คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2469 - 2470/2565 เด็กหญิงหรือนางสาวอ๋อม พมมะดี
หรือพรหมมะนี โดยนายน้อย
พมมะดี ผู้แทนโดยชอบธรรม โจทก์
นางสาวนงลักษณ์ ธนศิริวัฒนา ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน
กับพวก จำเลย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔, ๖, ๙๐
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ วรรคสอง และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง
แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดไม่ให้นำบทบัญญัติบางมาตราของ
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาใช้บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างซึ่งทำงานบ้านดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครอง
เพียงบางเรื่องแตกต่างจากการจ้างงานทั่วไป โดยกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวกำหนดมิให้ใช้บทบัญญัติในหมวด ๖ คณะกรรมการค่าจ้าง ตั้งแต่มาตรา ๗๘ ถึงมาตรา ๙๑ ดังนั้น ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับ
งานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างอัตราขั้นต่ำ ตามมาตรา ๙๐ แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งกฎกระทรวง
ฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดบทยกเว้นกรณีใดไว้จึงต้องใช้บังคับแก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่มาตรา ๙๐ ระบุบังคับไว้ จึงชอบแล้ว
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และบังคับจำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงาน
ในวันหยุด และค่าเสียหาย รวมเป็นเงิน ๑,๓๗๐,๐๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี
ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่ง
ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๑๗/๒๕๖๓
จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนหลังให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค ๑ ในสำนวนหลัง โจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานภาค ๑ มีคำสั่งอนุญาต ต่อมา ระหว่างพิจารณาในสำนวนแรก โจทก์แถลงสละข้อเรียกร้อง
และคำขอในส่วนที่เรียกค่าเสียหายจากการทำละเมิดจากจำเลยที่ ๒
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๑๗/๒๕๖๓ เรื่อง ค่าจ้าง
และค่าทำงานในวันหยุด และให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ๑๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริง
และปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ทำงานบ้าน
กับเลี้ยงสุนัขและแมวเพียงอย่างเดียว โดยจำเลยที่ ๒ มิได้มีการประกอบธุรกิจใด ๆ ที่บ้านดังกล่าว
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ต่อมา จำเลยที่ ๑ มีคำสั่ง
ที่ ๑๗/๒๕๖๓ ให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างที่ค้างและค่าทำงานในวันหยุดทั้งสามประเภทรวมเป็นเงิน ๙๙,๑๓๓.๓๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป และวินิจฉัยว่า ระยะเวลาการทำงาน
ของโจทก์เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ และสิ้นสุดลงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
รวมเป็นระยะเวลา ๑ ปี ๓ เดือน โจทก์เป็นลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความ
ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ วรรคสอง
และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้ใช้บทบัญญัติในหมวด ๖ คณะกรรมการค่าจ้าง ตั้งแต่มาตรา ๗๘ ถึงมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มี
การประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ดังนั้น โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประกาศกำหนดอัตราค่าจ้าง
ขั้นต่ำตามที่มาตรา ๙๐ ระบุบังคับไว้ อัตราค่าจ้างที่โจทก์พึงได้รับจึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๒ ตามหลักสัญญาทั่วไป กฎกระทรวงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด โจทก์ได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ ๒ เป็นเงินสด ๕,๐๐๐ บาท ต่อเดือนโดยการโอนค่าจ้างของโจทก์ให้บิดาโจทก์นั้น จำเลยที่ ๒ จะโอนเป็นยอดรวมค่าจ้างของทั้งพี่ชายโจทก์และของโจทก์รวมกันไปในคราวเดียว ส่วนจะหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวแต่ละเดือนเป็นเงินเท่าใดนั้น จำเลยที่ ๒ ไม่นำสืบให้เห็นชัดเจนว่าในแต่ละเดือนต้องหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวของโจทก์ไปเป็นเงินเท่าใด จึงต้องฟังว่ายอดเงินที่จำเลยที่ ๒ โอนไปนั้น เมื่อหักค่าจ้างของพี่ชายโจทก์ออกไปแล้วยอดเงินคงเหลือสุทธิย่อมถือว่าเป็นค่าจ้าง
ของโจทก์ที่ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวของโจทก์ออกไป สำหรับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างของลูกจ้างนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๐ (๑) บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายเดือนไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ ในวันที่
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ขอให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายแก่โจทก์ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ รวม ๑๒ เดือน จึงเกินกว่ากำหนด ๒ ปี
นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๙) แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องได้เฉพาะค่าจ้างค้างจ่ายจากจำเลยที่ ๒ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐
ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ รวม ๔ เดือน เมื่อคำนวณจากอัตราค่าจ้างของโจทก์เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท แล้ว จำเลยที่ ๒ จึงต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ โอนค่าจ้างให้บิดาโจทก์ไปแล้ว ๒๕,๐๐๐ บาท เมื่อหักค่าจ้างส่วนของพี่ชายโจทก์ ๑๖,๐๐๐ บาท ถือว่าจำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างในส่วนของโจทก์เพียง ๙,๐๐๐ บาท ยังคงค้างค่าจ้างโจทก์อีก ๑๑,๐๐๐ บาท และเมื่อไม่ปรากฏว่ากฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนด
ห้ามไม่ให้ใช้ หมวด ๒ มาตรา ๒๘ ถึงมาตรา ๓๐ บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองในเรื่องวันหยุดประจำสัปดาห์
ตามมาตรา ๒๘ วันหยุดตามประเพณีตามมาตรา ๒๙ และวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา ๓๐
ด้วย เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะการจ้างแรงงานเกี่ยวกับงานบ้านโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ย่อมเป็นเรื่องปกติ
ที่นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างเพียงคนเดียวจะไม่มีการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวันลาต่าง ๆ ไว้โดยชัดแจ้งตามที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่มีความจำเป็นใด ๆ เพียงแต่การบอกกล่าวด้วยวาจาก็ย่อมเป็นการเพียงพอแล้ว ประกอบกับลักษณะงานของโจทก์เป็นงานที่ไม่หนักมาก
และไม่จำเป็นต้องทำงานทุกวัน หรือทำติดต่อกันทั้งวันทั้งคืนโดยไม่มีเวลาหยุดพัก ทั้งทางไต่สวน
ยังได้ความเพิ่มเติมว่าโจทก์เคยไปพักผ่อนหรือเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้ากับเพื่อนที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ด้วยกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้รับโอกาสให้หยุดงานได้ตามสิทธิของตนแล้ว ส่วนโจทก์จะใช้สิทธิ
ลาหยุดทุกครั้งหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุผลส่วนตัวของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒
จัดให้โจทก์มีวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ครบถ้วน
ตามกฎหมายแล้ว ถือว่าจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ ๒ จึงไม่จำต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดทั้งสามประเภทให้แก่โจทก์แต่อย่างใด
ที่โจทก์อุทธรณ์สรุปความได้ว่า คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายส่งบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยาน บันทึกถ้อยคำดังกล่าวจะมีน้ำหนักให้เชื่อได้เพียงใดนั้น ศาลแรงงานภาค ๑ จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังโดยคำนึงถึงสภาพ ลักษณะ และแหล่งที่มาของพยานบอกเล่าหรือบันทึกถ้อยคำนั้น
การที่ศาลแรงงานภาค ๑ รับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาการทำงานของโจทก์มานั้น
จึงยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษควรสั่งให้ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ วรรคสอง เพื่อจะได้ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ชัดเจนขึ้นนั้น ศาลแรงงานภาค ๑ รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบว่า เริ่มทำงานประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ นำสืบว่า โจทก์เริ่มทำงานประมาณปลายปี ๒๕๕๙ ถึงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระยะเวลาการทำงานของโจทก์เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ และสิ้นสุดลงนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๑ ปี ๓ เดือน อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๑ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานภาค ๑ รับฟังข้อเท็จจริงไม่เป็นธรรมกับโจทก์ โจทก์เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่มีการจัดทำเอกสารการคำนวณและการจ่ายค่าจ้างไว้
ทั้งไม่มีหลักฐานมาแสดงให้ปรากฏต่อจำเลยที่ ๑ จึงต้องเชื่อตามคำให้การของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๒
ให้โจทก์ทำงานทุกวัน โจทก์ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าสำหรับค่าทำงานในวันหยุดดังกล่าว ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ไม่จำต้องจ่าย
ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์
โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยนั้น ศาลแรงงานภาค ๑ รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ จัดให้โจทก์
มีวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ถือว่าจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๘
มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์ได้รับโอกาสให้หยุดงานได้ตามสิทธิของตนแล้ว ส่วนโจทก์จะใช้สิทธิลาหยุดทุกครั้งหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุผลส่วนตัวของโจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงไม่จำต้องจ่าย
ค่าทำงานในวันหยุดทั้งสามประเภทให้แก่โจทก์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๑ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔
วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง
ตามประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความ
ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ วรรคสอง และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดไม่ให้นำบทบัญญัติ
บางมาตราของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาใช้บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างซึ่งทำงานบ้านดังกล่าวจึงได้รับ
ความคุ้มครองเพียงบางเรื่องแตกต่างจากการจ้างงานทั่วไป โดยกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวกำหนดมิให้ใช้บทบัญญัติในหมวด ๖ คณะกรรมการค่าจ้าง ตั้งแต่มาตรา ๗๘ ถึงมาตรา ๙๑ ดังนั้น ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างอัตราขั้นต่ำ ตามมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดบทยกเว้นกรณีใดไว้จึงต้องใช้บังคับแก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครอง
ตามประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่มาตรา ๙๐ ระบุบังคับไว้ จึงชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องค่าจ้างของโจทก์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าจ้างของโจทก์มีกำหนดอายุความ ๒ ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๙) ประกอบมาตรา ๑๙๓/๑๒ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงยุติตามทางพิจารณา
ของศาลแรงงานภาค ๑ ว่า ระยะเวลาการทำงานของโจทก์เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙
และสิ้นสุดลงนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๑ ปี ๓ เดือน และหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ โจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยที่ ๒ อีก โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ตกลงจ่ายค่าจ้างกัน
ทุกวันสิ้นเดือน โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ขอให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒
จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายแก่โจทก์ ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้าง แต่จำเลยที่ ๒ ผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามกำหนดที่ต้องจ่ายในวันสิ้นเดือน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างได้
โดยอายุความเริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปคือวันที่ ๑ ของเดือนถัดไป โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙
ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ จึงพ้นกำหนดอายุความ ๒ ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทำงานอยู่กับจำเลยที่ ๒ นั้น โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ตลอดเวลา หาใช่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องหลังจากที่โจทก์ออกมาจาก
บ้านจำเลยที่ ๒ แล้ว ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องค่าจ้างของโจทก์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ ขาดอายุความจึงชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การจ่ายค่าจ้างของจำเลยที่ ๒ ให้แก่โจทก์ไม่ชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕๑ นั้น อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้กล่าว
ไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค ๑ ต้องห้าม
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.
(พนารัตน์ คิดจิตต์ – วรศักดิ์ จันทร์คีรี – ฤทธิรงค์ สมอุดร)
ธัชวุทธิ์ พุทธิสมบัติ - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ