Print
Category: 2567
Hits: 898

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1202/2567    นาย อ.                                 โจทก์

                                                                                 นางสาว ก.                              จำเลย

พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 10

            โจทก์สร้างสรรค์งานภาพถ่ายเพื่อใช้รีวิวโรงแรมซึ่งรวมถึงภาพถ่ายพิพาท โดยรับจ้างจากโรงแรมอันเป็นสัญญาจ้างทำของ โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์งานภาพถ่ายที่รับจ้างรีวิวซึ่งรวมถึงภาพถ่ายพิพาท โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27, 31, 69, 70 และ 78 (ที่ถูก มาตรา 76) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำเลยจ่ายค่าปรับ
ที่ได้ชำระตามคำพิพากษาแก่โจทก์ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า
คดีของโจทก์มีมูลตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ข้อหาความผิดอื่นนอกจากนี้ให้ยก

         จำเลยให้การปฏิเสธ

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีสัญชาติไทย ประกอบอาชีพช่างภาพอิสระเป็นเจ้าของเว็บไซต์ https://www.nejutravel.com เฟซบุ๊กเพจ “บันทึกเที่ยว/NejuTravel” (@Nejuphoto) และอินสตาแกรม ชื่อบัญชี @nejuTravel หรือ“บันทึกเที่ยว/NejuTravel” โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่าย หมาย จ.2 แผ่นที่ 2 จำนวน 1 ภาพ ถ่ายระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรม ช. และงานภาพถ่าย หมาย จ.3 แผ่นที่ 2 และที่ 3 จำนวน 2 ภาพ ถ่ายระหว่างวันที่ 22 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2564 ที่โรงแรม ส. โจทก์เผยแพร่งานดังกล่าวครั้งแรกบนเพจเฟซบุ๊กของโจทก์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ตามลำดับ ส่วนจำเลยประกอบอาชีพขายบัตรกำนัลโรงแรม (Gift Voucher) ตามวัน เวลา เกิดเหตุ จำเลยนำภาพถ่ายโรงแรม ส. และภาพถ่ายโรงแรม ช. ของโจทก์ ตามหมาย จ.2 แผ่นที่ 2 และหมาย จ.3 แผ่นที่ 2 และที่ 3 โพสต์ในกลุ่มสนทนา Line OpenChat กลุ่ม “Voucher by Mon” ของจำเลย
พร้อมข้อความเสนอขายบัตรกำนัลโรงแรม (Voucher) สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๐ วรรคสองประกอบมาตรา ๓๑ (๒) นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศกลาง ความผิดสำหรับข้อหานี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์
งานภาพถ่ายของโจทก์ หมาย จ.2 แผ่นที่ 2 และหมาย จ.3 แผ่นที่ 2 และที่ 3 ด้วยการทำซ้ำ
หรือดัดแปลงเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๗ (๑) หรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ที่โจทก์รับถ่ายภาพห้องพัก การบริการ และทัศนียภาพอันสวยงามของโรงแรม ช. และโรงแรม ส. เพื่อประกอบการเขียนรีวิวเผยแพร่ในเพจของโจทก์ และสื่อโซเชียลต่าง ๆ เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์โรงแรมทั้งสองแห่ง โดยโจทก์มิใช่ลูกจ้างของโรงแรม มีอิสระในการสร้างสรรค์
งานภาพถ่ายด้วยอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายของโจทก์โดยไม่อยู่ในการกำกับดูแลของโรงแรม
และมีค่าตอบแทนเมื่องานสำเร็จเป็นบัตรกำนัล (voucher) จำนวน ๒ ใบ และ ๘ ใบ ตามลำดับ
อันเป็นค่าห้องพักโรงแรม ค่าอาหารและบริการ ซึ่งมีมูลค่าและสามารถนำไปจำหน่ายได้นั้น ฟังได้ว่า
โจทก์สร้างสรรค์งานภาพถ่ายซึ่งรวมถึงภาพถ่ายพิพาท หมาย จ.2 แผ่นที่ 2 และหมาย จ.3 แผ่นที่ 2 และที่ 3 โดยการรับจ้างโรงแรม ช. และโรงแรม ส. ซึ่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า “งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์
ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น” ดังนี้ แม้โจทก์จะเบิกความยืนยันว่า โจทก์ตกลงกับทางโรมแรมว่าลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายทั้งหมดเป็นของโจทก์ แต่ความข้อนี้
โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ภาพถ่ายพิพาท หมาย จ.๒ และ จ.๓ จำนวน ๓ ภาพ เป็นภาพที่โจทก์ถ่ายจากการไปรีวิวให้โรงแรมทั้งสองแห่ง โดยได้รับบัตรกำนัล (voucher)
เป็นค่าตอบแทน และมีการทำสัญญากับโรงแรม ช. แต่โจทก์ก็มิได้นำสัญญาดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานให้เห็นว่ามีข้อตกลงให้โจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายดังกล่าว ส่วนการรับจ้างรีวิวโรงแรม ส. แม้โจทก์จะเบิกความว่าไม่ได้มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า หลังจากที่นางสาวพิญญ์ชญาตักเตือนเกี่ยวกับภาพถ่ายโรงแรม ส. จำเลยได้สอบถาม
นายธาดา ผู้จัดการโรงแรม ส. เกี่ยวกับภาพถ่ายพิพาท ได้รับคำตอบว่าสามารถนำภาพดังกล่าว
ไปใช้ได้ ซึ่งหากมีข้อตกลงระหว่างโจทก์และโรงแรมให้ภาพถ่ายทั้งหมดตกเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์จริง
นายธาดาซึ่งเป็นผู้จัดการโรงแรมย่อมไม่กล้าที่จะยืนยันกับจำเลยว่าสามารถนำภาพพิพาทจากเพจ
ของโรมแรมไปใช้ประกอบการรีวิวขายบัตรกำนัล (voucher) ของโรงแรมได้ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบแก่โรงแรมเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ข้อที่โจทก์อ้างว่าตกลงกับนางสาว
หรือนางบี๊ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของโรงแรม ช. และนางสาวหรือนางสโนว์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของโรงแรม ส. ว่าภาพที่โจทก์ถ่ายในวันที่เข้าพักในโรงแรมเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงผู้เดียวนั้น
เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างของโจทก์เพียงผู้เดียว ประกอบกับบุคคลทั้งสองเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด
ของโรงแรม ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนโรงแรมแต่อย่างใด ข้ออ้างของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการรับจ้างรีวิวโรงแรม ช. และโรงแรม ส. ไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น
โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์งานภาพถ่ายที่รับจ้างรีวิวซึ่งรวมถึงภาพถ่ายพิพาทตาม เอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๓ ด้วย และมิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์อื่นของโจทก์
เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
.

 

 

 

พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(รุ่งระวี โสขุมา – มนตรี ศิลป์มหาบัณฑิต – สุวิทย์ รัตนสุคนธ์)

สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ

กลอน รักษา - ตรวจ