Print
Category: 2567
Hits: 839

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1028/2567  บริษัท อ.                                โจทก์

                                                                     บริษัท ห.                                จำเลย

พ.ร.บ. การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 มาตรา 37, 38 วรรคหนึ่ง

         การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งเป็น
มูลแห่งสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ต่อจำเลยแล้ว คำฟ้องของโจทก์ถือเป็นการกล่าวอ้างด้วยว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยนั้นยังไม่ขาดอายุความตามกฎหมาย เมื่อจำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความ
จึงเป็นการปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งกล่าวอ้างว่าคดีไม่ขาดอายุความจึงเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ หาใช่จำเลยซึ่งให้การต่อสู้เรื่องอายุความจะต้องมีภาระการพิสูจน์ไม่

          แม้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยซึ่งไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และสิทธิเรียกร้องนั้นมีมูลกรณีจากละเมิด หากจำเลยเป็นบุคคลที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเกิดจาก
การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การฟ้องคดีของโจทก์ย่อมอยู่ในบังคับของอายุความตามมาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างผู้ขนส่งให้ดำเนินการขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยจากต้นทางไปยังปลายทางภายใต้สัญญาขนส่งฉบับเดียว โดยเริ่มต้นขนส่งทางบกจากโรงงานที่จังหวัดระยองไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อดำเนินการขนส่งทางทะเล
โดยเรือไปสาธารณรัฐประชาชนจีน การขนส่งโดยผู้ขนส่งจึงเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบ
การขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่
ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง ตามนิยาม “การขนส่งต่อเนื่อง
หลายรูปแบบ” ตามมาตรา ๔ เมื่อจำเลยรับขนถ่ายสินค้าด้วยการยกตู้สินค้าบรรทุกลงเรือ โดยได้รับค่าจ้างจากผู้ขนส่ง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ขนถ่ายสินค้าให้รับผิดในความเสียหายของสินค้าขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบต่อบุคคลที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ จึงต้องใช้อายุความตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง เมื่อไม่มีการส่งมอบของให้แก่
ผู้ซื้อเนื่องจากสินค้าเสียหาย วันเริ่มต้นนับอายุความจึงต้องพิจารณาจากวันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องควรจะส่งมอบของ ซึ่งสำเนาใบกำกับหีบห่อระบุวันที่คาดหมายว่าสินค้าที่เอาประกันภัย
จะไปถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ จึงถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องควรจะส่งมอบของ แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เกินกว่าเก้าเดือนนับแต่วันที่ควรจะส่งมอบของ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

_____________________________

        

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑,๕๐๗,๗๖๓.๖๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ
๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๔๘๗,๑๘๗.๔๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดพัทยาเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษา
ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ จึงเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธาน
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๙ ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษา
ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๕) และ (๑๐) ศาลจังหวัดพัทยาจึงโอนคดีไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียม
และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยกรรมการ
ผู้มีอำนาจของโจทก์ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีและมีอำนาจแต่งตั้งทนายความ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๔ บริษัท น. สาขาประเทศไทย ทำสัญญา
โอนกิจการทั้งหมดของบริษัทให้แก่โจทก์ และโจทก์ตกลงรับโอนกิจการรวมถึงสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัท น. สาขาประเทศไทย มีต่อจำเลยในคดีนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการพัฒนา บริหาร และให้บริการท่าเรือแก่ผู้ประกอบการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ
และในประเทศรวมทั้งการให้บริการอื่น ๆ บริษัท ป. ผู้เอาประกันภัยขายสินค้าเคมีภัณฑ์ประเภท
พอลิยูรีเทน เรซิน UCECOAT 7177 น้ำหนัก ๑๔,๒๘๐ กิโลกรัม ซึ่งบรรจุในถังพลาสติก ๖๘ ถัง
และบรรจุใส่ตู้สินค้า ให้แก่บริษัท ร. ผู้ซื้อ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตกลงซื้อขายภายใต้เงื่อนไข
แบบราคาสินค้ารวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งหรือซีไอเอฟ เป็นเงิน ๔๙๙,๙๑๔.๘๘ หยวน
โดยผู้เอาประกันภัยทำสัญญาเอาประกันภัยความเสี่ยงทุกชนิดแบบเปิดกับบริษัท น. สาขาประเทศไทย
ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างบริษัท พ. ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าซึ่งบรรจุอยู่ในตู้สินค้าหมายเลขทีอาร์เอชยู ๑๕๓๖๖๗๗ จากโรงงานผลิตของผู้เอาประกันภัยที่จังหวัดระยองไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อดำเนินการขนส่งทางทะเลโดยเรือ Green Earth V.9s ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๓ จำเลยยกตู้สินค้าดังกล่าวเพื่อบรรทุกลงเรือ แต่ในระหว่างที่พนักงานของจำเลยใช้เครนยกตู้สินค้า
ตู้สินค้าดังกล่าวหล่นจากเครนกระแทกกับตู้สินค้าอื่น ผู้เอาประกันภัยแจ้งให้บริษัท น. สาขาประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยสินค้าทราบ บริษัท น. สาขาประเทศไทย มอบหมายให้บริษัทสำรวจภัย
เข้าตรวจสอบความเสียหายที่ท่าเรือของจำเลย สินค้าที่บรรจุภายในตู้สินค้าอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถ
ส่งไปให้ผู้ซื้อในสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ ผู้เอาประกันภัยรับมอบสินค้าที่บรรจุภายในตู้สินค้าดังกล่าวกลับคืนไปจากจำเลยเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๓ ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท น. สาขาประเทศไทย เมื่อโจทก์รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัท น. สาขาประเทศไทย โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับสินค้าที่เอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เนื่องจากสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่ง โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องร้องจำเลยให้รับผิด

         สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องเนื่องจากการฝากทรัพย์หรือไม่นั้น
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์รับช่วงสิทธิจาก
ผู้เอาประกันภัยฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งระหว่างเหตุการณ์
ขนถ่ายสินค้าลงเรือบรรทุกสินค้าซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย มิใช่การฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิด
เพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ ชดใช้เงินค่าใช้จ่าย หรือใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์
ซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๗๑ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องเนื่องจากการฝากทรัพย์ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ปัญหานี้จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งเป็นมูลแห่งสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ต่อจำเลยแล้ว คำฟ้องของโจทก์
ถือเป็นการกล่าวอ้างด้วยว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยนั้นยังไม่ขาดอายุความตามกฎหมาย
เมื่อจำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความ จึงเป็นการปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลา
ตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งกล่าวอ้างว่าคดีไม่ขาดอายุความจึงเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ หาใช่จำเลย
ซึ่งให้การต่อสู้เรื่องอายุความจะต้องมีภาระการพิสูจน์ไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา
วันนัดพร้อมเพื่อชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดี และวินิจฉัยในคำพิพากษา
จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนปัญหาว่าการที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้รับผิดในความเสียหายของสินค้าในมูลละเมิดแล้ว ข้อกฎหมายเรื่องอายุความ
ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ จะใช้บังคับแก่คดีนี้ได้หรือไม่นั้น
เห็นว่า มาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ใช้บทบัญญัติหมวด ๑ ว่าด้วยสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแก่การใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ว่าการเรียกร้องนั้นจะมีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด และให้ใช้บังคับตลอดถึงการที่ใช้สิทธิเรียกร้อง
ต่อลูกจ้าง ตัวแทน หรือบุคคลอื่นที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องใด ๆ อันเกิดจาก
การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไม่ว่าจะมีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด
ถ้ามิได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการตามความในหมวด ๓ เพื่อชี้ขาดภายใน
เก้าเดือนนับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของ หรือควรส่งมอบของให้เป็นอันขาด
อายุความ ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยซึ่งไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งต่อเนื่อง
หลายรูปแบบ และสิทธิเรียกร้องนั้นมีมูลกรณีจากละเมิด หากจำเลยเป็นบุคคลที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และสิทธิเรียกร้องดังกล่าว
เกิดจากการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การฟ้องคดีของโจทก์ย่อมอยู่ในบังคับของอายุความตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง สำหรับปัญหาว่าจำเลยเป็นบุคคลที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติ
ตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดจากการขนส่งต่อเนื่อง
หลายรูปแบบหรือไม่นั้น เห็นว่า พยานโจทก์ที่ยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทั้งสองปาก
ต่างก็ยืนยันข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าผู้เอาประกันภัยว่าจ้างบริษัท พ. เป็นผู้ทำการขนส่งสินค้า
โดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ขนส่งรายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีก แม้พยานโจทก์ปากนายจักรกฤษจะเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยประกอบกิจการให้บริการท่าเรือ ซึ่งจะนำสินค้าที่รอบรรทุกลงเรือ
มาเก็บรักษาไว้ก่อนบรรทุกลงเรือโดยได้รับค่าบริการจากผู้ใช้บริการ ซึ่งในกรณี คือ บริษัท ฮ.
แต่คำเบิกความดังกล่าวแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์ยืนยันในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง
หรือความเห็น โดยปราศจากเหตุผลในการยืนยันข้อเท็จจริงแตกต่างกัน อีกทั้งทนายคู่ความก็มิได้
ถามค้านหรือถามติงให้ได้ความว่าที่พยานเบิกความถึงบริษัท ฮ. นั้นเกี่ยวข้องในคดีอย่างไร หรือที่ถูกต้องบริษัท ฮ. คือ บริษัท พ. หรือไม่ จึงไม่มีพยานหลักฐานใดในคดีที่แสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบริษัท ฮ.
อีกเลย ในขณะที่รายงานการสำรวจภัยระบุข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ว่า จากเอกสารและข้อมูลที่มีอยู่ในเวลาเข้าสำรวจภัย ผู้เอาประกันภัยวางแผนจะส่งออกสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้า ซึ่งเตรียมจะขนลงเรือ
Green Earth v.9s ที่ท่าเรือแหลมฉบังในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๓ ตามที่ได้มีการยืนยันการจองหมายเลข จีทีดี ๐๕๑๙๓๗๗ โดยบริษัท พ. เมื่อทั้งโจทก์และจำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าข้อมูลดังกล่าว
ในรายงานการสำรวจภัย ไม่ถูกต้อง จึงน่าเชื่อว่าพยานโจทก์ปากนายจักรกฤษตอบคำถามค้าน
ของทนายจำเลยเกี่ยวกับชื่อผู้ใช้บริการจำเลยคลาดเคลื่อนไป และที่โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่าบริษัท ซ. เป็นผู้ขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยจากท่าเรือแหลมฉบังกลับไปยังโรงงาน ไม่ใช่บริษัท พ. นั้น ไม่ว่าบริษัท ซ. จะเป็นผู้ขนส่งทอดดังกล่าวตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ ก็ไม่ทำให้การขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยกลายเป็นการขนส่งหลายรูปแบบภายใต้สัญญาหลายฉบับ เพราะการขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยกลับไปยังโรงงานของผู้เอาประกันภัยเป็นการขนส่งที่ต้องดำเนินการเนื่องจากเกิดการละเมิด ไม่เกี่ยวข้อง
กับการขนส่งเพื่อส่งมอบสินค้าที่เอาประกันภัยแก่ผู้ซื้อตามสัญญาขนส่งเดิม เมื่อโจทก์ซึ่งมีภาระ
การพิสูจน์ไม่ได้นำพยานหลักฐานที่สามารถแสดงได้ว่า บริษัท พ. รับจ้างขนส่งตู้สินค้าไปมอบ
ให้แก่ผู้ขนส่งอื่นที่ท่าเรือของจำเลยเท่านั้น และผู้เอาประกันภัยเป็นผู้จองระวางเรือสำหรับขนส่งสินค้าทางทะเลด้วยตนเอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามรายงานการสำรวจภัยว่า บริษัท พ. เป็นผู้จองระวางเรือ Green Earth v.9s ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้จองระวางตามที่โจทก์อุทธรณ์ อันเป็นการแสดงว่า
ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างบริษัท พ. ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยจากต้นทางไปยังปลายทางภายใต้สัญญาขนส่งฉบับเดียว และเมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นแล้วว่า
การขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยเริ่มต้นขนส่งทางบกจากโรงงานที่จังหวัดระยองไปยังท่าเรือแหลมฉบัง
เพื่อดำเนินการขนส่งทางทะเลโดยเรือ Green Earth V.9s ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน การขนส่ง
โดยบริษัท พ. จึงเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไป
ภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง
ตามนิยาม “การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ” ตามมาตรา ๔ เมื่อจำเลยรับขนถ่ายสินค้าด้วยการ
ยกตู้สินค้าบรรทุกลงเรือ Green Earth V.9s โดยได้รับค่าจ้างจากบริษัท พ. การที่โจทก์ฟ้องจำเลย
ซึ่งเป็นผู้ขนถ่ายสินค้าให้รับผิดในความเสียหายของสินค้าขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลย
จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบต่อบุคคลที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ จึงต้องใช้อายุความ
ตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง เมื่อไม่มีการส่งมอบของให้แก่ผู้ซื้อเนื่องจากสินค้าเสียหาย วันเริ่มต้น
นับอายุความจึงต้องพิจารณาจากวันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องควรจะส่งมอบของ ซึ่งสำเนา
ใบกำกับหีบห่อระบุวันที่คาดหมายว่าสินค้าที่เอาประกันภัยจะไปถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ จึงถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องควรจะส่งมอบของ แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เกินกว่าเก้าเดือนนับแต่วันที่ควรจะส่งมอบของ คดีโจทก์
จึงขาดอายุความ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าคดีโจทก์
ขาดอายุความ และพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

(กรกันยา สุวรรณพานิช – เทอดชัย ธนะพงศ์พร – ปัทมา ทุมมา จรรยาพูน)

อมรชัย ศิริถาพร - ย่อ

กลอน รักษา - ตรวจ