คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2059/2563 นาย ท. กับพวก โจทก์
บริษัท ก. กับพวก จำเลย
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 8, 10, 19, 21, 31 (2), 70
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖
องค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๐ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๓๑ (๒) คือ การเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็น
การกระทำเพื่อการค้า และองค์ประกอบในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็น
งานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองโดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมายและต้องอยู่
ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย ดังนี้ องค์ประกอบของความผิดที่ว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่
ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นสาระสำคัญ ส่วนการที่จะรู้ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ใดยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงชื่อ ผัวไผ
ปล่อยน้ำใส่นาน้อง และนางฟ้าหรือยาพิษ ของโจทก์ที่ ๑ และเพลงชื่อ ขอตอกแหน่ ของโจทก์ที่ ๒ นั้น แม้โจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายระบุว่า โจทก์ทั้งสองได้ลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน หรือมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใดก็ตาม
แต่โจทก์ทั้งสองย่อมได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวทันทีที่งานได้สร้างสรรค์เสร็จแม้จะยังมิได้โฆษณางานนั้น ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๘ ประกอบมาตรา ๑๐ เมื่อโจทก์ทั้งสอง
ได้แนบสัญญาว่าจ้างผู้มีชื่อให้แต่งเพลงทั้งสี่มาท้ายฟ้องแล้ว โดยปรากฏว่าสัญญาว่าจ้าง
แต่งเพลง ผัวไผ ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ สัญญาว่าจ้างแต่งเพลง ปล่อยน้ำใส่นาน้อง ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ สัญญาว่าจ้างแต่งเพลง นางฟ้าหรือยาพิษ ทำขึ้นเมื่อวันที่
๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ และสัญญาว่าจ้างแต่งเพลง ขอตอกแหน่ ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ดังนี้ แม้จะฟังว่างานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงทั้งสี่ดังกล่าวได้สร้างสรรค์เสร็จตั้งแต่วันที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาว่าจ้างแต่งเพลงดังกล่าว งานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงทั้งสี่ของโจทก์ทั้งสองก็ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ จึงถือได้ว่า
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้แสดงให้เห็นแล้วว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม
สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงทั้งสี่ดังกล่าว ที่ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงทั้งสี่ดังกล่าว จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิดในส่วนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง อย่างไรก็ตาม สำหรับงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงชื่อ รักสาวนครสวรรค์ ของโจทก์ที่ ๑ นั้น โจทก์ทั้งสองเพียงแต่แนบสัญญา
ขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับผู้มีชื่อมาท้ายฟ้อง โดยไม่ปรากฏว่า งานดังกล่าว
มีการสร้างสรรค์ขึ้นเมื่อใด หรือทำการโฆษณาครั้งแรกเมื่อใด ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่า งานดังกล่าวของโจทก์ที่ ๑ อยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เป็นการไม่ชอบด้วย
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ (๕)
______________________________
โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔, ๖, ๘, ๑๕, ๒๗, ๒๘, ๒๙, ๓๑, ๖๙, ๗๐, ๗๔, ๗๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และให้จ่ายเงินค่าปรับ
ฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่โจทก์ทั้งสอง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตรวจฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมีว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบ
ของความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๐ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๓๑ (๒) หรือไม่ เห็นว่า องค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๐ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๓๑ (๒) คือ การเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า และองค์ประกอบในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็น
งานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองโดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมายและต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครอง
อยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้วงานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็น
สมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ดังนี้ องค์ประกอบของความผิดที่ว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นสาระสำคัญ
ส่วนการที่จะรู้ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ใดยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องเป็นไป
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๑ กล่าวคือ สำหรับงานดนตรีกรรม หากผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดาก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตลอดอายุผู้สร้างสรรค์และมีอยู่
ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย หากผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้ามีการโฆษณางานในระยะเวลาดังกล่าว ก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก และสำหรับงาน
สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุ ก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
แต่ถ้ามีการโฆษณางานในระยะเวลาดังกล่าว ก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ได้มี
การโฆษณาครั้งแรก และในกรณีที่เป็นการสร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างก็ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่
ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้ามีการโฆษณางานในระยะเวลาดังกล่าว ก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์
ห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรกตามฟ้องของโจทก์ทั้งสอง ในส่วนที่เกี่ยวกับงานดนตรีกรรม
สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงชื่อ ผัวไผ ปล่อยน้ำใส่นาน้อง และนางฟ้าหรือยาพิษ ของโจทก์ที่ ๑ และเพลงชื่อ ขอตอกแหน่ ของโจทก์ที่ ๒ นั้น แม้โจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายระบุว่า โจทก์ทั้งสอง
ได้ลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน
หรือมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใดก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองย่อมได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวทันที
ที่งานได้สร้างสรรค์เสร็จแม้จะยังมิได้โฆษณางานนั้น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๘ ประกอบมาตรา ๑๐ เมื่อโจทก์ทั้งสองได้แนบสัญญาว่าจ้างผู้มีชื่อให้แต่งเพลงทั้งสี่มาท้ายฟ้องแล้ว
ตามสัญญาว่าจ้างแต่งเพลงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ และ ๓ โดยปรากฏว่าสัญญาว่าจ้างแต่งเพลง
ผัวไผ ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ สัญญาว่าจ้างแต่งเพลง ปล่อยน้ำใส่นาน้อง ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ สัญญาว่าจ้างแต่งเพลง นางฟ้าหรือยาพิษ ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๖
และสัญญาว่าจ้างแต่งเพลง ขอตอกแหน่ ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ดังนี้ ต่อให้อ้างว่า
งานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงทั้งสี่ดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตั้งแต่วันที่
โจทก์ทั้งสองทำสัญญาว่าจ้างแต่งเพลงดังกล่าวก็ตาม งานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ
เพลงทั้งสี่ของโจทก์ทั้งสองก็ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ จึงถือได้ว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสอง
ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงชื่อ ผัวไผ ปล่อยน้ำใส่นาน้อง นางฟ้าหรือยาพิษ และขอตอกแหน่ ที่ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงชื่อ
ผัวไผ ปล่อยน้ำใส่นาน้อง นางฟ้าหรือยาพิษ และขอตอกแหน่ จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิด
ในส่วนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสอง
ในส่วนงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงชื่อ ผัวไผ ปล่อยน้ำใส่นาน้อง นางฟ้า
หรือยาพิษ และขอตอกแหน่ ขาดองค์ประกอบของความผิดและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ
เพลงชื่อ รักสาวนครสวรรค์ ของโจทก์ที่ ๑ นั้น โจทก์ทั้งสองเพียงแต่แนบสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับผู้มีชื่อ ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ มาท้ายฟ้อง ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ โดยไม่ปรากฏว่า งานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงชื่อ รักสาวนครสวรรค์ ดังกล่าวมีการสร้างสรรค์ขึ้นเมื่อใด หรือทำการโฆษณาครั้งแรกเมื่อใด จึงยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า งานดนตรีกรรม เพลงชื่อ รักสาวนครสวรรค์ ของโจทก์ที่ ๑ อยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ยังอยู่ในอายุ
แห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ จึงขาดองค์ประกอบของความผิดในส่วนข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า ลิขสิทธิ์
ในงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงชื่อ รักสาวนครสวรรค์ ของโจทก์ที่ ๑ อยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ที่ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองในส่วนงานดนตรีกรรม
สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงชื่อ รักสาวนครสวรรค์ ของโจทก์ที่ ๑ ขาดองค์ประกอบของความผิดและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง
ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำการ
ไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเฉพาะในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๐ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๓๑ (๒) ตามรูปคดี ในส่วนที่เกี่ยวกับงานดนตรีกรรม
สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ เพลงชื่อ ผัวไผ ปล่อยน้ำใส่นาน้อง และนางฟ้าหรือยาพิษ ของโจทก์ที่ ๑ และเพลงชื่อ ขอตอกแหน่ของโจทก์ที่ ๒ ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.
(ธารทิพย์ จงจักรพันธ์ - วราคมน์ เลี้ยงพันธุ์ - กรกันยา สุวรรณพานิช)
อมรชัย ศิริถาพร - ย่อ
กลอน รักษา - ตรวจ