Print
Category: 2562
Hits: 52

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 7033/2562 ว่าที่ร้อยโทณัฏฐพล เจริญทรัพย์          โจทก์

                                                                    นางสาวบุษนีย์ สุริคำแดง

                                                                      ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน กับพวก  จำเลย

ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ (๓) (ข)

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓, ๑๒๔, ๑๒๕ วรรคสอง

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคท้าย, ๔9, ๕๗ 

         โจทก์ยื่นคําร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ จําเลยที่ ๑ เป็นพนักงานตรวจแรงงาน มีคําสั่งว่าการกระทําของโจทก์เป็นการจงใจทําให้จําเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหาย เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานกรณีที่ร้ายแรง จําเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม ตามมาตรา ๑๒๔ แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕4๑ เมื่อศาลแรงงานภาค ๕ ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดี ต่อศาลแรงงานภาค ๕ เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันทราบคําสั่ง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลา คําสั่งของจําเลยที่ ๑ จึงเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนและวิธีการนําคดีไปสู่
ศาลแรงงานตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน .ศ. ๒๕๒๒ มาตรา 8 วรรคท้าย โจทก์จึงดําเนินการใดในเรื่องเดียวกันนี้ต่อศาลแรงงานภาค ๕ อีกไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจําเลย ทั้งสองในประเด็นที่จําเลยที่ ๑ มีคําสั่งเกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย
ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม ได้อีก การที่ศาลแรงงานภาค ๕ มีคําสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจําเลยทั้งสอง แล้วพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องจําเลยทั้งสองในประเด็นดังกล่าว จึงชอบแล้ว
 

         คดีนี้ นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนคําสั่งของจําเลยที่ ๑ และขอให้บังคับจําเลยที่ ๒ จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปี พร้อมดอกเบี้ย และเงินเพิ่มแล้ว โจทก์ยังฟ้องจําเลยที่ ๒ โดยอ้างเหตุด้วยว่าจําเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุ
อันไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจําเลยที่ ๒ จ่ายค่าเสียสิทธิประโยชน์จากการทํางานกรณีเกษียณอายุ
การทํางาน ค่าหมดโอกาสในการเก็บเงินสะสมกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ และค่าเสียสิทธิที่จะได้รับ
เงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของเงินสมทบ พร้อมดอกเบี้ย อันตีความได้ว่าหมายถึงขอให้จําเลยที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร
.. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ
.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องยื่นคําร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนที่จะดําเนินการฟ้องร้อง
ต่อศาลแรงงานตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ
.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคท้าย อีกทั้งประเด็นดังกล่าวไม่อยู่ในอํานาจที่โจทก์จะมีสิทธิยื่นคําร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้ดําเนินการตาม พ.ร.. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ ถึงมาตรา ๑๒๕ ได้
และจําเลยที่ ๑ ก็มิได้พิจารณาประเด็นว่าการที่จําเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หรือไม่ ดังนั้น คําสั่งของจําเลยที่ ๑ ดังกล่าว จึงเป็นที่สุดเฉพาะประเด็นว่าจําเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์

ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม
เท่านั้น โจทก์จึงมีอํานาจฟ้องจําเลยที่ ๒ ในประเด็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังกล่าว ส่วนการที่

จําเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์จะเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจําเลยที่ ๒ ต้องชดใช้ค่าเสียหายจาก
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔9 นั้น ศาลแรงงานภาค ๕ ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์
และจําเลยที่ ๒ ให้สิ้นกระบวนความเสียก่อน การที่ศาลแรงงานภาค ๕ งดสืบพยานโจทก์ และจําเลยที่ ๒ แล้วพิพากษายกฟ้องประเด็นดังกล่าวด้วยนั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว กรณี จําต้องย้อนสํานวนไปให้ศาลแรงงานภาค ๕ วินิจฉัยข้อเท็จจริงเฉพาะประเด็นดังกล่าวให้ถูกต้องแล้ว พิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ (๓) (ข) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗
 

______________________________

         โจทก์ฟ้องว่า ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒๕/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ และขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๙๐,๓๓๕.๑๙ บาท ค่าชดเชย ๔๙๒,๗๓๘ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๕,๔๗๔.๘๖ บาท ค่าเสียสิทธิประโยชน์จาก
การทำงานกรณีเกษียณอายุการทำงาน ๗,๓๙๑,๐๗๐ บาท เงินสะสมกองทุนสำรองเลียงชีพ ๑๔๗,๘๒๑.๔๐ บาท เงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของเงินสมทบ ๑๔๗,๘๒๑.๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

         จำเลยที่ ๑ ให้การขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ ๒ ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์เป็นหนังสือเมื่อวันที่
๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ แจ้งโจทก์ว่าไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยการเลิกจ้าง ดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม โจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ โดยลูกจ้างโจทก์เป็นผู้รับไว้แทน ศาลแรงงานภาค ๕ เห็นว่าข้อเท็จจริง
พอวินิจฉัยคดีได้ จึงงดสืบพยาน

         ศาลแรงงานภาค ๕ พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๕ ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ และใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งที่ ๒๕/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหาย เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ได้            โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยการเลิกจ้าง ดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม จำเลยที่ ๑ ส่งคำสั่งให้โจทก์ทางไปรษณีย์ตอบรับ ลูกจ้างของโจทก์ลงลายมือชื่อในใบตอบรับทางไปรษณีย์เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ทราบคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง แต่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มิได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนับระยะเวลาไว้ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓ โดยต้องเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไป โจทก์จะต้องยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งภายในวันที่
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ในวันที่
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการฟ้องต่อศาลแรงงานภาค ๕ ตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒               เป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ย่อมเป็นที่สุด
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์
ซึ่งเป็นลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑      มาตรา ๑๒๓ และจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งว่าการกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหาย เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยการเลิกจ้าง ดอกเบี้ย
และเงินเพิ่มตามมาตรา ๑๒๔ เมื่อปรากฏตามที่ศาลแรงงานภาค ๕ ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภาค ๕ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการฟ้องต่อศาลแรงงานภาค ๕ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา ๑๒๕ วรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนและวิธีการนำคดีไปสู่ศาลแรงงานตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคท้าย ดังนั้น โจทก์
จึงดำเนินการใดในเรื่องเดียวกันนี้ในศาลแรงงานภาค ๕ อีกไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสอง         ในประเด็นที่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งเกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ดอกเบี้ยและ         เงินเพิ่มได้อีก ที่ศาลแรงงานภาค ๕ มีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสอง แล้วพิพากษาว่า            โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นดังกล่าว จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปตามข้อ ๒.๓ และข้อ ๒.๔ ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างว่าเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มิได้ระบุว่าหากลูกจ้าง         ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแล้ว ลูกจ้างต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก่อน ลูกจ้าง           ย่อมนำคดีฟ้องต่อศาลแรงงานได้ภายในกำหนดอายุความ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒                  แต่ศาลแรงงานภาค ๕ งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสอง แล้วพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒๕/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ และขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ยแล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยที่ ๒ โดยอ้างเหตุด้วยว่าจำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุ              อันไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ จ่ายค่าเสียสิทธิประโยชน์จากการทำงานกรณีเกษียณอายุ             การทำงาน ค่าหมดโอกาสในการเก็บเงินสะสมกองทุนสำรองเลียงชีพ และค่าเสียสิทธิที่จะได้รับ           เงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของเงินสมทบ พร้อมดอกเบี้ย อันตีความได้ว่าหมายถึงขอให้จำเลยที่ ๒              ชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนที่จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแรงงานตามมาตรา ๘ วรรคท้าย อีกทั้งประเด็นดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจที่ลูกจ้างมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ ถึงมาตรา ๑๒๕ ได้
และจำเลยที่ ๑ ก็มิได้พิจารณาประเด็นว่าการที่จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ดังนั้น คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒๕/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ จึงเป็นที่สุดเฉพาะประเด็นว่าจำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยการเลิกจ้าง ดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามมาตรา ๑๒๔ เท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒  ในประเด็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์จะเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและจำเลยที่ ๒ ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ นั้น
ศาลแรงงานภาค ๕ ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ ๒ ให้สิ้นกระบวนความเสียก่อน แล้วพิพากษาไปตามรูปคดีต่อไป การที่ศาลแรงงานภาค ๕ งดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ ๒
แล้วพิพากษายกฟ้องประเด็นดังกล่าวด้วยนั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว กรณีจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค ๕ วินิจฉัยข้อเท็จจริงเฉพาะประเด็นดังกล่าวให้ถูกต้องแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 (3) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

         พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ในประเด็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม             ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๕ เฉพาะประเด็นดังกล่าว ให้ศาลแรงงานภาค ๕ พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ ๒ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม
คำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๕.

(ปณิธาน วิสุทธากร – วิโรจน์ ตุลาพันธุ์ – ไพรัช โปร่งแสง)

มนุเชษฐ์ โรจนศิริบุตร - ย่อ

สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ