Print
Category: 2565
Hits: 61

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 660 - 661/2565  นายคมสันต์  เมืองคำ             โจทก์

                                                                            บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

                                                                                  กับพวก                              จำเลย

พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐

         ตามข้อบังคับของจำเลยที่ ๒ การที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของ
เงินสมทบจากจำเลยที่ ๒ หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับ
การทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรงหรือไม่ มิใช่ว่าหากจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้วจะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรง
ทุกกรณี คดีนี้ จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่จำเลยที่ ๑ ออกหนังสือเตือนโจทก์ในเรื่องฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โดยโจทก์ขาดงาน ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร เข้างานสาย
กลับก่อนเวลาเลิกงานโดยไม่มีเหตุอันควร ต่อมาภายในระยะเวลา ๑ ปี โจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน จึงต้องวินิจฉัยว่า การกระทำผิดซ้ำคำเตือนตามที่จำเลยที่ ๑ กล่าวอ้างมาเป็นเรื่องที่ร้ายแรงหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามรายงานการสอบสวนกรณีพนักงานกระทำผิดวินัย และเสนอขออนุมัติการลงโทษทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นในการพิจารณาลงโทษโจทก์
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ ในหมวดที่ ๖ วินัยและการลงโทษ โดยพิจารณา
จากเจตนาในการทำผิดวินัย ความร้ายแรงของการกระทำผิด และกระทำความผิดวินัยซ้ำในเรื่องเดิมแล้ว เห็นสมควรพิจารณาโทษโจทก์โดยการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้โอกาสปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองให้เป็นพนักงานที่ดี ปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบและให้ความร่วมมือกับจำเลยที่ ๑ เชื่อฟังและปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งของจำเลยที่ ๑ และผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แสดงว่าจำเลยที่ ๑ มิได้ถือเอาเรื่องการขาดงาน ละทิ้งหน้าที่ เข้างานสาย กลับก่อนเวลาเลิกงาน หรือการออกจากที่ทำงานโดยไม่ได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อนของโจทก์เป็นการผิดระเบียบ
หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งในเรื่องที่ร้ายแรง ส่วนสรุปรายงานการสอบสวนกรณีพนักงานกระทำผิดวินัย และเสนอขออนุมัติการลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
ของจำเลยที่ ๑ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นในการพิจารณาลงโทษโจทก์
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ ในหมวดที่ ๖ วินัยและการลงโทษ ข้อ ๑
วินัยพนักงาน โดยพิจารณาจากเจตนาในการทำผิดวินัย ความร้ายแรงของการกระทำผิด และกระทำความผิดวินัยซ้ำในเรื่องเดิม แล้วมีความเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เคยตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
โจทก์ยังมีความประพฤติเช่นเดิม ไม่ปรับปรุงตน จึงมีมติพิจารณาโทษเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย
ของนายจ้างและเป็นธรรม ซ้ำคำเตือนภายในระยะเวลา ๑ ปี หาใช่กรณีฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรงไม่ จำเลยที่ ๒ จึงต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่โจทก์

______________________________

         โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๖,๑๒๘,๒๒๐ บาท และเงินโบนัส ๑๐๒,๑๓๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน
แต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๗,๒๔๐ บาท ค่าชดเชย ๘๑๗,๐๙๖ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๗๓,๖๔๒ บาท พร้อมดอกเบี้ย
อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ ๓๙๓,๙๒๓.๔๓ บาท พร้อมดอกเบี้ย
อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยที่ ๑ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ ๒ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ ๓๙๓,๙๒๓.๔๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง หรืออัตราดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง หากมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย
ตามมาตรา ๗ วรรคสอง ในภายหลัง บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ทั้งนี้ไม่ให้เกินกว่าอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑

         โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์

            ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ กับลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งจำเลยที่ ๒ โดยมีโจทก์เป็นสมาชิกอยู่ด้วย เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๑ จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองผู้จัดการสำนักงานคดี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๐๒,๑๓๗ บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๘ ของเดือน ต่อมาวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ จำเลยที่ ๑
มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๓ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และจำเลยที่ ๑ แจ้งการพ้นจากการเป็นสมาชิกจำเลยที่ ๒ โดยระบุ
ตามหนังสือแจ้งลาออกว่า ไล่ออก เนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน
หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรง จำเลยที่ ๒ จึงปฏิเสธ
การจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยที่ ๒ ข้อ ๗.๘
และวินิจฉัยว่า โจทก์กระทำผิดวินัยจนได้รับหนังสือเตือน หลังจากนั้นโจทก์ยังกระทำผิดซ้ำคำเตือนอีก เมื่อจำเลยที่ ๑ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จึงเลิกจ้างโจทก์ได้
โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ การที่โจทก์ขาดงาน ละทิ้งหน้าที่ มาสาย กลับก่อนเวลาทำงานหลายครั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาจนกระทั่งมีหนังสือเตือน
แล้วโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนอีก เป็นการกระทำการที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไป
โดยถูกต้องและสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จำเลยที่ ๑
ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง และผลการประเมินการทำงานของโจทก์ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะมีสิทธิรับเงินโบนัส จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสของปี ๒๕๖๒ แก่โจทก์ การเลิกจ้างโจทก์มิใช่กรณีฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรงดังที่จำเลยที่ ๑ แจ้งไปยังจำเลยที่ ๒ หากแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างด้วยเหตุโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นธรรม ซ้ำคำเตือนภายในระยะเวลา ๑ ปี ซึ่งไม่มีข้อบังคับของจำเลยที่ ๒ ที่ระบุไม่ให้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์
ของเงินสมทบในกรณีดังกล่าว จำเลยที่ ๒ จึงต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่โจทก์

            ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้สิทธิพนักงานตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไปรวมถึงโจทก์ ไม่ต้องลงเวลาเข้าออกในการทำงาน และเครื่องผ่านประตูอัตโนมัติเป็นระบบรักษาความปลอดภัยไม่ใช่เครื่องบันทึกเวลาเข้าออกในการทำงาน การที่จำเลยที่ ๑ นำบันทึกการเข้าออกอาคารของจำเลยที่ ๑ มารับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษโจทก์ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอันเป็นโทษแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอม จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้ นอกจากนั้น
การที่ศาลแรงงานกลางฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยว่า การผ่านประตูเข้าออกที่ทำงาน
มิได้ถือเป็นการบันทึกการทำงานของโจทก์ แต่เป็นหลักฐานแสดงการเข้ามาทำงานและการมาสาย
กลับก่อนเวลาเลิกงาน ขัดต่อคำเบิกความของนางสาววรนุชที่ว่า เครื่องผ่านประตูอัตโนมัติ
เป็นระบบรักษาความปลอดภัย ไม่ใช่เครื่องลงเวลาเข้าออกการทำงาน ที่จะใช้เป็นพยานหลักฐาน
ยืนยันว่าโจทก์หรือพนักงานของจำเลยที่ ๑ เข้าทำงานสายหรือกลับก่อนเวลาเลิกงาน เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวน เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์
ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่โจทก์กล่าวอ้าง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ หมวดที่ ๖ ข้อ ๕.๓ ที่กำหนดให้ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างน้อย ๓ คน ประกอบด้วยตัวแทนจากแผนกต้นสังกัด ตัวแทนจากสำนักทรัพยากรบุคคล และตัวแทน
จากหน่วยงานอื่นอีก ๑ คน แต่การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโจทก์ไม่มีการตั้งตัวแทน
จากหน่วยงานอื่น การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจึงไม่ชอบ การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยมีการสอบสวนที่ไม่ชอบ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑
เลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เงินโบนัส และให้จำเลยที่ ๒ จ่ายเงินสมทบ
และผลประโยชน์ของเงินสมทบ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
ชอบหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางขึ้นอ้าง เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชอบหรือไม่ และการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

            สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ จำเลยที่ ๑ มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๓ ซึ่งขัดกับคำเบิกความของโจทก์และนายเอนกที่ว่า จำเลยที่ ๑ มีหนังสือเลิกจ้างแจ้งให้โจทก์ทราบในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๓ โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันดังกล่าว จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวน
เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับ
การวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสมทบ
และผลประโยชน์ของเงินสมทบตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลยที่ ๒ การที่โจทก์
จะมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากจำเลยที่ ๒ หรือไม่ ต้องพิจารณาว่า
โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง
และเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรงหรือไม่ มิใช่ว่าหากจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้วจะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรงทุกกรณี คดีนี้ จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่จำเลยที่ ๑
ออกหนังสือเตือนโจทก์ในเรื่องฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โดยโจทก์ขาดงาน ละทิ้งหน้าที่
โดยไม่มีเหตุอันควร เข้างานสาย กลับก่อนเวลาเลิกงานโดยไม่มีเหตุอันควร ต่อมาภายในระยะเวลา ๑ ปี โจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน จึงต้องวินิจฉัยว่า การกระทำผิดซ้ำคำเตือนตามที่จำเลยที่ ๑ กล่าวอ้างมา
เป็นเรื่องที่ร้ายแรงหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามรายงานการสอบสวนกรณีพนักงานกระทำผิดวินัย และเสนอขออนุมัติการลงโทษทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นในการพิจารณาลงโทษโจทก์ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ ในหมวดที่ ๖ วินัยและการลงโทษ
โดยพิจารณาจากเจตนาในการทำผิดวินัย ความร้ายแรงของการกระทำผิด และกระทำความผิดวินัยซ้ำ
ในเรื่องเดิมแล้ว เห็นสมควรพิจารณาโทษโจทก์โดยการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้โอกาสปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองให้เป็นพนักงานที่ดี ปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบและให้ความร่วมมือกับจำเลยที่ ๑ เชื่อฟังและปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งของจำเลยที่ ๑ และผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แสดงว่าจำเลยที่ ๑ มิได้ถือเอาเรื่องการขาดงาน ละทิ้งหน้าที่ เข้างานสาย กลับก่อนเวลาเลิกงาน หรือการออกจาก
ที่ทำงานโดยไม่ได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อนของโจทก์เป็นการผิดระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงานหรือคำสั่งในเรื่องที่ร้ายแรง ส่วนสรุปรายงานการสอบสวนกรณีพนักงานกระทำผิดวินัย
และเสนอขออนุมัติการลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นในการพิจารณาลงโทษโจทก์ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ ในหมวดที่ ๖ วินัยและการลงโทษ ข้อ ๑ วินัยพนักงาน โดยพิจารณาจากเจตนาในการทำผิดวินัย
ความร้ายแรงของการกระทำผิด และกระทำความผิดวินัยซ้ำในเรื่องเดิม แล้วมีความเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เคยตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว โจทก์ยังมีความประพฤติเช่นเดิม ไม่ปรับปรุงตน จึงมีมติพิจารณาโทษเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน
หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นธรรม ซ้ำคำเตือนภายในระยะเวลา ๑ ปี
หาใช่กรณีฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นธรรมในเรื่องที่ร้ายแรงไม่ จำเลยที่ ๒ จึงต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ
ให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย
อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น

         ส่วนที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ขาดงาน ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร เข้างานสาย กลับก่อนเวลาเลิกงานโดยไม่มีเหตุอันควรเป็นอาจิณ เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหาย
อย่างร้ายแรง ทำนองว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจนเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับ
ความเสียหายอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์
ของเงินสมทบตามข้อบังคับของจำเลยที่ ๒ หมวด ๗ ข้อ ๗.๘ นั้น จำเลยที่ ๒ เพิ่งยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         อนึ่ง เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ โดยมาตรา ๓ และมาตรา ๔
แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ และมาตรา ๒๒๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
เป็นอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็น
พระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับแต่วันดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง
จึงไม่ถูกต้อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์ในประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย
และกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗

         พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยในต้นเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ
ให้จำเลยที่ ๒ จ่ายอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๔ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔
ให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามที่โจทก์
มีคำขอท้ายคำฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

(วิไลวรรณ  ชิดเชื้อ – สมเกียรติ  คูวัธนไพศาล – ดณยา  วีรฤทธิ์)

ธัชวุทธิ์  พุทธิสมบัติ - ย่อ

อิสรา วรรณสวาท - ตรวจ