คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ นาย ธ. โจทก์
ที่ วยช 13/2567 นางสาวหรือนาง ฉ. จำเลย
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเคยเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมายแต่จดทะเบียนหย่ากันแล้ว ภายหลังการหย่าโจทก์กับจำเลยยังคงอยู่กินด้วยกันและร่วมกันทำมาค้าขาย ต่อมาจึงแยกกันอยู่โดยเด็ดขาดและทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินพิพาท โดยมีข้อกำหนดให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์และบุตรทั้งสาม ซึ่งรวมทั้งทรัพย์สินที่จำเลยได้มาก่อนสมรส ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรส และทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันภายหลังหย่า ขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์สินในส่วนที่จำเลยยังไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๙ ดังนี้ สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้อง
สืบเนื่องมาจากการทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลย อันเป็นกรณีมี
ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินภายหลังการสมรสสิ้นสุดลงที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ ๕ แม้ทรัพย์สินพิพาทบางส่วน
เป็นทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจดทะเบียนหย่า แต่ทรัพย์สินพิพาทดังกล่าวรวมอยู่ในบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยในลักษณะเป็นข้อตกลงอันหนึ่งอันเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีครอบครัว
______________________________
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นาย ส. อายุ ๒๘ ปี นางสาว ช. อายุ ๒๕ ปี และนางสาว ศ. อายุ ๑๘ ปี จำเลยมีทรัพย์สินก่อนจดทะเบียนสมรส ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 76027 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างสมรสโจทก์กับจำเลย
มีที่ดินอันเป็นสินสมรส 4 แปลง โดยมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2005 และ 2๐06 ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ดินโฉนดเลขที่ 8๓726 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และที่ดินโฉนดเลขที่ 5635 ตำบลบ้านหาร อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ต่อมาวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนหย่า โดยไม่ได้แบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรส ภายหลังหย่าโจทก์ และจำเลยยังคงอยู่กินด้วยกันและร่วมกันทำมาค้าขายจนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นที่ดินและอาคารชุด รวม 36 รายการ ทรัพย์สินพิพาทที่ได้มาภายหลังการหย่าจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงและรายได้ของโจทก์ประมาณร้อยละ ๘๐ ต่อมาเมื่อวันที่
28 กันยายน 2559 โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่โดยเด็ดขาดและทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินพิพาท โดยมีข้อกำหนดให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์และบุตรทั้งสาม
ซึ่งรวมทั้งทรัพย์สินที่จำเลยได้มาก่อนสมรส ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรส และทรัพย์สินที่
ทำมาหาได้ร่วมกันภายหลังหย่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงในส่วนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลย
เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียน
ใส่ชื่อนางสาว ช. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 12782, 204902, 242108 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และที่ดินโฉนดเลขที่ 76027 และ 83726 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้จำเลยจดทะเบียนรวมโฉนดที่ดินเลขที่ 8274 และ 8275 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
เข้าด้วยกัน หลังจากรวมโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแล้วให้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน
ที่รวมกันออกเป็นสองแปลงให้มีส่วนเท่า ๆ กัน และเมื่อแบ่งแยกแล้วให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์กับนาย ส. ให้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินที่แบ่งแยกออกมาแล้ว 1 แปลง และที่ดินที่เหลืออีก
1 แปลงให้จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยกับนางสาว ช. โดยให้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าว ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5635 ตำบลบ้านหาร อำเภอบางกล่ำ
จังหวัดสงขลา ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถตกลงแบ่งกันได้หรือแบ่งกันแล้วจะทำให้เกิดความเสียหาย ขอให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายโดยประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลย
หรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์และจำเลยคนละกึ่งหนึ่ง คิดเป็นเงินส่วนของโจทก์ ๑,๖๔๗,๕๒๕ บาท และให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมที่โจทก์กับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันภายหลังหย่าตามฟ้องข้อ ๔.๕ และข้อ ๔.๗ ถึง ๔.๓๖ ให้แก่โจทก์
ร้อยละ ๘๐ ของที่ดินแต่ละแปลง หากไม่สามารถตกลงแบ่งกันได้หรือแบ่งกันแล้วจะเกิด
ความเสียหาย ขอให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายโดยประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลย
หรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์และจำเลย คิดเป็นเงินส่วนของโจทก์ ๒๑๓,๑๑๑,๗๔๘ บาท
จำเลยให้การว่า ในระหว่างสมรสตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 จำเลยใช้เงินส่วนตัวซึ่งมีมาก่อนสมรสซื้อที่ดิน 4 แปลง ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2005 และ 2006 ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ดินโฉนด
เลขที่ 83726 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และที่ดินโฉนดเลขที่ 5635 ตำบลบ้านหาร อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ภายหลังหย่าจำเลยไม่ได้อยู่ด้วยกันกับโจทก์ ทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจดทะเบียนหย่าระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2559 จำเลยเป็นผู้ซื้อมาด้วยเงินส่วนตัวของจำเลยทั้งสิ้น จำเลยไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีส่วนใด ๆ ในทรัพย์สินดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๙ โจทก์ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญจะเอาชีวิตจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยต้องทำบันทึกข้อตกลงตามฟ้องโดยไม่สมัครใจ บันทึกข้อตกลงดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เมื่อยังไม่ได้ทำเป็นหนังสือ
และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การยกให้ย่อมไม่สมบูรณ์ อีกทั้งคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ขอให้ส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์
(ที่ถูก ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ) วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดสงขลาเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติ
ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๑
วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “คดีครอบครัว” หมายความว่า คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัวซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว ดังนั้น คดีที่เกี่ยวด้วยการสมรส สิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา บิดามารดาและบุตรไม่ว่าในทางใด ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ บรรพ ๕ ทั้งหมด คดีที่เกี่ยวด้วยสถานะและความสามารถของบุคคลเกี่ยวกับครอบครัวหรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในบรรพ ๑ มาตรา ๒๑ ถึง ๒๘, ๓๒, ๔๓ และ ๔๔ และในบรรพ ๖ มาตรา ๑๖๑๐, ๑๖๑๑, ๑๖๘๗ และ ๑๖๙๒ รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัวย่อมถือเป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓)
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์สินในส่วนที่จำเลยยังไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๙ สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องสืบเนื่องมาจากการทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลย อันเป็นกรณี
มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินภายหลังการสมรสสิ้นสุดลง
ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ แม้ทรัพย์สินพิพาทบางส่วนเป็นทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจดทะเบียนหย่า แต่ทรัพย์สินพิพาทดังกล่าว
รวมอยู่ในบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยในลักษณะเป็นข้อตกลงอันหนึ่งอันเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีครอบครัว ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว
และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓)
วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ ๒๘ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
ประกอบ ลีนะเปสนันท์
(นายประกอบ ลีนะเปสนันท์)
ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
วุฒิพงศ์ เถาวัฒนะ - ย่อ
อุษา จิวะชาติ - ตรวจ