Print
Category: 2563
Hits: 1448

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 687/2563  

บริษัทเจทีบีซี พลัส คอร์ป              โจทก์

บริษัทอินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กับพวก                             จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง

ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539
มาตรา 39

            คําแปลสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ข้อ 21 ระบุว่า “สัญญานี้ต้องบังคับและตีความตามกฎหมายเกาหลี โดยไม่คํานึงถึงกฎหมายขัดกัน ข้อโต้แย้งใด ๆ ที่เกิดจากหรือเกี่ยวข้องกับสัญญานี้ต้องระงับไปด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการในกรุงโซล ประเทศเกาหลี ตามกฎอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการทางการค้าของเกาหลี… อย่างไรก็ตาม หาก จ. กำหนดว่า
การใช้กระบวนการในประเทศไทย 
หรือเขตอํานาจศาลอื่น ๆ สามารถปกป้องสิทธิ หรือใช้บังคับสิทธิใด ๆ ที่เป็นความลับ หรือเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา จ. จะเริ่มกระบวนการทางกฎหมายต่อผู้ได้รับอนุญาตหรือบุคคลที่สามก่อนอํานาจบริหาร หรือศาลที่มีเขตอํานาจในประเทศไทย หรือเขตอํานาจศาลอื่น ๆ ตามที่ จ. ใช้ดุลยพินิจในการเลือก ในกรณีดังกล่าวกฎหมายที่ใช้บังคับในเขตอํานาจศาลดังกล่าวจะนํามาใช้กับกระบวนการดังกล่าว” ตามคําแปลดังกล่าวแสดงว่า หาก จ. เลือกที่จะดําเนินคดีที่ประเทศไทย กฎหมายที่ใช้บังคับ คือกฎหมายของประเทศไทย หาใช่กฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลีตามที่จําเลยทั้งสองกล่าวอ้างไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง
จาก จ. ฟ้องจําเลยทั้งสองต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง กฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลีจึงไม่ใช้บังคับกับข้อพิพาทคดีนี้
 

การที่จําเลยที่ ๑ ทําสัญญากับ จ. และภายหลังจําเลยที่ ๒ ได้เข้าร่วมเป็นคู่สัญญาด้วย
เป็นการกระทำที่จำเลยทั้งสองได้ทราบเนื้อหาของสัญญาแต่ละฉบับอยู่แล้ว และสมัครใจเข้าทำสัญญากับ จ. เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจำเลยทั้งสองในการจัดพิมพ์นิตยสาร ฉบับภาษาไทย
จึงไม่ใช่กรณีข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ในด้านของ จ. มีสิทธินำงานอันมีลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และอื่นๆ ไปหาประโยชน์ หรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิ แต่เมื่อ จ. ทำสัญญากับจำเลยทั้งสองมีกำหนด 5 ปี ทำให้ จ. ต้องผูกพันตามสัญญา และไม่สามารถ
อนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในช่วงเวลาดังกล่าวได้อีก ถือว่า จ. ได้รับความเสียหายแล้ว แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้จัดพิมพ์นิตยสาร ฉบับภาษาไทย ในปีที่ 4 และที่ 5 ก็ตาม จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

        โจทก์บรรยายฟ้องว่า ค่าสิทธิตามสัญญากำหนดเป็นเงินต่างประเทศ จำนวนเงินดังกล่าว
จึงเป็นหนี้ที่แท้จริงที่โจทก์มีสิทธิได้รับชำระจากฝ่ายจำเลย ซึ่งจำเลยทั้งสองมีสิทธิชำระเป็นเงินไทยโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ชำระหนี้เป็นเงินไทย
จึงไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 39 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑๐,๕๘๑,๕๓๒.๘๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๙,๗๔๓,๑๕๔.๓๙ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้เป็นเงินไทย
ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ณ วันที่มีการชำระหนี้ให้แก่โจทก์

         จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน ๑๐,๕๘๑,๕๓๒.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๙,๗๔๓,๑๕๔.๓๙ บาท
นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕๐,๐๐๐ บาท

         จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี มีนายโชอึน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ นายโชอึน มอบอำนาจให้นางสาวธรรมิกา ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๕ บริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ซึ่งเป็นผู้พิมพ์จำหน่ายนิตยสาร เซซี่ (CÉCI Magazine)
ในสาธารณรัฐเกาหลี ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ นำเนื้อหาของนิตยสารเซซี่ มาพิมพ์จำหน่ายเป็นภาษาไทยในประเทศไทย มีกำหนดระยะเวลา ๕ ปี ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๕ บริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป และจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ รวม ๒ ฉบับ ในวันเดียวกันบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ยังทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ สามารถดำเนินการ ทางเว็บไซต์(website) เว็บโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile site) อิเล็กทรอนิกส์ (electronic) ดิจิทัล (digital) หรือรูปแบบอื่นในการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่ใช่การพิมพ์ (other non-print modes of distribution of editorial content) ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๑ โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเซซี่ ประเทศไทย สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเซซี่ ประเทศไทย ฉบับแก้ไขครั้งที่ ๑ และที่ ๒ และสำเนาสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิสำหรับเว็บไซต์ การบริการ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ทำกับบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยได้รับความยินยอมจากบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป แล้ว เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ บริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่มีต่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้แก่โจทก์ บริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว

         มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า กฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลีใช้บังคับกับข้อพิพาทคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำแปลสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ข้อ ๒๑ กฎหมายที่ใช้บังคับและเขตอำนาจศาล ระบุว่า “สัญญานี้ต้องบังคับและตีความตามกฎหมายเกาหลี โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายขัดกัน ข้อโต้แย้งใด ๆ ที่เกิดจากหรือเกี่ยวข้องกับสัญญานี้ต้องระงับไปด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ในกรุงโซล ประเทศเกาหลี ตามกฎอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการทางการค้าของเกาหลี... อย่างไรก็ตาม หากเจซีทีกำหนดว่า การใช้กระบวนการในประเทศไทย หรือเขตอำนาจศาลอื่น ๆ สามารถปกป้องสิทธิ หรือใช้บังคับสิทธิใด ๆ ที่เป็นความลับหรือเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เจซีทีจะเริ่มกระบวนการทางกฎหมายต่อผู้ได้รับอนุญาต หรือบุคคลที่สามก่อนอำนาจบริหาร หรือศาลที่มีเขตอำนาจ
ในประเทศไทย หรือเขตอำนาจศาลอื่น ๆ ตามที่เจซีทีใช้ดุลยพินิจในการเลือก ในกรณีดังกล่าวกฎหมายที่ใช้บังคับในเขตอำนาจศาลดังกล่าวจะนำมาใช้กับกระบวนการดังกล่าว” ตามคำแปลดังกล่าวแสดงว่า
หากบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป เลือกที่จะดำเนินคดีที่ประเทศไทย กฎหมายที่ใช้บังคับ คือกฎหมายของประเทศไทย หาใช่กฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลีตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง กฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลีจึงไม่ใช้บังคับกับข้อพิพาทคดีนี้

         มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อมาว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิยังมีผลใช้บังคับหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาจดหมายแจ้งให้ดำเนินการก่อนการดำเนินคดีทางกฎหมาย (Letter of Request before Commencing Legal Action) บริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ค่าสิทธิรายปีตามอัตราค่าสิทธิขั้นต่ำในปีที่ ๔ และที่ ๕ ด้วย หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดภายหลังจากที่จำเลยที่ ๑ มีหนังสือลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๘ ไปยังบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป การเรียกให้ชำระหนี้ดังกล่าว แสดงว่าบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ยังคงถือปฏิบัติตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เอกสารหมาย จ.๗ หรือ ล.๔ มิใช่ถือว่าสัญญาดังกล่าวเลิกกันตามที่นายเสก ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยทั้งสองเบิกความ จึงฟังว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิยังมีผลใช้บังคับ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นมา บริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ไม่ส่งเนื้อหาของนิตยสารเซซี่มาให้จำเลยทั้งสอง เสมือนเป็นการยอมรับการเลิกสัญญาของจำเลยทั้งสองและเป็นการเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โดยสัญญาสิ้นสุดลงในปีที่ ๓ (ปี ๒๕๕๘) แล้ว นั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๘ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง

         มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิด
ต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญาระหว่างบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป กับจำเลย
ทั้งสองยังมีผลใช้บังคับ จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา รวมถึงต้องรับผิดชำระค่าสิทธิที่ค้างชำระอันเป็นหนี้ที่ระบุในสัญญาให้แก่โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทำนองว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และจำเลยทั้งสองใช้สิทธิเข้าถึงข้อมูลของบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป เพียง ๓ ปี เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ได้พิมพ์จำหน่ายนิตยสารเซซี่ ฉบับภาษาไทย ในปีที่ ๔ และที่ ๕ เมื่อบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ไม่ได้ส่งข้อมูลให้แก่จำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยทั้งสองเข้าถึงข้อมูล จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ซึ่งเป็นค่าใช้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลตามหลักของสัญญาต่างตอบแทนนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากับบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป และภายหลังจำเลยที่ ๒ ได้เข้าร่วมเป็นคู่สัญญาด้วย เป็นการกระทำที่จำเลยทั้งสองได้ทราบเนื้อหาของสัญญาแต่ละฉบับอยู่แล้ว และสมัครใจเข้าทำสัญญากับบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจำเลยทั้งสองในการจัดพิมพ์นิตยสารเซซี่ ฉบับภาษาไทย จึงไม่ใช่กรณีข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ในด้านของบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป บริษัทดังกล่าวมีสิทธินำงานอันมีลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และอื่น ๆ ไปหาประโยชน์ หรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิ แต่เมื่อบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ทำสัญญากับจำเลยทั้งสองมีกำหนด ๕ ปี ทำให้บริษัทดังกล่าวต้องผูกพันตามสัญญา และไม่สามารถอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในช่วงเวลาดังกล่าวได้อีก ถือว่าบริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ได้รับความเสียหายแล้ว แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้จัดพิมพ์นิตยสารเซซี่ ฉบับภาษาไทย ในปีที่ ๔ และที่ ๕ ก็ตาม จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับค่าเสียหายมีเพียงใดนั้น โจทก์มีนางสาวธรรมิกา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นสรุปได้ว่า จำเลยที่ ๑ ต้องชำระค่าสิทธิเป็นรายปีในอัตราร้อยละ ๘ ของรายได้สุทธิทั้งหมดของจำเลยที่ ๑ ที่ได้รับจากค่าโฆษณาและการจำหน่ายนิตยสารเซซี่ ฉบับภาษาไทย รวมทั้งค่าบอกรับเป็นสมาชิกนิตยสารในแต่ละปีตลอดอายุของสัญญา แต่หากคำนวณแล้วต่ำกว่าค่าสิทธิขั้นต่ำที่กำหนดในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ จำเลยที่ ๑ ต้องชำระค่าสิทธิขั้นต่ำที่กำหนดในสัญญา บริษัทเจคอนเทนทรี คอร์ป ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยที่ ๒ แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย หนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระ ได้แก่ (๑) ค่าสิทธิรายปีตามอัตราค่าสิทธิขั้นต่ำระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ จำนวน ๒๖,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ กำหนดชำระภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ (๒) ค่าสิทธิและค่าตอบแทนสำหรับการใช้ภาพถ่าย ข้อมูล ตามข้อ ๓.๘ (ซ) ของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเดือนมกราคม ๒๕๕๗ เป็นเงิน ๑,๕๒๐,๐๐๐ วอน เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เป็นเงิน ๑,๕๒๐,๐๐๐ วอน และเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ เป็นเงิน ๒,๑๖๐,๐๐๐ วอน โจทก์คำนวณอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘ อันเป็นวันที่หนี้ถึงกำหนดชำระเป็นเงิน ๔,๕๖๒ ดอลลาร์สหรัฐ (๓) ค่าสิทธิรายปีตามอัตราค่าสิทธิขั้นต่ำระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ จำนวน ๒๖,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ กำหนดชำระภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ (๔) ค่าสิทธิรายปีตามอัตราค่าสิทธิขั้นต่ำระหว่างเดือนกันยายน ถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ จำนวน ๒๖,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ กำหนดชำระภายในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘ (๕) ค่าสิทธิรายปีตามอัตราค่าสิทธิขั้นต่ำระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ จำนวน ๑๐๔,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ ถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ จำนวน ๑๒๓,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ กำหนดชำระภายในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ รวมหนี้ค้างชำระเป็นเงิน ๓๐๙,๕๖๒ ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยทั้งสองเป็นผู้ผิดนัดและมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีประกาศเรียกเก็บบวกด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๓ ต่อปี ตามข้อ ๗.๒ (ค) ของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีประกาศเรียกเก็บ ณ วันที่ถึงกำหนดชำระวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ (วันถึงกำหนดชำระตามสำเนาใบแจ้งหนี้) คืออัตราร้อยละ ๑.๒๕ ต่อปี และบวกด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อปี คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ ๔.๒๕ ต่อปี ดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๒๖,๖๓๗.๑๗ ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๓๖,๑๙๙.๑๗ ดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๑ มีอัตรา ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๓๑.๔๗๔ บาท คิดเป็นเงิน ๑๐,๕๘๑,๕๓๒.๘๐ บาท เห็นว่า จำนวนหนี้ที่นางสาวธรรมิกา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความสอดคล้องยอดหนี้ที่ปรากฏในสำเนาใบแจ้งหนี้ และในสำเนาสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ค้างชำระ ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่จ่ายค่าสิทธิให้แก่โจทก์เพียงค่าตอบแทนการใช้ภาพถ่ายในปีที่ ๓ จำนวน ๔,๕๖๒ ดอลลาร์สหรัฐ และค่าสิทธิขั้นต่ำรายปีตามที่กำหนดไว้ในปีที่ ๓ จำนวน ๑๐๔,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน ๑๐๘,๖๘๒ ดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้าง พยานหลักฐานของโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นั้น เห็นว่า การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๔.๒๕ ต่อปีนั้นเป็นการคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดในสัญญาข้อ ๗.๒ (ค) ซึ่งกำหนดให้คิดเมื่อมีการผิดนัดชำระเงินค่าสิทธิล่าช้า จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกำหนดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้อย่างชัดแจ้ง การคิดดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจึงต้องคิดในอัตราเดียวกันกับที่คู่สัญญาตกลงกำหนดไว้โดยเฉพาะด้วย จำเลยทั้งสองจึงคงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเพียงในอัตราร้อยละ ๔.๒๕ ต่อปีหรืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีกำหนดบวกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๓ ต่อปี แต่ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามที่โจทก์ขอมา นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า ค่าสิทธิตามสัญญากำหนดเป็นเงินต่างประเทศ จำนวนเงินดังกล่าว
จึงเป็นหนี้ที่แท้จริงที่โจทก์มีสิทธิได้รับชำระจากฝ่ายจำเลย ซึ่งจำเลยทั้งสองมีสิทธิชำระเป็นเงินไทย
โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๖ วรรคสอง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ชำระหนี้เป็นเงินไทยจึงไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๓๙ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๖ และ มาตรา ๑๔๒ (๕)

         พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระ เงินจำนวน ๓๓๖,๑๙๙.๑๗ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ย
ในอัตราร้อยละ ๔.๒๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๓๐๙,๕๖๒ ดอลลาร์สหรัฐ หากธนาคารแห่งประเทศเกาหลี
ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดบวกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๓ ต่อปี
แต่ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี หากจะชำระเป็นเงินบาท ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่
และในเวลาที่ใช้เงิน แต่ต้องไม่เกินอัตรา ๓๑.๔๗๔ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ยอดหนี้ถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๑๐,๕๘๑,๕๓๒.๘๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่จำเลยทั้งสองได้รับยกเว้นให้เป็นพับ.

(สุรพล  คงลาภ – ตุล  เมฆยงค์ – ปรานี  เสฐจินตนิน)

 

สุธรรม  สุธัมนาถพงษ์ – ย่อ

พีระเดช  ไตรรัตน์ธนวงศ์ – ตรวจ

 

หมายเหตุ   คดีถึงที่สุด