Print
Category: 2565
Hits: 747

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2272 - 2281/2565 นางสาวกัญชริญา  ปิตานุสรณ์

         (ประชุมใหญ่)                                                       กับพวก                        โจทก์

                                                                                   บริษัท โอโย เทคโนโลยี แอนด์

                                                                                   ฮอสพิทอลลิตี้ (ประเทศไทย)

                                                                                  จำกัด                         จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา ๘, ๕๘๒

ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕)

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙, ๕๗

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง, ๑๗ วรรคสอง, ๑๗/๑, ๕๕, ๗๐ วรรคหนึ่ง (๑),
          ๗๕ วรรคหนึ่ง, ๗๕ วรรคสอง, ๑๒๓, ๑๒๔, ๑๒๕ วรรคหนึ่ง

         พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่ง
ไม่น้อยกว่าสามวันทำการ” นั้น เป็นมาตรการควบคุมว่าก่อนจะหยุดกิจการชั่วคราว นอกจากจะให้นายจ้างต้องแจ้งลูกจ้างให้รู้ตัวล่วงหน้าเพื่อให้ลูกจ้างมีเวลาเตรียมตัววางแผนแก้ไขไม่ให้ได้รับความเสียหายในช่วงหยุดทำงานชั่วคราวแล้ว ยังเป็นการให้พนักงานตรวจแรงงานทราบเพื่อใช้อำนาจ
ที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ คอยตรวจสอบและควบคุมนายจ้างให้ปฏิบัติ
ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติว่าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคสองแล้ว จะไม่อาจใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ได้แต่อย่างใด คำสั่งหยุดกิจการชั่วคราวของจำเลยมีผลใช้ได้

         ธุรกิจของจำเลยเป็นการให้บริการจองห้องพักระบบออนไลน์ เหตุที่จำเลยต้องหยุดกิจการชั่วคราวนั้น ไม่ใช่เพราะถูกคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีหรือหน่วยราชการอื่น
ให้ปิด แต่เป็นเพราะจำเลยต้องการปรับลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยเหตุที่รายได้ลดลง เมื่อจำเลย
ยังสามารถประกอบกิจการได้ แม้การประกอบกิจการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวจะมีผลทำให้จำเลยประสบภาวะรายได้ลดลงหรือขาดทุนก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย
การหยุดกิจการชั่วคราวของจำเลยจึงมิใช่เหตุสุดวิสัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75

          ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ ได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราว
ด้วยเหตุสุดวิสัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ และตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๖๓ ไม่ใช่การเลิกจ้าง โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙
และที่ ๑๐ ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งตามมาตรา ๑๒๕ วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐
ฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินกรณีหยุดกิจการชั่วคราวระหว่างวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓
เป็นคดีนี้ เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิอย่างเดียวกันกับที่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน
และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในเงินดังกล่าวแล้ว คำฟ้องโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙
และที่ ๑๐ มิใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเงินส่วนนี้อีก

          ในระหว่างที่จำเลยใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสิบกับจำเลยในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานไม่ได้สิ้นสุดลงหรือยุติลงชั่วคราว เพียงแต่จำเลยอาจใช้สิทธิไม่จ่ายค่าจ้างหรือจ่ายเงิน
ในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวให้แก่ลูกจ้างได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้มีโอกาสปรับตัวแก้ไขสถานการณ์เพื่อไม่ต้องปิดกิจการหรือเลิกกิจการไป แต่การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบ เป็นกรณีที่จำเลยประสงค์จะยุติสัญญาจ้างกับโจทก์ทั้งสิบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ในกรณีเลิกจ้างนับแต่นั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกันกับการใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราว เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ ก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างประจำวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ และจะให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาทันที โดยไม่ใช่ความผิด
ของโจทก์ทั้งสิบ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิบเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ทั้งสิบ
ควรจะได้รับนับแต่วันที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสิบออกจากงานจนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างประจำวันที่
๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๒
วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง และต้องจ่ายในวันที่ให้
โจทก์ทั้งสิบออกจากงาน ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗/๑ เมื่อจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสิบเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างเฉพาะเดือนกันยายน ๒๕๖๓
ไม่จ่ายในส่วนเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ ที่ยังเหลือ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จ่ายไป
จึงยังไม่ครบถ้วน

         พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า ในกรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา ๑๗/๑ ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปี คำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๒ ที่ให้จำเลยชำระดอกเบี้ย
ของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จึงไม่ชอบ เห็นควรกำหนดให้เป็นร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗

          การพิจารณาว่าการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่ง
การเลิกจ้างว่ามีอยู่จริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริง
ได้ความว่าจำเลยมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้พิจารณาเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบทันที เพิ่งเลิกจ้างเมื่อใกล้ครบกำหนดหยุดกิจการชั่วคราวแล้ว ซึ่งขณะนั้นรายได้ของจำเลยก็ยังคงลดลงและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ยังไม่ยุติ หลังจากนั้นจำเลยได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจไปบริหารจัดการโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เช่นนี้แสดงให้เห็นได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน กระทบต่อธุรกิจของจำเลยอย่างมาก การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ จึงเป็นวิธีปรับตัวเพื่อให้กิจการอยู่รอดต่อไปได้ในภาวะวิกฤตที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง ถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

______________________________

 

         โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๓
ถึงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ แก่โจทก์ที่ ๑ ค่าจ้างระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่
๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนที่ขาดอยู่ ๒ วัน และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสิบ พร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายคำฟ้อง
ของโจทก์แต่ละคน

         จำเลยทั้งสิบสำนวนให้การด้วยวาจา ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานภาค ๒ พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มเติม ๒,๖๖๖.๖๖ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๓,๓๕๗.๐๖ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๔,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๓ จำนวน ๒,๖๖๖.๖๖ บาท แก่โจทก์ที่ ๔ จำนวน ๒,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๕ จำนวน ๑,๖๖๖.๖๖ บาท
แก่โจทก์ที่ ๖ จำนวน ๔,๓๓๓.๓๔ บาท แก่โจทก์ที่ ๗ จำนวน ๒,๕๓๓.๓๓ บาท แก่โจทก์ที่ ๘ จำนวน ๔,๓๖๔.๒๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๙ และจำนวน ๑,๕๓๓.๓๓ บาท แก่โจทก์ที่ ๑๐ และจ่ายค่าเสียหาย
จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๔๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๕๐,๓๕๖ บาท แก่โจทก์ที่ ๒
จำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๓ จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๔ จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท
แก่โจทก์ที่ ๕ จำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๖ จำนวน ๖๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๗ จำนวน
๓๘,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๘ จำนวน ๖๕,๔๖๓ บาท แก่โจทก์ที่ ๙ และจำนวน ๒๓,๐๐๐ บาท
แก่โจทก์ที่ ๑๐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว นับถัดจาก
วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๔ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปีนับแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ ให้ปรับเปลี่ยนตามพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ ๗.๕ ต่อปีตามที่โจทก์ทั้งสิบมีคำขอท้ายคำฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

         โจทก์ทั้งสิบและจำเลยทั้งสิบสำนวนอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๒ รับฟังข้อเท็จจริง
และปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันเป็นยุติว่า จำเลยประกอบกิจการบริการจองห้องพักโรงแรมระบบออนไลน์และบริหารจัดการโรงแรม โจทก์ทั้งสิบเป็นลูกจ้างจำเลย โดยโจทก์ที่ ๑ เข้าทำงานวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ที่ ๒ เข้าทำงานวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ตำแหน่ง Transformation Manager ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๐,๓๕๖ บาท โจทก์ที่ ๓ เข้าทำงานวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ ตำแหน่งผู้จัดการ
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๐,๐๐๐ บาท (ที่ถูก ๖๐,๐๐๐ บาท) โจทก์ที่ ๔
เข้าทำงานวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๕ เข้าทำงานวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๖ เข้าทำงานวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๗ เข้าทำงานวันที่
๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ
๖๕,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๘ เข้าทำงานวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๘,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๙ เข้าทำงานวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ตำแหน่ง Transformation Manager ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๖๕,๔๖๓ บาท และโจทก์ที่ ๑๐ เข้าทำงานวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๓,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์ทั้งสิบปฏิบัติงานอยู่ที่สาขาจังหวัดชลบุรี วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๓ จำเลยชี้แจงลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบผ่านระบบ Video Call ว่า จำเลยได้รับผลกระทบจาก
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จะหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ และจำเลยแจ้งการหยุดกิจการดังกล่าวต่อสำนักงานสวัสดิการ
และคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑ ด้วยวาจาแล้ว วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ วันที่ ๑, ๔, ๙ และ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีว่า ถูกจำเลยเลิกจ้างและจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๖๓ ค่าชดเชยและสินจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ดังกล่าวแตกต่างกันตามคำร้องของโจทก์แต่ละคน พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า กรณีเป็นการที่จำเลยหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย
โดยแจ้งต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑ และดำเนินการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบแล้ว ต่อมาวันที่
๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบโดยอ้างเหตุว่า การแพร่ระบาดของโรคติด
เชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ทำให้ธุรกิจของจำเลยที่อยู่ในภาคส่วนการท่องเที่ยวและที่พักได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เอกสารแสดงฐานะการเงินของจำเลยปี ๒๕๖๓ แสดงว่าระหว่างเดือนเมษายน
ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ รายได้ของจำเลยลดลงโดยตลอด จำเลยต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ
จากเดิมไปบริหารจัดการโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จำเลยยังมีลูกค้าใช้บริการอย่างต่อเนื่องจนขยายกิจการไปทั่วประเทศ ช่วงเดือนสิงหาคม
ถึงเดือนกันยายน ๒๕๖๓ จำเลยได้ทำสัญญาร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับโรงแรมหลายแห่งซึ่งตั้งอยู่ในหลายจังหวัดและเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ แล้ววินิจฉัยว่า พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย
โดยแจ้งต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑ และดำเนินการ
ขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบแล้ว
กรณีของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยนายจ้างใช้สิทธิ
หยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓
ตามมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และตามกฎกระทรวงแรงงาน
ซึ่งมีการแจ้งแก่โจทก์ทั้งสิบซึ่งเป็นลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานโดยชอบแล้ว การหยุดกิจการชั่วคราวของจำเลยจึงไม่เป็นโมฆียะ มีผลบังคับใช้ได้ โจทก์ทั้งสิบไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน ส่วนเอกสารแสดงฐานะการเงินของจำเลย
ปี ๒๕๖๓ แสดงแต่เพียงว่าจำเลยมีรายได้ลดลงเท่านั้น มิได้แสดงว่าจำเลยขาดทุนจนถึงกับต้องปิดกิจการหรือเลิกร้างหรือทิ้งร้างกิจการไปเพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจเพื่อขยายกิจการของจำเลยให้ได้
ฐานลูกค้ามากขึ้น โดยไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าโจทก์ทั้งสิบทำงานไม่มีคุณภาพ ทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน ไร้ความสามารถ หรือทำความผิดอื่นใด เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบโดยโจทก์ทั้งสิบไม่ได้กระทำความผิดและไม่มีเหตุสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสิบไม่ครบถ้วน จึงต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนที่ขาดอยู่ให้แก่โจทก์ทั้งสิบตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน
โดยโจทก์ทั้งสิบมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินทั้งสองจำนวน

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบประการแรกว่า การสั่งหยุดกิจการชั่วคราวของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
มาตรา ๗๕ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ” นั้น เป็นมาตรการควบคุมว่าก่อนจะหยุดกิจการชั่วคราว นอกจากจะให้นายจ้างต้องแจ้งลูกจ้างให้รู้ตัวล่วงหน้าเพื่อให้ลูกจ้าง
มีเวลาเตรียมตัววางแผนแก้ไขไม่ให้ได้รับความเสียหายในช่วงหยุดทำงานชั่วคราวแล้ว ยังเป็นการให้พนักงานตรวจแรงงานทราบเพื่อใช้อำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
คอยตรวจสอบและควบคุมนายจ้างให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติว่าหากนายจ้าง
ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคสองแล้ว จะไม่อาจใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ได้แต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานภาค ๒ วินิจฉัยว่า คำสั่ง
หยุดกิจการชั่วคราวของจำเลยมีผลใช้ได้นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์
ของโจทก์ทั้งสิบข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบประการต่อไปว่า โจทก์ทั้งสิบมีสิทธิได้รับเงิน
จากจำเลยในระหว่างจำเลยหยุดกิจการชั่วคราวหรือไม่ เพียงใด ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ทั้งสิบฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่หยุดกิจการชั่วคราว
ให้แก่โจทก์ทั้งสิบ อ้างเหตุว่าการแจ้งการหยุดกิจการชั่วคราวไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคสอง จำเลยให้การว่าจำเลยแจ้งการหยุดกิจการชั่วคราว
ถูกต้องแล้ว แต่จำเลยหยุดกิจการเนื่องจากเหตุสุดวิสัย จึงไม่ต้องจ่ายเงินกรณีหยุดกิจการชั่วคราว
ให้แก่โจทก์ทั้งสิบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง
การวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบดังกล่าวจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา ๗๕
แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ทั้งหมด ปัญหาว่าจำเลยหยุดกิจการเนื่องจาก
เหตุสุดวิสัยหรือไม่ จึงถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค ๒ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับวินิจฉัยให้ได้ สำหรับปัญหาว่า “เหตุสุดวิสัย” ที่นายจ้างต้องหยุดกิจการทั้งหมด
หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวอันมีผลทำให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง นั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ไม่ได้กำหนดคำนิยามคำว่า “เหตุสุดวิสัย” ไว้ จึงต้องตีความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘ ที่บัญญัติว่า
คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร
อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ศาลแรงงานภาค ๒ ฟังข้อเท็จจริงว่า
จำเลยประกอบกิจการบริการจองห้องพักโรงแรมระบบออนไลน์และบริหารจัดการโรงแรม รายได้
ของจำเลยลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๓ แต่จำเลยไม่ใช่สถานประกอบการโรงแรม
หรือสถานที่ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีหรือหน่วยงานราชการอื่นมีคำสั่งให้ปิดและยังมีลูกค้าใช้บริการอยู่ตลอด ดังนี้ เมื่อธุรกิจของจำเลยเป็นการให้บริการจองห้องพักระบบออนไลน์
เหตุที่จำเลยต้องหยุดกิจการชั่วคราวนั้น ไม่ใช่เพราะถูกคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี
หรือหน่วยราชการอื่นให้ปิด แต่เป็นเพราะจำเลยต้องการปรับลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยเหตุที่รายได้ลดลง เมื่อจำเลยยังสามารถประกอบกิจการได้ แม้การประกอบกิจการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะมีผลทำให้จำเลยประสบภาวะรายได้ลดลงหรือขาดทุนก็ตาม
ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การหยุดกิจการชั่วคราวของจำเลยจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยยังมีหน้าที่
ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิบไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของค่าจ้างในวันทำงานที่โจทก์ทั้งสิบได้รับก่อนจำเลยหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่จำเลยไม่ได้ให้โจทก์ทั้งสิบทำงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ที่ศาลแรงงานภาค ๒ วินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ลูกจ้างประสงค์เรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินอย่างหนึ่งอย่างใด
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิฟ้องนายจ้างเป็นคดี
ต่อศาลแรงงานหรืออาจใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ ก็ได้ เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งตามมาตรา ๑๒๔ หากลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ตามมาตรา ๑๒๕
วรรคหนึ่ง บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือใช้สิทธิ
ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว จะใช้สิทธิทั้งสองทางหาได้ไม่
เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค ๒ รับฟังมาและคู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ที่ ๑
ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ ได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า จำเลยเลิกจ้าง
โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ โดยค้างจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีที่ ๓๙๐/๒๕๖๓ เรื่อง ค่าจ้าง ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓ วินิจฉัยว่า กรณีของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ เป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยตามพระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ และตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทน
ในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๖๓ ไม่ใช่การเลิกจ้าง โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง หากโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ ไม่พอใจ โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙
และที่ ๑๐ ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่
วันทราบคำสั่ง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ที่ ๑
ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ ฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินกรณีหยุดกิจการชั่วคราวระหว่างวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เป็นคดีนี้เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิอย่างเดียวกันกับที่ได้ยื่นคำร้อง
ต่อพนักงานตรวจแรงงานและพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในเงินดังกล่าวแล้ว คำฟ้องโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒
ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ มิใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเงินส่วนนี้อีก ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
ของประชาชน ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ให้แก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๒๑,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑๑๐,๗๘๓.๒0 บาท โจทก์ที่ ๓
จำนวน ๑๗๗,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๔ จำนวน ๘๘,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๕ จำนวน ๖๖,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๖ จำนวน ๕๕,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๗ จำนวน ๑๔๓,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๘ จำนวน ๑๑๒,๑๐๐ บาท
โจทก์ที่ ๙ จำนวน ๑๔๔,๐๑๘.๖๐ บาท และโจทก์ที่ ๑๐ จำนวน ๕๐,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

            ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ ให้แก่โจทก์ทั้งสิบเพิ่มเติมหรือไม่ เห็นว่า ในระหว่างที่จำเลยใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสิบกับจำเลยในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานไม่ได้สิ้นสุดลงหรือยุติ
ลงชั่วคราว เพียงแต่จำเลยอาจใช้สิทธิไม่จ่ายค่าจ้างหรือจ่ายเงินในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวให้แก่ลูกจ้างได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้มีโอกาสปรับตัวแก้ไขสถานการณ์เพื่อไม่ต้องปิดกิจการ
หรือเลิกกิจการไป แต่การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบ เป็นกรณีที่จำเลยประสงค์จะยุติสัญญาจ้าง
กับโจทก์ทั้งสิบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ในกรณีเลิกจ้างนับแต่นั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกันกับการใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราว เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบในวันที่
๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ ก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างประจำวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ และจะให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาทันที โดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์ทั้งสิบ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิบเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ทั้งสิบควรจะได้รับนับแต่วันที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสิบออกจากงานจนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างประจำวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง และต้องจ่ายในวันที่ให้โจทก์ทั้งสิบออกจากงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗/๑ เมื่อจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสิบเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างเฉพาะเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ไม่จ่ายในส่วนเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ ที่ยังเหลือ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จ่ายไปจึงยังไม่ครบถ้วน ที่ศาลแรงงานภาค ๒ พิพากษาให้จำเลย
จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสิบเพิ่มเติมตามคำขอของโจทก์ทั้งสิบนั้น
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่พระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า ในกรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง
โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา ๑๗/๑ ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปี คำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๒ ที่ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของสินจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จึงไม่ชอบ เห็นควรกำหนดให้เป็นร้อยละ ๑๕ ต่อปี
ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควร
ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบ
เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีอยู่จริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้าง
จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้พิจารณา
เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบทันที เพิ่งเลิกจ้างเมื่อใกล้ครบกำหนดหยุดกิจการชั่วคราวแล้ว ซึ่งขณะนั้นรายได้
ของจำเลยก็ยังคงลดลงและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ยังไม่ยุติ หลังจากนั้นจำเลยได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจไปบริหารจัดการโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เช่นนี้แสดงให้เห็นได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน กระทบต่อธุรกิจของจำเลยอย่างมาก
การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ จึงเป็นวิธีปรับตัวเพื่อให้กิจการอยู่รอดต่อไป
ได้ในภาวะวิกฤตที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง ถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอ
ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานภาค ๒ วินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเป็นการเลิกจ้าง
ไม่เป็นธรรมนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

         พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๒๑,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒
จำนวน ๑๑๐,๗๘๓.๒0 บาท โจทก์ที่ ๓ จำนวน ๑๗๗,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๔ จำนวน ๘๘,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๕ จำนวน ๖๖,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๖ จำนวน ๕๕,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๗ จำนวน ๑๔๓,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๘ จำนวน ๑๑๒,๑๐๐ บาท โจทก์ที่ ๙ จำนวน ๑๔๔,๐๑๘.๖๐ บาท และโจทก์ที่ ๑๐ จำนวน ๕๐,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่
๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน และชำระดอกเบี้ย
อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย
จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสิบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๒.

(วิโรจน์  ตุลาพันธุ์ – ปณิธาน  วิสุทธากร – ไพรัช โปร่งแสง)

ภัทรวรรณ  ทรงกำพล - ย่อ

เกริกเกียรติ พุทธสถิตย์- ตรวจ