คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1769/2560 สหกรณ์ออมทรัพย์
ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จำกัด โจทก์
นางสาวนฤมล นักฟ้อน กับพวก จำเลย
ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 52, 54 วรรคหนึ่ง, 57
ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 ข้อ 10
ที่จำเลยที่ 3 และที่ 9 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ดูแลเอกสารสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน และไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาเงินของสหกรณ์โจทก์ การที่ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดังกล่าวและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่อุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าวจึงมิได้กระทำผิดสัญญาจ้าง จำเลยที่ 9 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดนั้น ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 8 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยที่ 9 จะได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานก่อนที่จะมีประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป แต่เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายภายหลังจากที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องบังคับตามประกาศดังกล่าว จำเลยที่ 9 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยของจำเลยที่ 3 ตามข้อ 10 ของประกาศดังกล่าว และที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 9 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันโดยมิได้มีคำขอบังคับเกี่ยวกับดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวมาด้วย การที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 9 จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันด้วยโดยไม่ให้เหตุผลว่าเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 แม้จำเลยที่ 9 จะมิได้ยกปัญหาเรื่องวงเงินตามสัญญาค้ำประกันและดอกเบี้ยขึ้นอุทธรณ์แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57
______________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดชำระเงินซึ่งขาดหายไปโดยไม่มีหลักฐานการจ่าย 2,740,000 บาท และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีทำลายซ่อนเร้นเอกสารแห่งหนี้ตามยอดหนี้ที่ปรากฏตามสัญญากู้ทั้งสี่ฉบับรวม 2,577,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และขอให้บังคับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงินประกันคนละ 500,000 บาท และขอให้บังคับจำเลยที่ 7 และที่ 8 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในวงเงินประกันคนละ 400,000 บาท และขอให้บังคับจำเลยที่ 9 และที่ 10 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในวงเงินประกันคนละ 200,000 บาท
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ต่อมาอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยที่ 35/2559 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 ว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน และโจทก์และจำเลยที่ 1 แถลงร่วมกันว่า คดีตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลแรงงานภาค 8 จึงพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และโจทก์ยังยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 และที่ 10 ศาลแรงงานภาค 8 อนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 8 และที่ 10 เสียจากสารบบความ คดีคงเหลือเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 9
จำเลยที่ 3, 4 และที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 1,409,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 ธันวาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 9 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกฟ้องคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 3 และที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ มีจำเลยที่ 9 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานในวงเงิน 200,000 บาท โจทก์มีสัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และระหว่างโจทก์กับร้อยโทปริญญา ต่อมาโจทก์ได้ตรวจสอบพบว่ายอดหนี้คงเหลือตามฐานข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ รายการบันทึกหนี้และการชำระหนี้ตามสัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และร้อยโทปริญญาได้สูญหายไป จำเลยที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องตรวจสอบสัญญากู้ สัญญาค้ำและผู้ค้ำประกันระหว่างสมาชิกตามคำสั่งสหกรณ์ออมทรัพย์ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จำกัด เมื่อสัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และร้อยโทปริญญาสูญหายไป จำเลยที่ 3 และร้อยโทปริญญาก็จะไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจ้าง ส่วนจำเลยที่ 4 เมื่อไม่ปรากฏว่าสัญญากู้ดังกล่าวสูญหายไปเมื่อใด ในขณะจำเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการของโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 9 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในวงเงินประกัน 200,000 บาท ด้วย
ที่จำเลยที่ 3 และที่ 9 อุทธรณ์ข้อ 2.1 ว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ดูแลเอกสารสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน ตรวจสอบสัญญากู้ สัญญาค้ำประกันระหว่างสมาชิก และไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาเงินของสหกรณ์โจทก์ การที่ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดังกล่าวและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่อุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าวจึงมิได้กระทำผิดสัญญาจ้าง จำเลยที่ 9 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวล้วนแต่เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 8 ที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องตรวจสอบสัญญากู้ สัญญาค้ำและผู้ค้ำประกันระหว่างสมาชิก และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์อันเป็นการผิดสัญญาจ้าง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง แม้โจทก์จะตกลงทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 3 ให้ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ ค่าจ้างเดือนละ 9,830 บาท เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 9 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานในวงเงิน 200,000 บาท ก่อนที่จะมีประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยในข้อ 10 กำหนดให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคลได้ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ย และในข้อ 12 กำหนดให้นายจ้างที่เรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือให้บุคคลค้ำประกันอยู่ก่อนวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกัน ไม่เกินจำนวนมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องว่าในช่วงระหว่างปี 2554 ถึงปี 2556 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตประพฤติมิชอบในหน้าที่ และศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ได้ตรวจสอบสัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และระหว่างโจทก์กับร้อยโทปริญญา ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 3 ได้สูญหายไป จำเลยที่ 3 และร้อยโทปริญญาก็จะไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องบังคับตามประกาศดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะเกิดเหตุหรือเกิดความเสียหาย จำเลยที่ 9 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยของจำเลยที่ 3 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,830 บาท จำเลยที่ 9 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยเป็นเงิน 19,660 บาท และคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 9 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 3 โดยมิได้มีคำขอบังคับเกี่ยวกับดอกเบี้ยของต้นเงินมาด้วย ดังนั้นที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 9 จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันด้วยโดยไม่ให้เหตุผลว่าเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 แม้จำเลยที่ 9 จะมิได้ยกปัญหาเรื่องวงเงินตามสัญญาค้ำประกันและดอกเบี้ยขึ้นอุทธรณ์ด้วยก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 9 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในวงเงิน 19,660 บาท โดยไม่ต้องรับผิดในส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8.
(ยิ่งลักษณ์ สุขวิสิฏฐ์ – เฉลิมพงศ์ ขันตี – สมเกียรติ คูวัธนไพศาล)
กิตติ เนตรประเสริฐชัย - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ