คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1762/2565 นายอีเหม โฮซนิ อิบรอฮิม อาเหม็ด โจทก์
โรงเรียนเปรมประชาวัฒนา กับพวก จำเลย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔, ๖
พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔, ๘๖ วรรคหนึ่ง, ๑๖๖
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน
พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๓๒, ๓๓, ๓๕ (๒)
จำเลยที่ ๑ เป็นโรงเรียนในระบบตาม พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔ กิจการ
ในโรงเรียนของจำเลยที่ ๑ และการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นครูจึงอยู่ภายใต้บังคับ
ตาม พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๖ และมาตรา ๑๖๖ ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ การคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยจึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมวด ๔ การเลิกสัญญาการเป็นครูและค่าชดเชย เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง เมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้การคุ้มครองการทำงานเกี่ยวกับค่าชดเชยตามข้อ ๓๕ (๒) ว่า ลูกจ้างที่เป็นครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ซึ่งแตกต่างกับการคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชย
สำหรับลูกจ้างทั่วไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แสดงว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้ประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
อันเป็นการไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง ระเบียบดังกล่าวเกี่ยวกับค่าชดเชยในส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงาน
เป็นครูสอนหนังสือ โดยทำสัญญาจ้างเป็นรายปีการศึกษาและโจทก์ออกจากการเป็นครูเพราะเหตุครบกำหนด
ตามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ ถือเป็นการถูกจำเลยทั้งสองเลิกสัญญาโดยไม่เข้าข้อยกเว้นที่โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในเหตุตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๓๕ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๓๒ และข้อ ๓๓
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 130,500 บาท ค่าชดเชย ๔๓๒,๐๐๐ บาท และค่าเสียโอกาสในการทำงานของโจทก์ 324,000 บาท รวมเป็นเงิน ๘๘๖,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันหรือแทนกันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชย ๔๓๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔)
เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ รับฟังข้อเท็จจริง
โดยสรุปว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเป็นโรงเรียนเอกชน ประเภทโรงเรียนสามัญศึกษา จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งจำเลยที่ ๑ โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ตำแหน่งสุดท้ายของโจทก์เป็นครูต่างชาติ แล้ววินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ นั้น โจทก์และจำเลยที่ ๑
ทำสัญญาฉบับดังกล่าวขึ้นเพื่อใช้ประกอบในการขอใบอนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ โดยโจทก์และจำเลยที่ ๑ ไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาดังกล่าว สัญญาจ้างที่โจทก์และจำเลยที่ ๑ มีเจตนาให้ผูกพันกัน
ตามสัญญา คือ สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.๑๐ ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.๑๔ อันเป็นสัญญาจ้าง
ที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๓ สิ้นสุดวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔
ดังนั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างแล้ว สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุด และได้ความตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถทำข้อตกลงจ้างตามสัญญาจ้างฉบับใหม่ได้
และจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ให้โจทก์ทำงานและไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์อีกเพราะเหตุสัญญาจ้างสิ้นสุด ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ แต่การเลิกจ้างเพราะเหตุสัญญาจ้างสิ้นสุด และไม่สามารถทำข้อตกลงจ้าง
ตามสัญญาจ้างฉบับใหม่ได้ดังกล่าว ถือว่ามีเหตุสมควรเพียงพอที่จำเลยที่ ๑ จะเลิกจ้างโจทก์ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ส่วนค่าจ้างค้างจ่าย โจทก์นำสืบ
กล่าวอ้างลอย ๆ ว่า จำเลยทั้งสองค้างจ่ายเงินเดือนโจทก์ ๓ เดือน โดยมิได้นำสืบให้เห็นข้อเท็จจริงเลยว่าจำเลยทั้งสองค้างจ่ายเงินเดือนโจทก์ในเดือนใดบ้าง เมื่อจำเลยทั้งสองนำสืบโต้แย้งว่าไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้าง
ค้างจ่ายจากจำเลยทั้งสอง สำหรับค่าชดเชย เมื่อจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างหรือบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์
โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำความผิด และมิได้ลาออกโดยสมัครใจ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าชดเชยได้ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๓๒ และข้อ ๓๓ โดยค่าชดเชยคำนวณจากระยะเวลาทำงานของโจทก์และเงินเดือนอัตราสุดท้าย
ของโจทก์ เกี่ยวกับระยะเวลาทำงานของโจทก์นั้น โจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ทำงาน
กับจำเลยที่ ๑ มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบโต้แย้งว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑
ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ ก่อนหน้านั้น โจทก์เป็นลูกจ้างของศูนย์อบรมคอมพิวเตอร์และภาษา BIA แต่กลับปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ เคยออกหนังสือรับรองว่า โจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่วันที่
๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ซึ่งเท่ากับรับรองว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ มาตั้งแต่วันดังกล่าว ข้อเท็จจริง
จึงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ทำงานกับจำเลยที่ ๑ มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗
จนถึงวันที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างหรือบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ โจทก์จึงทำงานติดต่อกันครบ ๖ ปี แต่ไม่ครบ ๑๐ ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ๘ เดือน ของค่าจ้างอัตราสุดท้าย
ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน
พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๓๒ (๔) โจทก์ได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ ๑ เดือนละ ๕๔,๐๐๐ บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยคิดเป็นเงิน ๔๓๒,๐๐๐ บาท ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงาน
ของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๓๒ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยแก่ครู จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ แต่การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ ๑ ความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๗ ประกอบมาตรา ๘๒๐ เมื่อจำเลยที่ ๒ กระทำการไปภายในขอบอำนาจ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อ ๒.๑ ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๑ หรือไม่ เห็นว่า การคุ้มครองแรงงานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่
และครูสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔ และมาตรา ๖ ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๑ กำหนดไว้ว่า
มิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู ดังนั้น การคุ้มครองแรงงานของครู
ของนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนจึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดการคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับครูไว้ในมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง
ซึ่งบัญญัติว่า “กิจการของโรงเรียนในระบบเฉพาะในส่วนของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่า
ด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่ผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”
และวรรคสองบัญญัติว่า “การคุ้มครองการทำงาน การจัดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงาน
และประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในระบบ
ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด” และขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ คณะกรรมการดังกล่าว
ซึ่งหมายถึงคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนยังมิได้ออกระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงกำหนดรับรองไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๑๖๖ ว่า
ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ให้นำกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕
มาใช้บังคับโดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ระเบียบดังกล่าวที่ว่าคือ
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ เป็นโรงเรียนในระบบตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔
ดังนั้น กิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ ๑ และการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นครูจึงอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๖ และมาตรา ๑๖๖ ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒
การคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยจึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่า
ด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมวด ๔ การเลิกสัญญา
การเป็นครูและค่าชดเชย เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง เมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่
และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้การคุ้มครองการทำงานเกี่ยวกับค่าชดเชยตามข้อ ๓๕ (๒) ว่า ลูกจ้างที่เป็นครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุ
ที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ซึ่งแตกต่างกับการคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างทั่วไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แสดงว่า
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้ประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นการไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง ระเบียบดังกล่าวเกี่ยวกับค่าชดเชยในส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์
เข้าทำงานเป็นครูสอนหนังสือ โดยทำสัญญาจ้างเป็นรายปีการศึกษาและโจทก์ออกจากการเป็นครู
เพราะเหตุครบกำหนดตามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ ถือเป็นการถูกจำเลยทั้งสอง
เลิกสัญญาโดยไม่เข้าข้อยกเว้นที่โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในเหตุตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๓๕ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๓๒ และข้อ ๓๓
ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง
ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายมีว่า ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยชอบหรือไม่ เห็นว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่า
ด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมวด ๔ การเลิกสัญญา
การเป็นครูและค่าชดเชย ข้อ ๓๓ วรรคสอง กำหนดเรื่องการนับระยะเวลาเพื่อจ่ายค่าชดเชย ให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้บรรจุเข้าทำการสอนจนถึงวันที่อนุญาตให้โรงเรียนเลิกล้มกิจการ ยุบชั้นเรียน
ลดห้องเรียน หรือหยุดกิจการชั่วคราว หรือวันที่เลิกสัญญาการเป็นครู เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งกัน ว่าจำเลยที่ ๑ อนุมัติให้โจทก์เข้าเริ่มงานวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ วันดังกล่าว
จึงเป็นวันที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้บรรจุเข้าทำการสอน มิใช่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ตามที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัย และเมื่อนับระยะเวลาเพื่อจ่ายค่าชดเชยตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ จนถึงวันที่เลิกสัญญาการเป็นครูคือวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ ๓ ปี แต่ไม่ครบ ๖ ปี จำเลยทั้งสองต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นเงิน ๓๒๔,๐๐๐ บาท
ที่ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย ๔๓๒,๐๐๐ บาท จึงไม่ชอบ อุทธรณ์
ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย ๓๒๔,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้
ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๑.
(ยิ่งศักดิ์ โอฬารสกุล - สิทธิชัย ลีลาโสภิต - สุวรรณา แก้วบุตตา)
มนุเชษฐ์ โรจนศิริบุตร - ย่อ
อิสรา วรรณสวาท - ตรวจ