คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1781/2560 ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
(ไทย) จำกัด (มหาชน) โจทก์
นายไพฑูรย์ ตรงสิทธิรักษ์ จำเลย
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง, 56 วรรคสาม
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ฟังยุติว่า จำเลยละเลยไม่ตรวจสอบเอกสารของผู้ขอสินเชื่อโดยละเอียด เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของโจทก์ และจำเลยพบความผิดปกติเกี่ยวกับรายการเคลื่อนไหวในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของลูกค้าทั้งสิบ จำเลยมีหน้าที่ทำความเห็นหรือแจ้งข้อเท็จจริงให้พนักงานฝ่ายอนุมัติสินเชื่อทราบ แต่เพิกเฉย ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารในเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนการตรวจสอบเอกสารในเชิงลึกกล่าวคือความถูกต้องและความเป็นจริงของเอกสาร ได้แก่ รายการเคลื่อนไหวในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อ ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของจำเลย แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏจากการพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยมีหน้าที่เพียงใด จะเป็นดังที่โจทก์ฟ้องหรือจำเลยให้การ ซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องฟังข้อเท็จจริงมาให้ครบถ้วนเสียก่อนว่า จำเลยมีหน้าที่เพียงใด โจทก์ผ่อนผันให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่เคร่งครัดหรือไม่ อย่างไร การกระทำของโจทก์มีส่วนให้พนักงานสินเชื่อหรือจำเลยละเลยหรือไม่ต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของโจทก์หรือไม่ อย่างไร มีพนักงานฝ่ายอื่นเช่นฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อที่ต้องร่วมรับผิดหรือไม่ หากมีแต่ละฝ่ายควรต้องเฉลี่ยความรับผิดกันเพียงใด และโจทก์มีส่วนต้องรับผิดด้วยหรือไม่ เพียงใด จำเลยพบว่ารายการเคลื่อนไหวในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของลูกค้าทั้งสิบผิดปกติหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่อาจฟังได้เอง จึงเห็นควรอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่มเติมเสียก่อน ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนั้นใหม่ตามมาตรา 56 วรรคสาม ต่อไป
______________________________
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๑๑,๖๘๒,๒๖๕.๓๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๑,๒๕๔,๓๘๙.๗๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย ๖๔,๒๐๐ บาท และออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน ๑๑,๖๘๒,๒๖๕.๗๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๑,๒๕๔,๓๘๙.๗๑ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์ออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่จำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก (ที่ถูกให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง หรือไม่ จำเลยต้องชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ และโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยหรือไม่ เพียงใด ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงโดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาว่าจำเลยละเลยการตรวจสอบเอกสารหรือการตรวจสอบลูกค้าอย่างรอบคอบก็อาจเป็นเพราะความมุ่งหวังแต่การทำยอดเพื่อหาสินเชื่อให้ได้ตามเป้าหมายและหวังแต่ค่าตอบแทน และปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ ตำแหน่งพนักงานสินเชื่อ แผนกสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฝ่ายบริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้นเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๙ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกจ้างจำเลยโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ได้จ่ายค่าชดเชย และไม่ได้ออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่จำเลย แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของโจทก์ และประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่จำเลย จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ประมาทเลินเล่อหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัด มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่ออยู่หลายฝ่าย เมื่อเกิดความเสียหายตามฟ้องแล้วจะให้จำเลยรับผิดเพียงคนเดียวนั้นไม่เป็นธรรมต่อจำเลย จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลย เห็นว่า นอกจากคดีนี้แล้วโจทก์ยังได้ยื่นฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในข้อหาร่วมกันใช้เอกสารปลอมและร่วมกันฉ้อโกง ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ฟังยุติว่า จำเลยละเลยไม่ตรวจสอบเอกสารของผู้ขอสินเชื่อโดยละเอียด เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของโจทก์ และจำเลยพบความผิดปกติเกี่ยวกับรายการเคลื่อนไหวในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของลูกค้าทั้งสิบ จำเลยมีหน้าที่ทำความเห็นหรือแจ้งข้อเท็จจริงให้พนักงานฝ่ายอนุมัติสินเชื่อทราบ แต่เพิกเฉย ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารในเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนการตรวจสอบเอกสารในเชิงลึก กล่าวคือ ความถูกต้องและความเป็นจริงของเอกสาร ได้แก่ รายการเคลื่อนไหวในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อ ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของจำเลย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ปรากฏจากการพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยมีหน้าที่เพียงใด จะเป็นดังที่โจทก์ฟ้องหรือจำเลยให้การ ซึ่งศาลแรงงานกลางต้องฟังข้อเท็จจริงมาให้ครบถ้วนเสียก่อนว่า จำเลยมีหน้าที่เพียงใด โจทก์ผ่อนผันให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่เคร่งครัดหรือไม่ อย่างไร การกระทำของโจทก์มีส่วนให้พนักงานสินเชื่อหรือจำเลยละเลยหรือไม่ต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของโจทก์หรือไม่ อย่างไร มีพนักงานฝ่ายอื่นเช่นฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อที่ต้องร่วมรับผิดหรือไม่ หากมีแต่ละฝ่ายควรต้องเฉลี่ยความรับผิดกันเพียงใด และโจทก์มีส่วนต้องรับผิดด้วยหรือไม่ เพียงใด จำเลยพบว่ารายการเคลื่อนไหวในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของลูกค้าทั้งสิบผิดปกติหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่อาจฟังได้เอง จึงเห็นควรอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ วรรคสอง ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่มเติมเสียก่อน ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนั้นใหม่ตามมาตรา ๕๖ วรรคสาม ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ในส่วนที่พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน ๑๑,๖๘๒,๒๖๕.๗๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๑,๒๕๔,๓๘๙.๗๑ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ รวมทั้งคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก (ที่ถูกที่ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย) และให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงข้างต้นเพิ่มเติมให้ครบถ้วน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
(นงนภา จันทรศักดิ์ ลิ่มไพบูลย์ – มาลิน ภู่พงศ์ จุลมนต์ – นาวี สกุลวงศ์ธนา)
วิฑูรย์ ตรีสุนทรรัตน์ - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ