คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 3533 - 3534/2566 บริษัทเอ.วี.ซิสเท็มส์ จำกัด โจทก์
(ประชุมใหญ่) นางสาวจินตนา รัชตโภคิน
ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน
กับพวก จำเลย
นางสาววาสนา รัตนวิมล
กับพวก จำเลยร่วม
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕
พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง, ๗๙/๑
ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๖๓
การหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ อันจะเป็นเหตุให้นายจ้างหลุดพ้นจากหน้าที่ในการชำระหนี้และไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง
ต้องเป็นกรณีมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่ส่งผลถึงขนาดนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในช่วงเวลานั้นได้โดยสิ้นเชิง และถือว่าการที่นายจ้างไม่อาจมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำเป็นกรณีการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเกิดขึ้นภายหลังก่อหนี้และซึ่งนายจ้างไม่ต้องรับผิด นายจ้างย่อมหลุดพ้นจากหน้าที่ในการชำระหนี้
และไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง เมื่อโจทก์ประกอบกิจการให้บริการ รับจ้าง ให้เช่า และให้คำปรึกษาด้านอุปกรณ์แสง เสียง เวทีและการแสดง ให้แก่ลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการจัดอิเวนต์หรือออกาไนเซอร์
ผู้จัดคอนเสิร์ต จัดเทศกาลดนตรีหรือมิวสิกเฟสติวัล จัดเทศกาลประจำปี งานประชุมสัมมนาต่าง ๆ ซึ่งตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มีคำสั่งห้ามมิให้จัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ลูกค้าของโจทก์จึงตกอยู่ในบังคับของข้อกำหนดดังกล่าว
ทำให้ไม่อาจประกอบกิจการได้ กรณีเช่นนี้แม้จะกระทบถึงโจทก์ที่จะไม่มีลูกค้าใช้บริการและต้องมีรายได้ลดลงอย่างมากหรือเสี่ยงที่จะประสบภาวะขาดทุนก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้เป็นเหตุขัดขวาง
มิให้กิจการของโจทก์ดำเนินต่อไปในงานส่วนใดอย่างสิ้นเชิง คงเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่ง
ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของโจทก์ ทำให้การประกอบกิจการของโจทก์ต้องเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น เมื่อโจทก์ยังสามารถประกอบกิจการได้ แต่มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อปรับลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยเหตุที่ไม่มีรายได้ การหยุดกิจการชั่วคราวของโจทก์จึงมิใช่เหตุสุดวิสัย
กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจาก
การระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งออกตามความ
ในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗๙/๑ แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นบทบัญญัติ
ที่มุ่งหมายจะบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จึงวางหลักเกณฑ์ที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะใช้สิทธิ
ในการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม เป็นคนละกรณีกัน
ไม่อาจนำความหมายของเหตุสุดวิสัยในกฎกระทรวงดังกล่าวมาใช้กับบทบัญญัติมาตรา ๗๕
แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ ดังนี้ เมื่อโจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว
ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมิใช่เหตุสุดวิสัย โจทก์จึงมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ในอันที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่จำเลยร่วมทั้งสามไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕
ของค่าจ้างในวันทำงานที่จำเลยร่วมทั้งสามได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ให้จำเลยร่วมทั้งสามทำงาน
บันทึกข้อตกลงที่โจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสามทำไว้ระบุว่า โจทก์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย
ในช่วงวิกฤตการณ์ดังกล่าว จึงขอความร่วมมือปรับลดค่าจ้างของจำเลยร่วมทั้งสาม ให้มีผลระหว่างวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ หากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติจะจ่ายค่าจ้างอัตราเดิม ลักษณะเป็นการทำข้อตกลงในการจ่ายค่าจ้างบางส่วนเป็นการชั่วคราว
ไม่ใช่ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราค่าจ้างกันใหม่ ดังนั้น เงินที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยร่วมทั้งสามระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวร้อยละ ๗๕ ต้องคำนวณจากค่าจ้างอัตราปกติ
โจทก์มิได้แจ้งการหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ให้จำเลยร่วมทั้งสามและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือตามวิธีที่กำหนดไว้
ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคสอง แต่การหยุดกิจการในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ อันเป็นเหตุแห่งการหยุดกิจการยังไม่สิ้นสุดลงและเป็นกรณีที่โจทก์หยุดกิจการต่อเนื่องจากวันครบกำหนดหยุดเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ที่เคยแจ้งไว้โดยชอบแล้ว โจทก์จึงยังคงอาศัยสิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ ในอันที่จะจ่ายเงินให้แก่จำเลยร่วมทั้งสามร้อยละ ๗๕ ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ต่อไป
______________________________
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการ
และคุ้มครองแรงงานพื้นที่ ๔ ที่ ๖๐/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ของจำเลยที่ ๑ และคำสั่ง
พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ ๔ ที่ ๙๙/๒๕๖๔ ลงวันที่
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ของจำเลยที่ ๒
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางสาววาสนา นางสาวรสรินหรือณัฏฐ์ศศิ และนายวีรชัย ขอเข้าเป็นจำเลยร่วมและถือเอาคำให้การจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นคำให้การของตนด้วย ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
โดยให้เรียกนางสาววาสนา นางสาวรสรินหรือณัฏฐ์ศศิ และนายวีรชัย ว่าจำเลยร่วมที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตามลำดับ
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
และปรากฏข้อเท็จจริงยุติในชั้นพิจารณาว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการให้บริการ รับจ้าง
ให้เช่าและให้คำปรึกษาด้านอุปกรณ์แสง เสียง เวทีและการแสดงให้แก่ลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการจัดอิเวนต์
หรือออกาไนเซอร์ ผู้จัดคอนเสิร์ต งานประชุมสัมมนาต่าง ๆ นายพลวัฒน์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๔ จำเลยร่วมทั้งสามเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยร่วมที่ ๑ ทำงานตำแหน่งหัวหน้าแผนกบัญชีและการเงิน ฝ่ายปฏิบัติการ ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ ๒๙,๐๐๐ บาท จำเลยร่วมที่ ๒
ทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่แผนกทรัพยากรบุคคล ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ ๑๗,๒๘๐ บาท จำเลยร่วมที่ ๓ ทำงานตำแหน่งผู้จัดการแผนกแสง ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ ๔๖,๖๕๖ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสุดท้ายของเดือน ในช่วงต้นปี ๒๕๖๓ เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เมื่อวันที่
๙ มีนาคม ๒๕๖๓ โจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงปรับลดค่าจ้างจำเลยร่วมทั้งสาม มีผลตั้งแต่วันที่๑๕ มีนาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ ต่อมานายกรัฐมนตรีประกาศข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นไป โดยมีคำสั่งห้ามมิให้จัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วม
เป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เป็นเหตุให้การจัดคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี เทศกาลสงกรานต์ งานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่หรืองานเคานต์ดาวน์
การจัดประชุมสัมมนา ไม่อาจทำได้ โจทก์แจ้งหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ เมื่อครบกำหนดตามที่แจ้งไว้ โจทก์ไม่ได้เปิดดำเนินกิจการและไม่ได้แจ้งให้จำเลยร่วมทั้งสามและพนักงานตรวจแรงงานทราบว่าจะหยุดกิจการชั่วคราวต่อไป ในระหว่างเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓
ถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๔ โจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยร่วมที่ ๑ จำนวน ๘,๕๐๐ บาท จำเลยร่วมที่ ๒
จำนวน ๘,๕๐๐ บาท จำเลยร่วมที่ ๓ จำนวน ๙,๐๐๐ บาท และในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยร่วมทั้งสามคนละ ๑,๐๐๐ บาท ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ จำเลยร่วมทั้งสาม
ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ พร้อมดอกเบี้ย นายพลวัฒน์ให้การต่อจำเลยที่ ๑ ว่า สำหรับเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๔ โจทก์ขอหยุดกิจการชั่วคราวและขอจ่ายเงินร้อยละ ๗๕ ของค่าจ้างเนื่องจากไม่มีรายได้ จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๔ ที่ ๖๐/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ให้โจทก์จ่ายเงินระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ และจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ ให้แก่จำเลยร่วมที่ ๑ จำนวน ๑๗๑,๐๐๐ บาท จำเลยร่วมที่ ๒
จำนวน ๙๙,๙๓๒ บาท และจำเลยร่วมที่ ๓ จำนวน ๕๕๒,๐๗๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี
ในระหว่างเวลาผิดนัด และเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๔ จำเลยร่วมทั้งสามยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า โจทก์ค้างจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๔ ที่ ๙๙/๒๕๖๓ ลงวันที่
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ให้โจทก์จ่ายเงินระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวระหว่างวันที่ ๑ ถึงวันที่
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ให้แก่จำเลยร่วมที่ ๑ จำนวน ๒๘,๐๐๐ บาท จำเลยร่วมที่ ๒ จำนวน ๑๖,๒๘๐ บาท และจำเลยร่วมที่ ๓ จำนวน ๔๕,๖๕๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในระหว่างเวลา
ผิดนัด แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยอมรับที่จะจ่ายเงินร้อยละ ๗๕ ระหว่างวันที่
๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ และระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๔ ให้แก่จำเลยร่วมทั้งสาม ถือว่าโจทก์และจำเลยร่วมทั้งสามมีข้อตกลงกันเป็นอย่างอื่นในระหว่างที่โจทก์
หยุดกิจการชั่วคราว โจทก์จึงไม่หลุดพ้นจากหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในการจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยร่วมทั้งสาม การชำระหนี้จึงไม่ตกเป็นพ้นวิสัยดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ดังนั้น โจทก์ต้องจ่ายเงินระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ให้แก่จำเลยร่วมทั้งสาม
โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการหยุดกิจการชั่วคราวของโจทก์เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ส่วนเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๔ ที่โจทก์ยังไม่ได้เปิดดำเนินกิจการและไม่ได้แจ้งหยุดกิจการให้จำเลยร่วมทั้งสามและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนเริ่มหยุดกิจการ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ขอใช้สิทธิ
หยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยร่วมทั้งสามพร้อมที่จะทำงาน แต่โจทก์ไม่เรียกจำเลยร่วมทั้งสาม
เข้าทำงาน โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยร่วมทั้งสาม ระหว่างวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๓ ถึงวันที่
๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ และระหว่างวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๔ ที่ ๖๐/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ของจำเลยที่ ๑ และคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร
พื้นที่ ๔ ที่ ๙๙/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ของจำเลยที่ ๒ ชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๔ ที่ ๖๐/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔
และคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๔
ที่ ๙๙/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน
เป็นการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง
ไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่จ่ายเงินตามมาตรา ๕๕ และภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงิน
ตามมาตรา ๗๐ (๑) บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ประคองความสัมพันธ์และรักษาสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างไว้กรณีที่นายจ้างประสบวิกฤตการณ์ในการดำเนินกิจการจนไม่สามารถจะดำเนินกิจการต่อไปได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย โดยให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวไม่ให้ลูกจ้างทำงานได้ จะได้
มีโอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดไปหรือบรรเทาลง ขณะเดียวกันก็ยังคงกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างระหว่างหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อคุ้มครองให้ลูกจ้างยังพอมีรายได้ในการดำรงชีพระหว่างเวลาที่นายจ้างไม่ให้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างด้วย ส่วนการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ อันจะเป็นเหตุให้นายจ้างหลุดพ้นจากหน้าที่ในการชำระหนี้และไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ต้องเป็นกรณีมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่ส่งผล
ถึงขนาดนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในช่วงเวลานั้นได้โดยสิ้นเชิง และถือว่าการที่นายจ้างไม่อาจมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำเป็นกรณีการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์
อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเกิดขึ้นภายหลังก่อหนี้และซึ่งนายจ้างไม่ต้องรับผิด นายจ้างย่อมหลุดพ้นจากหน้าที่
ในการชำระหนี้และไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง เมื่อโจทก์ประกอบกิจการให้บริการ รับจ้าง ให้เช่า
และให้คำปรึกษาด้านอุปกรณ์แสง เสียง เวทีและการแสดง ให้แก่ลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการจัดอิเวนต์
หรือออกาไนเซอร์ ผู้จัดคอนเสิร์ต จัดเทศกาลดนตรีหรือมิวสิกเฟสติวัล จัดเทศกาลประจำปี
งานประชุมสัมมนาต่าง ๆ ซึ่งตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มีคำสั่งห้ามมิให้จัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ลูกค้าของโจทก์จึงตกอยู่ในบังคับ
ของข้อกำหนดดังกล่าวทำให้ไม่อาจประกอบกิจการได้ กรณีเช่นนี้แม้จะกระทบถึงโจทก์ที่จะไม่มีลูกค้า
ใช้บริการและต้องมีรายได้ลดลงอย่างมากหรือเสี่ยงที่จะประสบภาวะขาดทุนก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้เป็นเหตุขัดขวางมิให้กิจการของโจทก์ดำเนินต่อไปในงานส่วนใดอย่างสิ้นเชิง คงเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่ง
ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของโจทก์ ทำให้การประกอบกิจการของโจทก์ต้องเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น เมื่อโจทก์ยังสามารถประกอบกิจการได้ แต่มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว
เพื่อปรับลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยเหตุที่ไม่มีรายได้ การหยุดกิจการชั่วคราวของโจทก์จึงมิใช่เหตุสุดวิสัย
ส่วนกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นบทบัญญัติที่มุ่งหมายจะบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จึงวางหลักเกณฑ์ที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะใช้สิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน
จากกองทุนประกันสังคม เป็นคนละกรณีกัน ไม่อาจนำความหมายของเหตุสุดวิสัยในกฎกระทรวงดังกล่าวมาใช้กับบทบัญญัติมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ ดังนี้ เมื่อโจทก์
มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมิใช่เหตุสุดวิสัย โจทก์จึงมีหน้าที่
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ในอันที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่
จำเลยร่วมทั้งสามไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของค่าจ้างในวันทำงานที่จำเลยร่วมทั้งสามได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ให้จำเลยร่วมทั้งสามทำงาน อย่างไรก็ดี บันทึกข้อตกลงที่โจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสามทำไว้ระบุว่า โจทก์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในช่วงวิกฤตการณ์ดังกล่าว จึงขอความร่วมมือปรับลดค่าจ้างของจำเลยร่วมทั้งสาม ให้มีผลระหว่างวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ หากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
จะจ่ายค่าจ้างอัตราเดิม ลักษณะเป็นการทำข้อตกลงในการจ่ายค่าจ้างบางส่วนเป็นการชั่วคราว
ไม่ใช่ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราค่าจ้างกันใหม่ ดังนั้น เงินที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยร่วมทั้งสามระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวร้อยละ ๗๕ ต้องคำนวณจากค่าจ้างอัตราปกติ ส่วนที่โจทก์มิได้แจ้งการหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ให้จำเลยร่วมทั้งสามและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือตามวิธีที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคสอง นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การหยุดกิจการ
ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
อันเป็นเหตุแห่งการหยุดกิจการยังไม่สิ้นสุดลงและเป็นกรณีที่โจทก์หยุดกิจการต่อเนื่องจากวันครบกำหนดหยุดเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ที่เคยแจ้งไว้โดยชอบแล้ว โจทก์จึงยังคงอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ ในอันที่จะจ่ายเงินให้แก่จำเลยร่วมทั้งสามร้อยละ ๗๕ ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ต่อไป โจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยร่วมทั้งสามแล้วบางส่วน เมื่อคิดคำนวณแล้วโจทก์ต้องจ่ายเงินระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวส่วนที่ขาดอยู่ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ ให้แก่จำเลยร่วมที่ ๑ จำนวน ๑๔๓,๗๕๐ บาท จำเลยร่วมที่ ๒ จำนวน ๘๒,๒๒๐ บาท และจำเลยร่วมที่ ๓ จำนวน ๒๓๕,๙๔๔ บาท และระหว่างวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ให้แก่จำเลยร่วมที่ ๑
จำนวน ๒๑,๗๕๐ บาท จำเลยร่วมที่ ๒ จำนวน ๑๒,๙๖๐ บาท และจำเลยร่วมที่ ๓ จำนวน ๓๔,๙๙๒ บาท อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๔ ที่ ๖๐/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ และคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๔ ที่ ๙๙/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เฉพาะในส่วนต้นเงิน โดยให้โจทก์จ่ายเงินระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวส่วนที่ขาดอยู่ระหว่างวันที่
๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ ให้แก่จำเลยร่วมที่ ๑ จำนวน ๑๔๓,๗๕๐ บาท
จำเลยร่วมที่ ๒ จำนวน ๘๒,๒๒๐ บาท และจำเลยร่วมที่ ๓ จำนวน ๒๓๕,๙๔๔ บาท และระหว่างวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ให้แก่จำเลยร่วมที่ ๑ จำนวน ๒๐,๗๕๐ บาท จำเลยร่วมที่ ๒
จำนวน ๑๑,๙๖๐ บาท จำเลยร่วมที่ ๓ จำนวน ๓๓,๙๙๒ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา
ศาลแรงงานกลาง.
(สิทธิชัย ลีลาโสภิต – นาวี สกุลวงศ์ธนา – ภูมิวุฒิ พุทธสุอัตตา)
ภัทรวรรณ ทรงกำพล - ย่อ
เกริกเกียรติ พุทธสถิตย์ - ตรวจ