Print
Category: 2565
Hits: 40

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1308/2565 นายบุญชัย  ริมมณเฑียรชัย             โจทก์

                                                                      บริษัทซิตี้  ลิสซิ่ง จำกัด                จำเลย

 

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา ๔๙

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา ๑๑๘, ๑๑๙

         การวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ส่วนการวินิจฉัยว่าในการเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ เพียงใด เป็นไปตามมาตรา 118
และมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับ ดังนั้น
แม้ในการเลิกจ้าง จำเลยจะจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์มาฟ้องหากเห็นว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ
ประกอบการพิจารณา” โดยไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าอย่างไรเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แสดงให้เห็นว่ากฎหมายให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางในการพิจารณาว่าการเลิกจ้างใด
เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลแรงงานจะพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่
และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลย
เลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าธุรกิจของจำเลยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย รวมถึงได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด 19) ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลดต่ำลง และทำให้ปริมาณงานในหน้าที่ของโจทก์ลดน้อยลงไปด้วย จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์  
แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง และก่อนเลิกจ้างไม่ได้หามาตรการที่เหมาะสมและเป็นธรรมมาแก้ปัญหาก่อน เช่น ลดวัน หรือลดชั่วโมงทำงาน เป็นต้น
และกิจการของจำเลยไม่ได้ขาดทุน เพียงแต่กำไรลดลง ทั้งจำเลยยังจ่ายโบนัสแก่พนักงานทุกปี   และไม่เคยประกาศลดเงินเดือนพนักงาน แสดงว่าจำเลยยังมีสภาพคล่องทางการเงิน การที่จำเลย
เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อันเป็นการที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจ พิจารณาเหตุแห่งการเลิกจ้างทั้งหมดแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 4,500,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลย
ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์

 

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานและส่งมอบให้แก่โจทก์

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 1,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เริ่มทำงานเมื่อวันที่
1 สิงหาคม 2534 ในตำแหน่งพนักงานธุรการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 58,625 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เนื่องจากธุรกิจของจำเลยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย รวมถึงได้รับผลกระทบ
จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด 19) ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลดต่ำลง
และทำให้ปริมาณงานในหน้าที่ของโจทก์ลดน้อยลงไปด้วย จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า
การที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างขาดทุนนั้น ไม่ถือว่าเหตุแห่งการเลิกจ้างเกิดจากตัวลูกจ้างโดยตรง ลูกจ้างไม่ได้มีความผิดใด ๆ ดังนั้น การที่นายจ้างจะคัดเลือกลูกจ้างคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นบุคคลที่ถูกเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกลูกจ้างที่ไม่เลือกปฏิบัติ มีเหตุผล เป็นธรรม
และได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนล่วงหน้าด้วย เช่น ใช้หลักเกณฑ์จากการขาดงาน ลา มาสาย หรือเลิกจ้างลูกจ้างที่มีอายุงานน้อยก่อนเลิกจ้างลูกจ้างที่มีอายุงานมาก เป็นต้น นอกจากนี้ก่อนที่นายจ้างจะใช้สิทธิเลิกจ้าง นายจ้างควรหามาตรการที่เหมาะสมและเป็นธรรมมาแก้ปัญหาก่อน เช่น ลดวัน หรือลดชั่วโมงทำงาน เป็นต้น การปรับโครงสร้างองค์กรของนายจ้างโดยลดจำนวนลูกจ้างลงนั้น ต้องมาจาก
เหตุขาดทุน และต้องถึงขนาดที่หากไม่ลดจำนวนลูกจ้างแล้วกิจการของนายจ้างจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ และการปรับลดจำนวนลูกจ้างนั้นต้องเป็นผลโดยตรงที่ช่วยให้กิจการของนายจ้างอยู่รอดหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สำหรับคดีนี้เมื่อพิจารณางบการเงินของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ขาดทุน เพียงแต่กำไรลดลง ดังนั้น แม้โจทก์จะขาดทุนกำไรอยู่บ้าง ก็ยังไม่เพียงพอที่จะอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์
ทั้งได้ความว่าปัจจุบันจำเลยยังคงจ่ายโบนัสแก่พนักงานทุกปี และไม่เคยประกาศลดเงินเดือนพนักงาน จึงสนับสนุนว่าจำเลยยังมีสภาพคล่องทางการเงินแม้จะได้กำไรน้อยลงก็ตาม การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เมื่อคำนึงถึงอายุของโจทก์ ระยะเวลาการทำงานของโจทก์
ความเดือดร้อนของโจทก์เมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่โจทก์
ได้รับไปแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 1,600,000 บาท

         มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้าง
ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า การวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
ส่วนการวินิจฉัยว่าในการเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ เพียงใด เป็นไปตามมาตรา 118 และมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับ ดังนั้น
แม้ในการเลิกจ้าง จำเลยจะจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์มาฟ้องหากเห็นว่า
การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้าง
ผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้าง
ไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน
โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้าง
เมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา” โดยไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าอย่างไรเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แสดงให้เห็นว่ากฎหมายให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางในการพิจารณาว่าการเลิกจ้างใดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ซึ่งศาลแรงงานจะพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าธุรกิจของจำเลย
ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย รวมถึงได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด 19) ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลดต่ำลง และทำให้ปริมาณงานในหน้าที่ของโจทก์
ลดน้อยลงไปด้วย จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์ แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกลูกจ้าง
ที่จะถูกเลิกจ้าง และก่อนเลิกจ้างไม่ได้หามาตรการที่เหมาะสมและเป็นธรรมมาแก้ปัญหาก่อน
เช่น ลดวัน หรือลดชั่วโมงทำงาน เป็นต้น และกิจการของจำเลยไม่ได้ขาดทุน เพียงแต่กำไรลดลง
ทั้งจำเลยยังจ่ายโบนัสแก่พนักงานทุกปี และไม่เคยประกาศลดเงินเดือนพนักงาน แสดงว่าจำเลย
ยังมีสภาพคล่องทางการเงิน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อันเป็นการ
ที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจ พิจารณาเหตุแห่งการเลิกจ้างทั้งหมดแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

         ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้แก่โจทก์นั้นสูงเกินควร โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยทั่วไปในปัจจุบัน นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง
ที่กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์โดยพิจารณาจากอายุของโจทก์ ระยะเวลา
การทำงานของโจทก์ ความเดือดร้อนของโจทก์เมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชย
ที่โจทก์ได้รับไปแล้วมาประกอบการพิจารณา อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         พิพากษายืน.

(อรรถพงษ์  กุลโชครังสรรค์ - วิไลวรรณ  ชิดเชื้อ - สมเกียรติ  คูวัธนไพศาล)

 

มนุเชษฐ์   โรจนศิริบุตร - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์  - ตรวจ