Print
Category: 2565
Hits: 407

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2548/2565 บริษัทเดอะ บางกอก เรซิเดนซ์ ๘๘ จำกัด โจทก์

                                                                      ว่าที่ร้อยตรีดำรงค์  สิทธิกาล            จำเลย

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔/๑

พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๕                               

         ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๕ วางหลักข้อตกลง
ที่เป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานอันเข้าลักษณะเป็นข้อสัญญา
ที่ไม่เป็นธรรมไว้ว่า ข้อตกลงนั้นต้องเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่า
ที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ โดยให้พิเคราะห์ถึงขอบเขตในด้านพื้นที่และระยะเวลาของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ รวมทั้งความสามารถและโอกาสในการประกอบอาชีพการงานของผู้ถูกจำกัดสิทธิ
หรือเสรีภาพ ประกอบกับทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของคู่สัญญาด้วย และให้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น เมื่อพิจารณาข้อตกลง
ตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขัน
กับโจทก์ตามประเภทธุรกิจที่ระบุไว้โดยชัดเจน จำเลยยังสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานอื่น
ที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงนี้ได้ หาได้ปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงชีพอยู่ได้ไม่  และการที่โจทก์ปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจจากการแข่งขันทางการค้าของตน ย่อมเป็นการใช้สิทธิตามสมควรที่สามารถกระทำได้ อย่างไรก็ตาม ข้อสัญญาที่จำกัดห้ามมิให้จำเลยประกอบธุรกิจ
หรือทำงานในสถานประกอบการอื่นที่ประกอบธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับโจทก์ กำหนดระยะเวลาไว้ถึง ๓ ปี นับแต่วันที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างนั้น นับว่าทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึง
คาดหมายได้ตามปกติและถือเป็นข้อตกลงที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ซึ่งศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจกำหนดให้มีผลใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญา
ที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๕ และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔/๑
ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังกล่าวสร้างภาระให้จำเลยมากเกินสมควร
เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ใช้บังคับไม่ได้ทั้งหมด โดยไม่ได้กำหนดเวลาห้ามให้มีผลนานเท่าใด
เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติข้างต้น เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้มีผลบังคับได้เพียง ๑ ปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นสภาพ
จากการเป็นลูกจ้าง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างโจทก์ได้เพียง ๘ วัน อันอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามดังกล่าว จำเลยได้ประกอบธุรกิจหรือทำงานในสถานประกอบการอื่นที่ประกอบธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับโจทก์ อันเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อย่างไรก็ตาม การกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์

 

เป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่อาจกำหนดให้ได้  สมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการวินิจฉัยในส่วนนี้แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

______________________________

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยหยุดประกอบธุรกิจหรือทำงานในสถานประกอบการอื่นที่ประกอบธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับโจทก์ภายใน ๓ ปี นับแต่วันที่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างโจทก์
และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง
เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
โจทก์ประกอบกิจการเป็นนายหน้าชี้ช่องให้บุคคลที่ประสงค์จะซื้อขาย เช่า หรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
เข้าทำสัญญากับอีกฝ่ายหนึ่ง จำเลยเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์
มีหน้าที่แนะนำให้บริการและติดต่อประสานงานชี้ช่องให้เข้าทำสัญญาซื้อขาย เช่า หรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของลูกค้าโจทก์ โดยมีข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ ๑๕ ว่า ลูกจ้างจะไม่ประกอบธุรกิจหรือทำงาน
ในสถานประกอบการอื่นที่ประกอบธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับนายจ้าง ภายในระยะเวลา ๓ (สาม) ปี
นับแต่วันที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง จำเลยพ้นสภาพลูกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ และประกอบธุรกิจหรือทำงานในสถานประกอบการอื่นที่ประกอบธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับโจทก์ภายใน ๓ ปี นับจาก
วันพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์กับโจทก์ ย่อมทำให้รู้จักและทราบข้อมูลของลูกค้า เมื่อไปประกอบอาชีพใหม่ย่อมต้องเกี่ยวพันกับงานที่เคยทำ ทำให้มีโอกาสแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ได้มาก ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ไม่เป็นการจำกัดสิทธิ
ในการประกอบอาชีพของจำเลย แต่การห้ามไม่ให้จำเลยประกอบธุรกิจหรือทำงานในสถานประกอบการอื่น
ที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์เป็นระยะเวลา ๓ ปี เป็นการสร้างภาระให้แก่จำเลยเกินสมควร
เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงใช้บังคับไม่ได้ทั้งหมด กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด อีกต่อไป

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานที่ระบุว่าลูกจ้าง
จะไม่ประกอบธุรกิจหรือทำงานในสถานประกอบการอื่นที่ประกอบธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับนายจ้าง
ภายในระยะเวลา ๓ (สาม) ปี นับแต่วันที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๕ วางหลักข้อตกลง
ที่เป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานอันเข้าลักษณะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไว้ว่า ข้อตกลงนั้นต้องเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ โดยให้พิเคราะห์ถึงขอบเขตในด้านพื้นที่และระยะเวลาของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ รวมทั้งความสามารถและโอกาสในการประกอบอาชีพการงานของผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ ประกอบกับทางได้เสียทุกอย่าง
อันชอบด้วยกฎหมายของคู่สัญญาด้วย และให้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรม
และพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น เมื่อพิจารณาข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว เป็นเพียงข้อจำกัด
ห้ามการประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับโจทก์ตามประเภทธุรกิจที่ระบุไว้โดยชัดเจน จำเลยยังสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานอื่นที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงนี้ได้ หาได้ปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยโดยเด็ดขาด
จนไม่อาจดำรงชีพอยู่ได้ไม่ และการที่โจทก์ปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจจากการแข่งขันทางการค้าของตน ย่อมเป็นการใช้สิทธิตามสมควรที่สามารถกระทำได้ อย่างไรก็ตาม ข้อสัญญาที่จำกัดห้ามมิให้จำเลยประกอบธุรกิจหรือทำงานในสถานประกอบการอื่นที่ประกอบธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับโจทก์ กำหนดระยะเวลาไว้ถึง ๓ ปี นับแต่วันที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างนั้น นับว่าทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติและถือเป็นข้อตกลงที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ซึ่งศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจกำหนดให้มีผลใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญา
ที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๕ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔/๑
ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังกล่าวสร้างภาระให้จำเลยมากเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ใช้บังคับไม่ได้ทั้งหมด โดยไม่ได้กำหนดเวลาห้ามให้มีผลนานเท่าใด เป็นการใช้ดุลพินิจ
ที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติข้างต้น เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้มีผลบังคับได้เพียง ๑ ปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างโจทก์ได้เพียง ๘ วัน อันอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามดังกล่าว จำเลยได้ประกอบธุรกิจหรือทำงานในสถานประกอบการอื่นที่ประกอบธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับโจทก์
อันเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อย่างไรก็ตาม
การกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่อาจกำหนดให้ได้ สมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการวินิจฉัย
ในส่วนนี้แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

            พิพากษากลับ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้
แก่โจทก์ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

(สาโรช  ทาสวัสดิ์ – ศุภร  พิชิตวงศ์เลิศ – ดาราวรรณ  ใจคำป้อ)

พรรณทิพย์  วัฒนกิจการ - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ - ตรวจ