คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1763 - 1764 นายประเดิม สุดดี โจทก์
/2560 นายปริญญา โยชนัง กับพวก จำเลย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 22, 49, 118
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
กระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ข้อ 3
เมื่อปรากฏว่าสาธารณรัฐอินโดนีเซียมีคำสั่งระงับใบอนุญาตทำการประมงไว้ชั่วคราวแล้วกักเรือประมงทั้งสองลำไว้ ทำให้จำเลยทั้งสี่ไม่สามารถทำการประมงต่อไปได้เพราะไม่มีเรือและอุปกรณ์จับสัตว์ฯ และต้องมีภาระค่าใช้จ่ายสำหรับค่าจ้างและค่าบำรุงรักษาเรือซึ่งไม่อาจคาดได้ว่าจะช้าหรือเร็วเพียงใด และโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 4 เองอาจถูกจับกุมดำเนินคดีได้ การเลิกจ้างจึงนับว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมและเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้กลั่นแกล้งโจทก์จึงนับว่ามีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ได้มีขึ้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยได้กำหนดให้งานประมงทะเลเป็นที่ให้มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้โดยคำนึงถึงรูปแบบลักษณะงานและความเฉพาะของงานที่มีความแตกต่างโดยอาจกำหนดให้มีความแตกต่างทั้งในรูปแบบและเนื้อหา ซึ่งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ข้อ 3 ได้บัญญัติชัดเจนให้ไม่รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2558 ซึ่งขณะนั้นกฎกระทรวงได้มีผลบังคับใช้แล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย
ศาลแรงงานภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยแล้วว่าส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำมีลักษณะเป็นค่าตอบแทนคำนวณตามผลงานเพื่อจูงใจโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ไม่ให้สร้างภาระค่าใช้จ่ายอันไม่จำเป็นและนำเรือกลับคืนสู่การครองของจำเลยทั้งสี่ โจทก์ที่ 1 และที่ 4 จึงจะมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ดังนั้นที่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่า เงื่อนไขการจ่ายส่วนแบ่งจากการขายสัตว์น้ำเป็นเงื่อนไขที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมและไม่ชอบ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำจากจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 7 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
______________________________
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ เดิมศาลแรงงานภาค ๗ สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ และเรียกจำเลยทั้งสี่สำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นค่าชดเชย ๔๐๐,๐๐๐ บาท ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ๕๐๐,๐๐๐ บาท และค่าส่วนแบ่งของยอดราคาที่ขายปลาได้รวม ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๒ เป็นค่าชดเชย ๙๐,๐๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๒ ค่าเสียหายจาการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ๒๐๐,๐๐๐ บาท และค่าส่วนแบ่งของยอดราคาที่ขายปลาได้รวม ๖๔๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๓ เป็นค่าชดเชย ๕๔,๐๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๓ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ๒๐๐,๐๐๐ บาท และค่าส่วนแบ่งของยอดราคาที่ขายปลาได้รวม ๒๖๒,๐๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๓ โจทก์ที่ ๔ เป็นค่าชดเชย ๑๒๐,๐๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๔ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ๓๐๐,๐๐๐ บาท และค่าส่วนแบ่งของยอดราคาที่ขายปลาได้รวม ๑,๘๐๘,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๔
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานภาค ๗ นายปริญญา ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายฉ่อง นายอุเทน นายสุวิทย์ และบริษัทพูซาคา เบนจิน่า นุสันตารา พีที จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าบุคคลทั้งสามเคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรือร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ได้ขายและโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทดังกล่าวไปแล้ว ศาลอนุญาตเฉพาะในส่วนของนายฉ่อง นายอุเทนและนายสุวิทย์ โดยให้เรียกจำเลยในทุกสำนวนว่า จำเลยที่ ๑ และเรียกนายฉ่อง นายอุเทนและนายสุวิทย์ว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ตามลำดับ กับยกคำร้องในส่วนของบริษัทพูซาคา เบนจิน่า นุสันตารา พีที จำกัด
จำเลยทั้งสี่ให้การโจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินส่วนแบ่งดังกล่าว
ระหว่างสืบพยาน โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานภาค ๗ อนุญาตและให้จำหน่ายคดีในส่วนของโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ออกจากสารบบความ คงเหลือเฉพาะโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔
ศาลแรงงานภาค ๗ พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ คนละ ๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๘) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ ในประการแรกว่า การเลิกจ้างของจำเลยทั้งสี่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่รับกันปรากฏว่าสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้มีคำสั่งระงับใบอนุญาตทำการประมงไว้ชั่วคราวไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงยกเลิกใบอนุญาตในเวลาต่อมาทั้งยังกักเรือประมงทั้งสองลำไว้ ทำให้จำเลยทั้งสี่ไม่สามารถทำการประมงต่อไปได้เพราะไม่มีเรือและอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ และต้องมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่ต่อไปเพราะต้องจ่ายค่าจ้างและค่าบำรุงรักษาดูแลเรือทั้งสองลำในระหว่างรอสาธารณรัฐอินโดนีเซียตรวจสอบเรือเสร็จซึ่งไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะช้าเร็วเพียงใด ทั้งมีแนวโน้มที่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ อาจถูกจับกุมดำเนินคดีได้ การเลิกจ้างและนำโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ กลับประเทศไทยจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมและเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ การเลิกจ้างโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ จึงนับว่ามีเหตุผลอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ ในประการต่อไปว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ เห็นว่า กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้มีขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๒ ที่ได้กำหนดให้งานประมงทะเลเป็นงานที่ให้มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้โดยคำนึงถึงรูปแบบลักษณะงานและความเฉพาะของงานที่มีความแตกต่างโดยอาจจะกำหนดให้มีความแตกต่างในทางรูปแบบและเนื้อหาเพื่อให้ความคุ้มครองสอดคล้องกับงานประมงทะเล เช่น กำหนดให้ห้ามจ้างเด็กต่ำกว่า ๑๘ ปี ทำงานในเรือประมง หรือให้นายจ้างจัดทำงานทะเบียนลูกจ้าง เอกสารเกี่ยวกับค่าจ้าง ตลอดจนกำหนดให้นายจ้างดำเนินการหรือออกค่าใช้จ่ายให้ลูกจ้างกลับสถานที่ที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานในกรณีเรืออัปปาง ลูกจ้างประสบอันตราย บาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือตลอดจนการจัดสวัสดิการน้ำดื่ม ห้องส้วมหรือเวชภัณฑ์ยาและจัดให้ลูกจ้างมีความรู้เกี่ยวกับสภาพการทำงาน ซึ่งล้วนแต่เป็นการกำหนดให้มีความแตกต่างจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานปกติ แต่อย่างไรก็ตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ ยังคงกำหนดให้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ยังคงบังคับใช้ในส่วนของหมวดต่าง ๆ แต่ถึงกระนั้นกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล ข้อ ๓ ก็บัญญัติชัดเจนให้ไม่รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานในงานประมงทะเล เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ ซึ่งขณะนั้นได้มีกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ บังคับใช้แล้ว โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ส่วนที่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยในส่วนการจ้างงานก่อนวันที่กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ บังคับใช้คือวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ นั้น เห็นว่า สิทธิในการได้รับค่าชดเชยจะมีต่อเมื่อมีการเลิกจ้างแล้วเท่านั้นทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เมื่อปรากฏว่าก่อนวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสี่ โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ จึงยังไม่มีสิทธิรับค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานภาค ๗ พิพากษาว่าโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ ในประการสุดท้ายว่าจำเลยทั้งสี่ต้องจ่ายเงินส่วนแบ่งจากการขายสัตว์น้ำให้แก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานภาค ๗ ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยแล้วว่า ส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำมีลักษณะเป็นค่าตอบแทนคำนวณตามผลงานเพื่อจูงใจโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ ไม่ให้สร้างภาระค่าใช้จ่ายอันไม่จำเป็นและนำเรือกลับคืนสู่การครอบครองของจำเลยทั้งสี่ สิทธิของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ ที่จะได้รับค่าตอบแทน จึงเกิดมีขึ้นได้เฉพาะที่เรือรวมโชค ๑ และเรือรวมโชค ๒ มาถึงประเทศไทยพร้อมลูกเรือและจำเลยทั้งสี่ได้กำไรจากการขายสัตว์น้ำ เมื่อเรือถูกกักอยู่ที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียและเกิดค่าใช้จ่ายต่อเนื่องจากการเดินเครื่องยนต์ โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าส่วนแบ่งขายสัตว์น้ำ ดังนั้นที่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ อุทธรณ์ข้อ ๒.๓ และข้อ ๒.๔ โดยแสดงเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่า เงื่อนไขการจ่ายส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำต่อเมื่อเรือประมงพร้อมลูกจ้างเดินทางกลับมาประเทศไทย เป็นเงื่อนไขที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมและไม่ชอบ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำจากจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๗ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.
(เฉลิมพงศ์ ขันตี – ยิ่งลักษณ์ สุขวิสิฏฐ์ – สมเกียรติ คูวัธนไพศาล)
ฐิติ สุเสารัจ - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ