คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 7046/2562 นางสาวเกล้าหทัย หาสุณหะ โจทก์
บริษัทฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
กับพวก จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา ๕8๒
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕, ๑๗, 45, ๕๔
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕, ๕๔
ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์คําร้องลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ ของโจทก์แล้ว มีคําสั่งว่า
จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่นําสืบมาทั้งสองฝ่ายมีความเพียงพอและได้ความในข้อเท็จจริงแห่งคดีแล้ว จึงไม่สมควรให้เรียกมา ให้ยกคําร้อง ซึ่งตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์
แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอํานาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร” การที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริง
และพยานหลักฐานที่นําสืบมาทั้งสองฝ่ายมีความเพียงพอและได้ความในข้อเท็จจริงแห่งคดีแล้ว
ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงคดีนี้แล้ว
ไม่มีเหตุที่จะเรียกพยานมาสืบเพิ่มเติมอีก ที่โจทก์อุทธรณ์ทั้ง ๒ ประการดังกล่าวและขอให้
ย้อนสํานวนไปให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง
การจ่ายค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้ครบเต็มทั้งเดือนดังที่โจทก์อุทธรณ์นั้น เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทํางานตามสัญญาจ้างสําหรับระยะเวลาการทํางานปกติเป็นรายเดือนตามนิยามในมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่กรณีที่นายจ้างประสงค์จะเลิกจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบก่อนตามระยะเวลา
ที่ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง และ ป.พ.พ. มาตรา ๕8๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ กล่าวคือ บอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่ถ้านายจ้างไม่ประสงค์จะรอให้การบอกเลิกสัญญาจ้างมีผลตามระยะเวลาดังกล่าว นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจํานวน
ที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีก็ได้
ตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม และ ป.พ.พ. มาตรา ๕8๒ วรรคสอง ซึ่งการจ่ายค่าจ้างในกรณีหลังนี้ ไม่ใช่การจ่ายเพื่อตอบแทนการทํางานปกติเป็นรายเดือนตามนิยามในมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่จ่ายเพื่อให้ลูกจ้างออกจากงานทันที จํานวนค่าจ้างที่ต้องจ่ายจึงไม่ใช่จ่ายให้เหมือนกรณีทํางานปกติ โดยจํานวนค่าจ้างที่จ่าย
ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม และ ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๒ วรรคสอง กล่าวคือ จ่ายให้ตามจํานวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนด
ที่บอกกล่าว กรณีของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จําเลยที่ ๑ บอกเลิกจ้างโจทก์วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ อันเป็นการให้โจทก์ออกจากงานทันที ไม่ได้กําหนดวันเลิกสัญญาจ้างให้มีผลเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าหรือนานกว่านั้น การบอกเลิกจ้างในวันดังกล่าวตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง
และ ป.พ.พ. มาตรา ๕8๒ วรรคหนึ่ง จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ จําเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ควรได้รับสําหรับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖1 ถึงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เป็นเวลา ๔๔ วัน ศาลแรงงานกลางคํานวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถูกต้อง เมื่อเงินส่วนนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์ได้รับไปครบถ้วนแล้ว จําเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก
ตามสัญญาจ้างงานระบุค่าจ้างที่โจทก์จะได้รับไว้ชัดเจนว่าอัตราเดือนละ ๒๕๐,000 บาท กับระบุเรื่องเงินค่ารถประจําตําแหน่งไว้ต่างหากในเอกสารหมาย ล.๕ ว่า เงินช่วยเหลือค่ารถประจําตําแหน่งถือเป็นสวัสดิการ มิใช่ค่าจ้างเพื่อตอบแทนในการทํางาน บริษัทฯ จ่ายเพื่อเป็นการช่วยเหลือค่ารถในการเดินทาง ค่าสึกหรอ แทนการจัดหารถประจําตําแหน่งในกรณีที่มิได้จัดหารถมาใช้ บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิในการจ่ายเงินดังกล่าว จึงเห็นเจตนาของจําเลยที่ ๑ ตั้งแต่แรกว่า ประสงค์จะจ้างโจทก์ในอัตราเดือนละ ๒๕๐,000 บาท กับช่วยเหลือค่ารถประจําตําแหน่งเดือนละ ๓๕,000 บาท แทนการจัดหารถประจําตําแหน่งในกรณีที่มิได้จัดหารถมาใช้ กับทั้งขอสงวนสิทธิในการจ่ายเงินดังกล่าวอันเป็นการแสดงเจตนาของจําเลยที่ ๑ ว่า หากจําเลยที่ ๑ จัดหารถประจําตําแหน่งมาให้โจทก์ใช้ก็จะไม่จ่ายเงินช่วยเหลือค่ารถประจําตําแหน่งให้อีก แม้เงินค่ารถประจําตําแหน่งจําเลยที่ ๑ จะจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจําและมีจํานวนแน่นอนทุกเดือนพร้อมค่าจ้าง ก็เป็นเพียงวิธีการจ่ายเงินและเพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ มิได้แสดงว่าจําเลยที่ ๑ จะเปลี่ยนเจตนาให้สวัสดิการนั้นกลายเป็นค่าจ้าง เงินค่ารถประจําตําแหน่งที่จําเลยที่ ๑ จ่ายให้แก่โจทก์จึงไม่ใช่ค่าจ้าง
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๐๐,๗๘๒.๕๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๙๘,๘๓๓ บาท ค่าล่วงเวลา ๓๑๓,๓๔๘.๒๐ บาท ค่าทำงานในวันหยุด ๓,๗๐๖.๙๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี
ของต้นเงินค่าล่วงเวลา ๒๙๖,๕๒๖.๖๗ บาท และของต้นเงินค่าทำงานในวันหยุด ๓,๔๒๖.๒๓ บาท (ที่ถูก ๓,๔๖๒.๒๓ บาท) นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินเพิ่มสำหรับค่าล่วงเวลา
และค่าทำงานในวันหยุด ๘๘๙,๙๗๙.๑๔ บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑๕ ของต้นเงินค่าล่วงเวลา
และค่าทำงานในวันหยุดรวม ๒๙๙,๙๘๘.๙๒ บาท ต่อทุกระยะเวลา ๗ วัน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๓,๐๙๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและประทับตราสำคัญทำการแทนจำเลยที่ ๑ โจทก์ได้รับค่าจ้างทุกวันที่ ๒๕ ของทุกเดือน สัญญาการจ้างงานข้อ ๓ มีข้อความระบุไว้ว่า พนักงานจะได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท และตามข้อตกลงในการจ่ายเงินช่วยเหลือค่ารถประจำตำแหน่ง
มีข้อความระบุถึงเงินดังกล่าวว่า เงินช่วยเหลือค่ารถประจำตำแหน่งถือเป็นสวัสดิการ มิใช่ค่าจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงาน บริษัทฯ จ่ายเพื่อเป็นการช่วยเหลือค่ารถในการเดินทาง ค่าสึกหรอ แทนการจัดหา
รถประจำตำแหน่งในกรณีที่มิได้จัดหารถมาใช้ บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิในการจ่ายเงินดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทจัดหางานโดยคิดค่าธรรมเนียมบริการจากรายได้ที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ ๑ จำนวน ๒๘๕,๐๐๐ บาท คูณ ๑๓ เดือน และคูณอีกร้อยละ ๒๕ โจทก์เป็นพนักงานทดลองงานตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๑ เป็นระยะเวลา ๙๐ วัน หรืออาจมีการขยายต่อไปอีกถ้าผลการปฏิบัติงานไม่เป็น
ที่พอใจ แต่ไม่เกิน ๑๒๐ วัน จำเลยทั้งสองพิจารณาการทำงานของโจทก์ที่ผ่านมาแล้วเห็นว่าไม่ผ่านทดลองงานด้วยเหตุตามหนังสือเลิกจ้าง รวมทั้งรายละเอียดตามหนังสือการประเมินผลทดลองปฏิบัติงานของโจทก์ ซึ่งมีรายละเอียดระบุถึงงานที่ปฏิบัติหรือได้รับมอบหมาย ความเห็นของผู้ประเมินซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาว่า ความสามารถโดยสรุปไม่เป็นที่พอใจและไม่ผ่านทดลองงานโดยได้แจ้งเลิกจ้างเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ เป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ อันเป็นกำหนดวันจ่ายค่าจ้าง โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงินซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
และคู่มือบริหารนโยบายบุคคลและระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจทำการแทนนายจ้าง
ในเรื่องการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง โจทก์มีอำนาจกระทำการดังกล่าวได้ด้วยตนเอง
และมีอำนาจตัดสินใจด้วยตนเอง รายงานสรุปสถานการณ์ทำงานของพนักงานไม่สามารถยืนยันได้ว่า
เป็นการทำงานล่วงเวลาของโจทก์ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่ขออนุมัติทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดและได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจของจำเลยที่ ๑ แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมีฐานะ
เป็นนายจ้างโจทก์ เงินค่ารถประจำตำแหน่งเป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการ มิใช่เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างงาน แม้จะจ่ายเงินดังกล่าวเป็นจำนวนแน่นอนเท่า ๆ กัน ทุกเดือน ก็มิใช่ค่าจ้าง ส่วนที่จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินตอบแทนแก่บริษัทจัดหางานนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินตอบแทนแก่บริษัทจัดหางานเท่านั้น รับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท การเลิกจ้างโจทก์มีเหตุอันสมควรเพียงพอแก่การเลิกจ้าง มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างตามจำนวนที่จะต้องจ่ายนับแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ จนถึงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑
อันเป็นวันเลิกสัญญาจ้าง จำนวน ๔๔ วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสองและวรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ โจทก์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยทั้งสองครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่โจทก์อ้างว่ายังขาดอยู่อีก โจทก์มีอำนาจทำการแทนนายจ้างในเรื่องการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง โดยมีอำนาจกระทำการดังกล่าวได้ด้วยตนเองและมีอำนาจตัดสินใจด้วยตนเอง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๕ และจำเลยทั้งสองไม่ได้สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาหรือทำงาน
ในวันหยุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และเงินเพิ่มสำหรับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด
ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกในข้อ ๒ ว่า โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ ขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกข้อมูลจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ระหว่างวันที่
๑ มีนาคม ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ กับเรียกผู้จัดการแผนกคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ ๑ มาสืบพยาน แต่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาต ยกคำร้อง
ของโจทก์ เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการสั่งการของจำเลยที่ ๒ ที่บังคับให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา กับที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ ๓ ว่า การเลิกจ้างจะต้องมิใช่เป็นการกลั่นแกล้ง แม้จะเป็นลูกจ้างอยู่ระหว่างทดลองงานก็ชอบที่จะได้รับ
การปฏิบัติดังเช่นลูกจ้างรายอื่นของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๒ เป็นพยานสำคัญเกี่ยวกับการสั่งการ
ของจำเลยที่ ๒ ที่บังคับให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนจำเลยที่ ๒ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงชัดแจ้ง นั้น เห็นว่า ปัญหานี้ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์คำร้องลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ ของโจทก์ดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งว่า จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่นำสืบมาทั้งสองฝ่ายมีความเพียงพอและได้ความในข้อเท็จจริงแห่งคดีแล้ว จึงไม่สมควรให้เรียกมา ให้ยกคำร้อง ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร” การที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริง
และพยานหลักฐานที่นำสืบมาทั้งสองฝ่ายมีความเพียงพอและได้ความในข้อเท็จจริงแห่งคดีแล้ว ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุ
ที่จะเรียกพยานมาสืบเพิ่มเติมอีก ที่โจทก์อุทธรณ์ทั้ง ๒ ประการดังกล่าวและขอให้ย้อนสำนวนไปให้
ศาลแรงงานกลางไต่สวนเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ ๔ ว่า ศาลแรงงานกลางคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า การจ่ายค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้ครบเต็มทั้งเดือนดังที่โจทก์อุทธรณ์นั้น เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายเดือน
ตามนิยามในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่กรณีที่นายจ้างประสงค์
จะเลิกจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบก่อนตามระยะเวลาที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง
และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ กล่าวคือ บอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่ถ้านายจ้างไม่ประสงค์จะรอให้การบอกเลิกสัญญาจ้างมีผล
ตามระยะเวลาดังกล่าว นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญา
ตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีก็ได้ ตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ วรรคสอง ซึ่งการจ่ายค่าจ้างในกรณีหลังนี้ ไม่ใช่การจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานปกติเป็นรายเดือนตามนิยาม
ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่จ่ายเพื่อให้ลูกจ้างออกจากงานทันที จำนวนค่าจ้างที่ต้องจ่ายจึงไม่ใช่จ่ายให้เหมือนกรณีทำงานปกติ โดยจำนวนค่าจ้างที่จ่ายต้องเป็นไปตาม
ที่บัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสาม และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ วรรคสอง กล่าวคือ จ่ายให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าว กรณีของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ บอกเลิกจ้างโจทก์วันที่
๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ อันเป็นการให้โจทก์ออกจากงานทันที ไม่ได้กำหนดวันเลิกสัญญาจ้างให้มีผลเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าหรือนานกว่านั้น การบอกเลิกจ้างในวันดังกล่าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ วรรคหนึ่ง จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ควรได้รับสำหรับระยะเวลาตั้งแต่วันที่
๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เป็นเวลา ๔๔ วัน ศาลแรงงานกลางคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถูกต้อง เมื่อเงินส่วนนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าโจทก์ได้รับไปครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ ๕ ว่า ค่ารถประจำตำแหน่งเดือนละ ๓๕,๐๐๐ บาท ถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาการจ้างงานระบุค่าจ้างที่โจทก์จะได้รับไว้ชัดเจนว่าอัตราเดือนละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท กับระบุเรื่องเงินค่ารถประจำตำแหน่งไว้ต่างหากในเอกสารหมาย ล.๕ ว่า เงินช่วยเหลือค่ารถประจำตำแหน่งถือเป็นสวัสดิการ มิใช่ค่าจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงาน บริษัทฯ จ่ายเพื่อเป็น
การช่วยเหลือค่ารถในการเดินทาง ค่าสึกหรอ แทนการจัดหารถประจำตำแหน่งในกรณีที่มิได้จัดหารถมาใช้ บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิในการจ่ายเงินดังกล่าว จึงเห็นเจตนาของจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่แรกว่า ประสงค์จะจ้างโจทก์ในอัตราเดือนละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท กับช่วยเหลือค่ารถประจำตำแหน่งเดือนละ ๓๕,๐๐๐ บาท
แทนการจัดหารถประจำตำแหน่งในกรณีที่มิได้จัดหารถมาใช้ กับทั้งขอสงวนสิทธิในการจ่ายเงินดังกล่าว อันเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ ว่า หากจำเลยที่ ๑ จัดหารถประจำตำแหน่งมาให้โจทก์ใช้ก็จะ
ไม่จ่ายเงินช่วยเหลือค่ารถประจำตำแหน่งให้อีก แม้เงินค่ารถประจำตำแหน่งจำเลยที่ ๑ จะจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำและมีจำนวนแน่นอนทุกเดือนพร้อมค่าจ้าง ก็เป็นเพียงวิธีการจ่ายเงินและเพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ มิได้แสดงว่าจำเลยที่ ๑ จะเปลี่ยนเจตนาให้สวัสดิการนั้นกลายเป็นค่าจ้าง เงินค่ารถประจำตำแหน่งที่จำเลยที่ ๑ จ่ายให้แก่โจทก์จึงไม่ใช่ค่าจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปโดยอ้างถึง
คำเบิกความของนายผดุงเกียรติเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทจัดหางานที่จัดหาโจทก์
มาทำงานให้จำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ คิดค่าตอบแทนให้บริษัทจัดหางานโดยรวมเอาเงินค่ารถประจำตำแหน่ง ๓๕,๐๐๐ บาท เป็นฐานในการคำนวณด้วย แสดงว่าเงินค่ารถประจำตำแหน่งจำเลยที่ ๑
จ่ายเพื่อเป็นค่าจ้างด้วยนั้น ปัญหานี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินค่าตอบแทนแก่บริษัทจัดหางานเท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้เป็นการยกข้อเท็จจริงเดิม
ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาแล้วเพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังใหม่ว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้าง เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์
ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
สำหรับปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ ๖ ว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างผู้มีอำนาจทำการแทนนายจ้างในเรื่องการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง เพราะลูกจ้างที่มีอำนาจทำการแทนนายจ้างในเรื่องการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง จะต้องมีอำนาจหน้าที่โดยเด็ดขาด ใช้ดุลพินิจของตนเองที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ใด หากต้องเสนอความเห็นผ่านผู้บังคับบัญชาอีกชั้นหนึ่งก่อนก็ไม่ใช่ลูกจ้างที่มีอำนาจกระทำการแทนนายจ้าง และอุทธรณ์ในข้อ ๗ ที่ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่ขออนุมัติทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดและได้รับการอนุมัติจาก
ผู้มีอำนาจของจำเลยที่ ๑ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดนั้น เป็นการพิจารณา
ที่คลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย โดยไม่ได้พิจารณาพยานที่เป็นบทสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ อันเป็น
การปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ ๗ บทสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โจทก์ได้นำส่งประกอบคำเบิกความไว้แล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางได้พิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งปวงแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่ขออนุมัติทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดและได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการที่ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์บทสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์แล้ว แต่ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง
ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดตามฟ้อง ดังนั้น ปัญหาตามที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ ๖ ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างผู้มีอำนาจทำการแทนนายจ้างในเรื่องการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง และมีสิทธิได้รับ
ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดหรือไม่ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
(วิโรจน์ ตุลาพันธุ์ - ปณิธาน วิสุทธากร - ไพรัช โปร่งแสง)
ธัชวุทธิ์ พุทธิสมบัติ - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ