คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1691/2567 คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โจทก์
บริษัท ท. จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 803
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26
คำให้การจำเลยมุ่งไปในทางว่าจำเลยเป็นเพียงนายหน้า ไม่มีนิติสัมพันธ์ในลักษณะ
ของการเป็นหุ้นส่วนหรือร่วมประกอบกิจการกับสายการบิน ส่วนที่จำเลยให้การว่า หากศาลรับฟังว่ามีนิติสัมพันธ์กันในลักษณะตัวการตัวแทน จำเลยซึ่งกระทำการภายในขอบอำนาจแห่งตัวแทน
ไม่ต้องรับผิดต่อผู้บริโภคเป็นการส่วนตัว เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยถึงการรับฟังพยานหลักฐานของศาล คำให้การดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลย
เป็นเพียงนายหน้า ไม่มีนิติสัมพันธ์ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนหรือร่วมกันประกอบกิจการ
กับสายการบิน
ผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับตามสัญญาโปรแกรมรายได้ค่าผลประโยชน์ตามที่สายการบิน
กับจำเลยตกลงกัน มีลักษณะของบำเหน็จจากการเป็นตัวแทน ซึ่งสายการบินกับจำเลยสามารถ
ตกลงเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 803 แม้จะเรียกบำเหน็จนั้นว่าผลประโยชน์ค่าตอบแทน (incentive) หรือค่านายหน้า (commission) และได้ตกลงวิธีการคิดคำนวณเป็นสัญญาโปรแกรมรายได้ค่าผลประโยชน์ (Revenue Incentive Program Agreement) ไว้อีกฉบับหนึ่งก็ตาม ก็ไม่ทำให้หน้าที่ตามสัญญาของจำเลยกลายเป็นฐานะอื่นที่ไม่ใช่ฐานะตัวแทน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของสายการบิน
_____________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑๕,๒๙๐.๑๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี
ของต้นเงิน ๑๓,๔๑๘.๐๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวอัมพิกา
และนายธนากร ผู้บริโภค และให้จำเลยนำค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียม
ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นคณะกรรมการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจจองตั๋วเครื่องบิน จองห้องพักโรงแรม รีสอร์ท รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจองตั๋วเครื่องบิน การจองห้องพัก
ทุกชนิด และขั้นตอนการชำระเงินของการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักดังกล่าว บริษัทสายการบิน น.
เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการขนส่ง คน สิ่งของ และไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
บริษัทสายการบิน น. จำเลยให้บริการจองตั๋วโดยสารเครื่องบินของสายการบินต่าง ๆ รวมถึง
บริษัทสายการบิน น. ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนเว็บไซต์หรือบนแอปพลิเคชันของจำเลย
โดยได้รับผลประโยชน์จากสายการบินต่าง ๆ เป็นค่าตอบแทน เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๒
นางสาวอัมพิกา และนายธนากร ผู้บริโภค จองซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินของบริษัทสายการบิน น.
ผ่านแอปพลิเคชันของจำเลย เดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง ประเทศไทย ไปยังท่าอากาศยานโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ และเดินทางกลับจากท่าอากาศยานโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
มายังท่าอากาศยานดอนเมือง ประเทศไทย ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เป็นเงิน ๑๓,๓๑๘.๑๘ บาท
และมีค่าดำเนินการ ๙๙.๘๙ บาท รวม ๑๓,๔๑๘.๐๗ บาท ซึ่งผู้บริโภคได้ชำระค่าบริการดังกล่าว
ผ่านบัตรเครดิตแก่จำเลยแล้ว ต่อมาบริษัทสายการบิน น. ขอยกเลิกเที่ยวบินดังกล่าวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ โดยให้ผู้บริโภคสามารถยกเลิกการจองพร้อมขอเงินคืน
หรือเลื่อนการเดินทางออกไปได้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ผู้บริโภคแจ้งขอคืนเงินทั้งหมด ขณะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ผู้ประกอบธุรกิจสายการบินซึ่งรวมถึงบริษัทสายการบิน น. ขอยกเลิกเที่ยวบิน และมีผู้บริโภครายอื่นหลายรายแจ้งขอยกเลิกการจองตั๋วโดยสารเครื่องบินและขอคืนเงินทั้งหมด แต่ไม่ได้รับการคืนเงินจากจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจสายการบิน
โดยมีผู้บริโภครายนายมนตรี นายวศิพล และนางสาวปาลิตา เข้าร้องเรียนต่อโจทก์กรณีที่ไม่ได้รับค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินคืนจากจำเลยและบริษัทสายการบิน น. โจทก์พิจารณาข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้บริโภครายดังกล่าวและมีมติให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแพ่งกับจำเลยและนิติบุคคลอื่นที่ประกอบธุรกิจสายการบินที่ได้ร่วมกันประกอบธุรกิจกับจำเลยในฐานะผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ซึ่งรวมถึง
บริษัทสายการบิน น. ด้วย เพื่อบังคับให้ร่วมกันคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่กลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว โดยให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่น ๆ ที่จะเข้ามาร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มเติมในทำนองเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๓ นางสาวอัมพิกาและนายธนากรยื่นหนังสือร้องเรียนต่อโจทก์พร้อมมอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยและบริษัทสายการบิน น. กรณีที่ไม่คืนค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินแก่ผู้บริโภค หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔ โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยกับบริษัทสายการบิน น. ขอบอกเลิกสัญญาและขอให้ชำระเงินคืนแก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย เมื่อวันที่
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นางสาวอัมพิกายื่นคำขอรับชำระหนี้กับบริษัทสายการบิน น. ในคดีล้มละลาย
เป็นเจ้าหนี้รายที่ ๓๐๙๓ ซึ่งเป็นมูลหนี้เดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาที่เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์เป็นประการแรกว่า จำเลยให้การโดยชัดแจ้งว่า
จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนหรือร่วมกันประกอบธุรกิจกับบริษัทสายการบิน หรือไม่ เห็นว่า คำให้การที่ขัดแย้งกันเองได้แก่ คำให้การที่ยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใด แต่คำให้การจำเลยมุ่งไปในทางว่าจำเลยเป็นเพียงนายหน้า ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนหรือร่วมประกอบกิจการกับบริษัทสายการบิน น. ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ส่วนที่จำเลยให้การว่า หากศาลรับฟังว่าจำเลยกับบริษัทสายการบิน น. มีนิติสัมพันธ์กันในลักษณะตัวการตัวแทน จำเลยซึ่งกระทำการภายในขอบอำนาจแห่งตัวแทน จึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้บริโภค
เป็นการส่วนตัว ก็เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยถึงการรับฟังพยานหลักฐานของศาล คำให้การดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยเป็นเพียงนายหน้าไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในลักษณะ
ของการเป็นหุ้นส่วนหรือร่วมกันประกอบธุรกิจกับบริษัทสายการบิน น. คำให้การของจำเลยจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว จึงเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลย
ต่างนำพยานหลักฐานเข้าสืบตามข้ออ้างและข้อเถียงของตนได้โดยชอบเช่นกัน อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการที่สองว่านิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทสายการบิน น.
กับจำเลยเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นการร่วมกันประกอบธุรกิจหรือไม่ เห็นว่า การจะพิจารณานิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทสายการบิน น. กับจำเลยนั้น ต้องพิจารณาสัญญา น. เอพีไอ ประกอบสัญญาโปรแกรมรายได้
ค่าผลประโยชน์ ที่บริษัทสายการบิน น. และจำเลยได้ทำไว้ต่อกันก่อนว่ามีลักษณะเป็นการตกลงเข้าทำธุรกิจร่วมกันหรือไม่ สัญญา น. เอพีไอ ต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษระบุในหน้าแรกว่า N. API Agreement Date the 1 OCT 18 N. Airlines Co., Ltd. (“N.”) And T. Service Co., Ltd. (“The Agent”) แต่ฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย แปลหน้าแรกว่า สัญญา น. เอพีไอ วันที่ 1 ตุลาคม 2561 บริษัทสายการบิน น. (“น.”) และบริษัท ท. (“นายหน้า”) รวมถึงในส่วนเนื้อหาของสัญญาต้นฉบับภาษาอังกฤษ จะใช้คำว่า
The Agent ซึ่งหมายถึงจำเลย เมื่อในสัญญา น. เอพีไอ (N. API Agreement) ข้อ 27 กำหนดถึงกฎหมายที่ใช้บังคับว่า 27.1 สัญญานี้อยู่ภายใต้และถูกตีความตามกฎหมายของประเทศไทย และคู่ความยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการตัดสินคดีของประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเรื่องตัวแทนนั้น บัญญัติไว้ในหมวด ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป โดยมาตรา ๗๙๗ ว่า “อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญา
ซึ่งให้บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลง
จะทำการดังนั้น...” ส่วนเรื่องนายหน้านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำว่า นายหน้า
บัญญัติไว้ในลักษณะ ๑๖ มาตรา ๘๔๕ ว่า “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่อง
ให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จ
ก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว...” ดังนี้คำว่า The Agent ตามสัญญาดังกล่าว ต้องตีความตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา ๗๙๗ และ มาตรา ๘๔๕ ดังกล่าว เมื่อสัญญาระหว่างจำเลยกับบริษัทสายการบิน น.
มีเงื่อนไขและข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของจำเลยกับบริษัทสายการบิน น.
ต้องปฏิบัติต่อกันในข้อต่าง ๆ เช่น 2.1. น. คือสายการบินที่นำเสนอบริการขนส่งทางอากาศแก่ผู้โดยสาร 2.2 น. มีความประสงค์จะให้จำเลยเข้าถึงระบบ API Navitaire (API) เพื่อเป็นช่องทางสำหรับจำเลย
ในการประสานเข้ากับระบบการจองของ น. เพื่อตรวจสอบราคา ตารางบิน และ/หรือ เพื่อให้ผู้โดยสาร
ทำการจองบัตรโดยสาร 2.3 น. และจำเลยตกลงกันว่าสัญญาฉบับนี้จะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ API
ของจำเลย การอนุญาตและการใช้งานเอพีไอ (API) 5.1 ในการพิจารณาเข้าทำสัญญานี้ น. ให้สิทธิ
และจำเลยยอมรับการอนุญาตแบบไม่จำกัดสิทธิแต่ผู้เดียว (non-exclusive) เพื่อใช้เอพีไอ (API)
เพียงเพื่อจุดประสงค์ในการอนุญาตให้จำเลยเชื่อมต่อกับระบบการจองของ น. เพื่อตรวจสอบค่าโดยสาร
และตารางเวลา และ หรือทำการจองของผู้โดยสารกับ น. 12.1. จำเลยรับทราบว่าราคาตั๋วโดยสาร
ที่แสดงอยู่บนระบบจองของ น. นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดย น. ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ 12.2 จำเลยรับทราบว่าค่าโดยสารระหว่างประเทศไม่รวมค่าภาษี ค่าธรรมเนียม การเก็บเงินเพิ่ม เว้นแต่
จะถูกบังคับตามกฎหมายภายใต้รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ 12.3 ข้อกำหนด 12.3.1 และ 12.3.2
จะบังคับใช้กับจำเลยที่ได้เข้าทำสัญญาเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในรูปแบบการจ่ายค่านายหน้า
(pay c0mmission) กับ น. 12.3.1 จำเลยรับทราบว่า น. จะจ่ายค่านายหน้าให้แก่จำเลย สำหรับ
ค่าตั๋วโดยสารที่จำเลยขายให้แก่ผู้โดยสาร (… that are sold by the agent …) และที่เทียบเท่ากับ
ราคาตั๋วโดยสารที่มีอยู่บนเว็บไซต์ เว้นแต่จำเลยทำสัญญาแยกอีกฉบับกับ น. เพื่อให้ได้รับราคาตั๋วพิเศษ 12.3.2 น. ตกลงว่าจำเลยอาจคิดค่าบริการเพิ่มอย่างเหมาะสมสำหรับการบริการออกตั๋วโดยสาร
จำเลยรับทราบและตกลงว่าจะไม่มีค่าบริการอื่นใดที่เพิ่มแก่ตั๋วโดยสารอีก ค่าบริการในการออกตั๋วโดยสารของจำเลยเพิ่มมาจากค่าโดยสารนั้น จำเลยจะต้องอธิบายอย่างชัดแจ้งให้แก่ผู้โดยสารรับทราบ
ตามสัญญา น. เอพีไอ (N. API Agreement) ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2561 จะเห็นได้ว่าตามสัญญาดังกล่าว
จำเลยไม่อาจเป็นผู้กำหนดราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินได้เองอย่างมีอิสระที่จะขายให้แก่ผู้บริโภค
หากการประกอบธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุนจำเลยก็ไม่ได้ร่วมรับภาระการขาดทุนหรือผลกำไรด้วย ผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากอัตราร้อยละของราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินที่จองผ่านจำเลยตามที่
บริษัทสายการบิน น. กับจำเลยตกลงกัน จึงมีลักษณะของบำเหน็จจากการเป็นตัวแทน ซึ่งบริษัทสายการบิน น. กับจำเลยสามารถตกลงกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 803 แม้จะเรียกบำเหน็จนั้นว่าผลประโยชน์ค่าตอบแทน (incentive) หรือค่านายหน้า (commission) โดยสายการบิน น. กับจำเลย
ได้ตกลงวิธีการคิดคำนวณเป็นสัญญาโปรแกรมรายได้ค่าผลประโยชน์ (Revenue Incentive Program Agreement) ไว้อีกฉบับหนึ่งก็ตาม ก็ไม่ทำให้หน้าที่ตามสัญญาของจำเลยกลายเป็นฐานะอื่นที่ไม่ใช่
ฐานะตัวแทน ดังนี้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเกินเลยไปกว่าหน้าที่ของนายหน้าซึ่งเป็นเพียงผู้ชี้ช่อง
หรือจัดการให้เขาได้ทำสัญญาต่อกันเท่านั้น แม้จำเลยจะแปลความในสัญญาว่าจำเลยเป็นนายหน้าก็ตาม
แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยแสดงออกตั้งแต่การที่จำเลยรับจองซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินของบริษัทสายการบิน น. ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนเว็บไซต์ของจำเลยและรับชำระเงินค่าตั๋วเครื่องบินแล้วโอนให้
บริษัทสายการบิน น. และเมื่อผู้บริโภคได้แสดงเจตนายกเลิกสัญญากับบริษัทสายการบิน น. และขอเงินคืนโดยติดต่อกับจำเลย จำเลยก็ได้พยายามให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค
ในการติดต่อประสานงานกับบริษัทสายการบิน น. เป็นการกระทำอันเป็นไปตามความประสงค์
ของบริษัทสายการบิน น. จึงเข้าลักษณะเป็นตัวแทน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทสายการบิน น. และการกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่จำเป็นและสมควร
ต้องกระทำภายในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้บริโภค นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทสายการบิน น. กับจำเลยจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นการร่วมกันประกอบธุรกิจ
โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.
(นิภา ชัยเจริญ – กนกรดา ไกรวิชญพงศ์ – คมน์ทนงชัย ฉายไพโรจน์)
สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ
กลอน รักษา - ตรวจ