ๓ ข้อให้โจทก์เข้าใจ และให้โจทก์กลับไปคิดปรึกษากับครอบครัวก่อน เมื่อโจทก์มีอายุ ๕๘ ปี มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารอาวุโส มีอายุงานถึง ๓๑ ปี ๒ เดือน และมีเงินเดือนสูง ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์มีวุฒิภาวะและมีอิสระในการตัดสินใจเลือกข้อเสนอข้อใดข้อหนึ่งได้ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง เมื่อในวันรุ่งขึ้นโจทก์มาพบรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของจำเลย และแจ้งว่า
โจทก์ตัดสินใจเลือกข้อเสนอข้อ ๓ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของจำเลยจึงมอบหมาย
ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญา โดยก่อนลงลายมือชื่อ โจทก์ได้อ่านข้อความ
ในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว ทั้งขณะลงลายมือชื่อก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของจำเลยใช้กลฉ้อฉล บังคับ ขมขู่ กดดันให้โจทก์จำต้องเลือกข้อเสนอ
ในทันใด การที่โจทก์และจำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญา จึงเป็นการแสดงเจตนา
ตกลงเลิกสัญญาจ้างแรงงานกันระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง และข้อความ
ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงระงับข้อพิพาทอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้น
ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ มีผลใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติ
ที่ประชุมใหญ่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ของโจทก์ประการอื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

         พิพากษายืน.

(ยิ่งศักดิ์  โอฬารสกุล - อรนุช  อาชาทองสุข - วัชรินทร์  ฤชุโรจน์)

ฐานุตร  เล็กสุภาพ - ย่อ

                                                                                                                  เกริกเกียรติ  พุทธสถิตย์ - ตรวจ